ไม่พบผลการค้นหา
ไทยติดหนึ่งในประเทศที่มีระดับสิทธิแรงงานย่ำแย่ลง เพราะไม่รับรองเสรีภาพในการสมาคมและเสรีภาพในการเจรจาต่อรองร่วมกัน ทำให้สหภาพแรงงานอ่อนแอ

สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (ITUC) ได้เปิดเผยรายงานดัชนีชี้วัดด้านสิทธิแรงงานสากล ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกปี 2019 โดยกล่าวถึงการละเมิดสิทธิแรงงานทั่วโลก ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศทั่วโลกที่สิทธิแรงงานย่ำแย่ลงจากปีที่แล้วมาอยู่ที่ระดับ 5 เช่นเดียวกับบราซิล อิรัก เซียร์ราลีโอน เวียดนาม เป็นต้น และมีการยกกรณีตัวอย่างการละเมิดสิทธิในไทย อย่างกรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัทการบินไทย (กบท.)

ดัชนีสิทธิแรงงาน ITUC ได้เก็บข้อมูลในช่วงเดือนเม.ย. - มี.ค.ของอีกปี โดยมีตัวชี้วัดในการประเมินระดับสิทธิแรงงานของแต่ละประเทศทั้งหมด 97 ข้อ ซึ่งอ้างอิงถึงอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO Conventions) กฎหมาย และข้อมูลการละเมิดสิทธิแรงงานตามกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติ แล้วจึงนำมาจัดระดับการเคารพสิทธิแรงงานเป็นระดับ 1 ถึง 5+ โดยระดับ 1 แสดงว่ามีการเคารพสิทธิแรงงานดีมาก ส่วน 5+ คือไม่เคารพสิทธิแรงงานอย่างรุนแรง

 

การละเมิดสิทธิแรงงานในไทย

ITUC ได้กล่าวถึงกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) หลังเกิดอุบัติเหตุรถไฟตกรางที่สถานีเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2552 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และบาดเจ็บ 88 คน ส่งผลให้สร.รฟท.รณรงค์ให้มีการเดินรถไฟอย่างปลอดภัย พร้อมประกาศว่าจะไม่เดินรถไฟ หากรถไฟไม่สมบูรณ์และอาจเป็นอันตรายต่อผู้โดยสาร 

การรณรงค์เรื่องการเดินรถไฟอย่างปลอดภัย กลับทำให้นายจ้างกล่าวหาสร.รฟท.ว่า การกระทำดังกล่าวทำให้รฟท.ได้รับความเสียหาย และเลิกจ้างพนักงานรวมทั้งหมด 13 คนในช่วงปี 2553-2554 แต่สร.รฟท.ได้ร้องไปยังองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อขอความช่วยเหลือจากการไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อมีการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีมติรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 13 คนกลับเข้าทำงานโดยไม่มีความผิด 

เสวนา สิทธิแรงงาน

(นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย)

อย่างไรก็ตาม คดีในชั้นศาลฎีกาออกมาว่า พนักงาน 7 คน ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้รฟท.เป็นจำนวน 15 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ซึ่งนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสร.รฟท. เปิดเผยว่า พนักงานถูกหักเงินเดือนเพื่อชดใช้ค่าเสียหายจนเหลือเพียง 3,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น

นายสาวิทย์ย้ำว่า พนักงานมีสิทธิที่จะไม่ทำงาน หากประเมินแล้วว่าสภาพการทำงานไม่ปลอดภัยพอ พร้อมย้ำว่า สหภาพแรงงานในไทยจำเป็นต้องร่วมกันต่อสู้อย่างเข้มแข็ง เพราะแม้ต่างชาติจะช่วยกดดันรัฐบาลไทยให้ปรับปรุงสิทธิแรงงานได้ แต่แรงผลักดันภายในประเทศเป็นพลังที่สำคัญกว่า

ด้านนางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัทการบินไทย (สร.กบท.) กล่าวว่า กรณีการละเมิดสิทธิแรงงานของบริษัทการบินไทยเกิดขึ้นหลังจากที่พนักงานทักท้วงแผนฟื้นฟูหนี้ที่มีมาตรการห้ามขึ้นเงินเดือนพนักงานเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งผิดระเบียบการทำงาน อีกทั้งการขาดทุนก็ไม่ได้เกิดจากพนักงาน แต่เกิดจากการคอร์รัปชันในการจัดซื้อ จึงมีการเจรจาประนีประนอมกัน เพื่อให้มีการลดโบนัส และค่าล่วงเวลาแทนการไม่ขึ้นเงินเดือน

อย่างไรก็ตาม บริษัท การบินไทยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย โดยกล่าวหาว่าสร.กบท.ทำให้บริษัทเสื่อมเสียด้านภาพลักษณ์ เนื่องจากสื่อได้ลงข่าวนี้จนโด่งดังไปทั่ว โดยคำนวณค่าเสียหายออกมาได้ 326 ล้านบาท แม้พนักงานการบินไทยไม่ได้นัดรวมตัวกันหยุดงานประท้วง ไม่มีไฟลท์ดีเลย์แต่อย่างใด แต่ศาลชั้นต้นตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายเต็มจำนวน ไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และจะต้องสู้คดีกันต่อไปอีก ซึ่งนางแจ่มศรีแสดงความเห็นว่าการฟ้องร้องครั้งนี้ไม่ได้มาสาเหตุมาจากความเสียหายด้านภาพลักษณ์ แต่ฟ้องเพื่อขัดขวางการทำงานของสหภาพ

เสวนา สิทธิแรงงาน

(นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัทการบินไทย)

 

อุปสรรค์ด้านกฎหมายแรงงานของไทย

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชียกล่าวว่า ก่อนปี 2534 สหภาพแรงงานของไทยสามารถรวมกันเป็นหนึ่งได้ แต่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.ไม่ต้องการให้แรงงานรวมกันเป็นสหภาพใหญ่ได้ และจนถึงขณะนี้ รัฐบาลไทยก็ยังไม่แก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับที่จำกัดสิทธิแรงงานอย่างเข้มงวด และไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการสมาคม และฉบับที่ 98 ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการเจรจาต่อรองร่วมกัน สะท้อนให้เห็นว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่มีเจตจำนงทางการเมืองในการปรับปรุงสิทธิแรงงานไทยเลย

โรเบิร์ตสันกล่าวว่า กฎหมายไทยก็ยังไม่ครอบคลุมการปกป้องแรงงานจากการถูกไล่ออกหลังจากรวมกลุ่มประท้วง ซึ่งบริษัทมักมีวิธีกลั่นแกล้งอื่นๆ หรือเลิกจ้างด้วยเหตุผลอื่นๆ ให้ดูเหมือนว่าการไล่ออกไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประท้วง และหากตกงานแล้วก็จะสูญเสียตำแหน่งในสหภาพแรงงานด้วย ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่แปลกมาก

กฎหมายไทยยังกำหนดไว้ว่า ข้าราชการไม่สามารถตั้งสหภาพแรงงานได้ รวมถึงครูด้วย ทั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐก็ควรมีสิทธิในการรวมกลุ่มกันต่อรองเรื่องสภาพการทำงานหรือสิทธิแรงงานอื่นๆ ของตัวเองได้ นอกจากนี้ แรงงานข้ามชาติก็ไม่สามารถตั้งสหภาพได้ และไม่สามารถเข้าร่วมสหภาพได้ด้วย เพราะกฎหมายไทยระบุว่า สมาชิกสหภาพจะต้องเป็นพลเมืองไทยเท่านั้น ทั้งที่เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก

เสวนา สิทธิแรงงาน

(ชาราน เบอร์โรว เลขาธิการสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล หรือ ITUC)


ด้านชาราน เบอร์โรว เลขาธิการ ITUC กล่าวว่า คนไทยเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเพียงร้อยละ 1.5 ของประชากร ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชาชนเข้าร่วมสหภาพแรงงานเป็นอัตราส่วนน้อยที่สุดในโลก เธอย้ำว่า รัฐบาลและนายจ้างจะต้องทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานมากกว่านี้ ไม่ใช่มองว่าสหภาพแรงงานเป็นศัตรู และควรมีการค่าเงินเยียวยาให้กับพนักงานที่ได้รับความอยุติธรรมจากนายจ้าง 

เบอร์โรวกล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยไม่พยายามแก้ไขปัญญหาแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงเลย เมื่อมีคนร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน แรงงานถูกกดขี่ แต่รัฐบาลกลับมุ่งมั่นแก้ไขปัญหานี้ เมื่อบริษัทส่งออกกดดันให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้ ไม่เช่นนั้นจะถูกกีดกันจากคู่ค้าต่างชาติ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลฟังเสียงของนายทุนมากกว่าฟังเสียงประชาชน นอกจากนี้ เบอร์โรวยังระบุว่า รัฐบาลไทยพยายามจะเข้าไปร่วมกับคณะกรรมการด้านสิทธิแรงงานของสหประชาชาติ แต่ไทยเองกลับไม่พยายามแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานก่อน

เสวนา สิทธิแรงงาน

(แกรม บัคลีย์ ผู้อำนวยการ ILO ประจำประเทศไทย กัมพูชา และลาว)


ส่วนแกรม บัคลีย์ ผู้อำนวยการ ILO ประจำประเทศไทย กัมพูชา และลาวกล่าวว่า แม้การเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานจะมีมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ค่าแรงก็ยังไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร และปีนี้ครบรอบ 100 ปี ILO ซึ่งไทยเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง ILO หลังการปฏิวัติรัสเซีย แต่ไทยกลับไม่รับสิทธิแรงงานพื้นฐานในอนุสัญญา ILO เรื่องเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วมกัน โดยอ้างว่าเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ

นายสาวิทย์เสริมว่า อุปสรรคในการแก้ไขกฎหมายแรงงานที่รัฐบาลมักอ้างก็คือเรื่องความมั่นคงของชาติ โดยกลัวว่าแรงงานข้ามชาติจะสามารถตั้งสหภาพแรงงานได้ อีกทั้งยังกลัวแรงงานข้ามชาติแย่งงานคนไทย และอุปสรรคอีกข้อก็คือ ความเกรงใจที่รัฐบาลมีต่อนายทุน นอกเสียจากว่าจะถูกกดดันจากองค์กรต่างประเทศ หรือการตั้งเงื่อนไขให้ปรับปรุงสิทธิแรงงาน เพื่อทำการค้ากับต่างชาติได้

 

การละเมิดสิทธิแรงงานทั่วโลก

รายงานฉบับนี้ระบุว่า ประเทศกว่าร้อยละ 85 ของ 145 ประเทศทั่วโลกที่มีการเก็บข้อมูลมีการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยจำนวนประเทศที่ไม่ยอมให้พนักงานเข้าถึงสิทธิในการจัดตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพก็เพิ่มจาก 92 ประเทศในปี 2018 มาเป็น 107 ประเทศ ในปี 2019 และประเทศที่แรงงานถูกจับกุมหรือควบคุมตัวก็เพิ่มขึ้นจาก 59 ประเทศในปี 2018 มาเป็น 64 ประเทศในปี 2019

ขณะเดียวกัน ร้อยละ 80 ของประเทศทั้งหมดละเมิดสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมกัน ส่วนประเทศที่มีแรงงานที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือถูกห้ามเข้าถึงความยุติธรรมมีถึงร้อยละ 72 ของทั้งหมด และมีร้อยละ 59 ของทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่ขัดขวางการการขึ้นทะเบียนสหภาพ

AFP-แรงงานต่างชาติชาวอินโดนีเซียในโรงงานเหล็กของญี่ปุ่น.jpg

ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีสิทธิแรงงานย่ำแย่ที่สุดอันดับที่ 2 ในโลก โดยระดับสิทธิแรงงานเฉลี่ยสูงถึง 4.05 เพิ่มจากปีที่แล้วที่เฉลี่ย 3.95 ถือเป็นภูมิภาคที่ระดับสิทธิแรงงานย่ำแย่ลงมากที่สุดในโลกในปีนี้ โดยประเทศในเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด 22 ประเทศล้วนละเมิดสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมกันของแรงงาน ขณะที่ 21 ประเทศจากทั้งหมด 22 ประเทศละเมิดสิทธิในการนัดหยุดงานประท้วง และร้อยละ 91 ของประเทศในเอเชียแปซิฟิกไม่ยอมให้พนักงานเข้าถึงสิทธิในการจัดตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพ นอกจากนี้ ในปี 2018 มีสมาชิกสหภาพแรงงานถูกฆาตกรรมถึง 10 ราย 

รายงานฉบับนี้ระบุว่า การนัดหยุดงานประท้วงมักถูกกดขี่อย่างหนักมาก และมีการลงโทษอย่างรุนแรงจากรัฐบาลบังกลาเทศ กัมพูชา อินเดีย เมียนมา และไทย และในหลายประเทศก็มีมาตรการในการทลายสหภาพแรงงาน แม้แรงงานจะพยายามตั้งสหภาพ แต่ก็มีกระบวนการขัดขวางการรวมกลุ่มตั้งสหภาพอย่างเป็นระบบ

ในเวียดนาม คนงาน 50,000 คนจากโรงงานผลิตรองเท้า Pou Chen ในเขตอุตสาหกรรมของนครโฮจิมินห์ ศูนย์กลางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ได้ร่วมกันเดินขบวนเมื่อวันที่ 9 - 10 มิ.ย. 2018 เพื่อประท้วงกฎหมายที่จะสร้างเขตเศรษฐกิจใหม่ๆ แต่ถูกสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำ

บริษัท Jasic Technology ในจีนปลดพนักงานในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากพวกเขาพยายามจัดตั้งสหภาพแรงงาน และพนักงานมากกว่า 40 คนยังถูกจับกุมและกล่าวหาว่ารวมกลุ่มกันก่อกวนความสงบเรียบร้อยของสังคม

ชาราน เบอร์โรว เลขาธิการ ITUC กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญของโลก แต่ระดับสิทธิแรงงานกลับย่ำแย่มาก เธอกล่าวว่า “ฉันรู้สึกขยะแขยงที่จีดีพีของภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ค่าแรงของแรงงานยังถูกกดขี่” รัฐบาลและนายทุนหลายประเทศในภูมิภาคนี้ต่อต้านการก่อตั้งสหภาพ กดขี่สิทธิในการนัดกันหยุดงานประท้วงสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยหรือความไม่ยุติธรรมอื่นๆ รวมถึงยังมีการจ้องเล่นงานแรงงานที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง