ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่มีอัตราการขยายตัว (จีดีพี) ร้อยละ 6.2 เมื่อปีที่ผ่านมา มีจำนวนประชากร 238 ล้านคน มีรายได้รวมกว่า 7.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 23.6 ล้านล้านบาท ทำให้กลุ่มประเทศใน CLMVT หรือ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย เป็นพื้นที่เกิดใหม่ทางเศรษฐกิจ และเนื้อหอมสำหรับนักลงทุนที่แสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในภูมิภาคที่เฉิดฉายด้านทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ และแหล่งวัตถุดิบ
กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานพันธมิตร จึงจัดวงสัมมนา 'CLMVT FORUM 2019' โดยในปีนี้ใช้ธีมการสัมมนา คือ CLMVT ศูนย์กลางห่วงโซ่คุณค่ายุคใหม่แห่งเอเชีย
เริ่มจากการพูดถถึงการกำหนดกลยุทธ์สำหรับการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศเหล่านี้
'อาติยา ศรีนาถ' รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์แห่งเอเชีย (ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น) บริษัทหลักทรัพย์ เจ.พี.มอร์แกน สิงคโปร์ เปิดประเด็นถึงโอกาสและความน่าสนใจของ CLMVT โดยครอบคลุมไปถึงประเทศอื่นๆ ในอาเซียนว่า เป็นภูมิภาคที่อยู่บนความสนใจในแผนที่การลงทุนของธุรกิจนานาชาติ
"ท่ามกลางสถานการณ์การค้าที่ไม่แน่นอน และสงครามการค้าโลกกระทบการการตัดสินใจเรื่องแหล่งและฐานการผลิตของสินค้าเทคโนโลยีแบรนด์สหรัฐฯ จำนวนมาก และทำให้หลายบริษัทคิดถึงการหาแหล่งผลิตใหม่ ซึ่งกลุ่มประเทศเป้าหมายเหล่านั้นคือ CLMVT"
เนื่องจากผู้ผลิตจำนวนมากต้องการหาตลาดอื่นทดแทน พร้อมกับต้องการหาแหล่งผลิตใหม่เพื่อชดเชยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในจีน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ที่จะเข้าไปเป็นห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของการผลิต โดยเฉพาะสินค้าอย่างสมาร์ตโฟน
"ตอนนี้หลายบริษัทต้องการหาแหล่งผลิตสมาร์ตโฟน นอกประเทศจีน และหันหน้ามาที่อาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งเป็นที่จับตามองของภาคธุรกิจ"
ด้วยปัจจัยของเวียดนามคือ มีประชากรวัยทำงานจำนวนมาก และได้รับการยอมรับว่า มีระดับการศึกษาที่ดีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งเวียดนามยังสามารถดูแลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างดีตลอดมา
ขณะที่ ผลสำรวจความเห็นนักธุรกิจ 580 บริษัท ที่เจ.พี.มอร์แกนสำรวจ พบว่า ร้อยละ62 ต้องการลงทุนในประเทศที่มีการจัดการเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 57 ต้องการความโปร่งใส ร้อยละ 54 ธรรมาภิบาล ร้อยละ 51 มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ร้อยละ 50 กำลังแรงงาน เป็นต้น
"ส่วนประเทศไทยนับว่ามีสภาพแวดล้อมที่น่าสนใจ ทั้งจากการเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน พร้อมกับมาตรการด้านการส่งเสริมการลงทุนผ่าน บีโอไอก็สนับสนุนจูงใจนักลงทุน"
อย่างไรก็ตาม รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ฯ รายนี้ย้ำว่า มีสิ่งที่ประเทศไทยและหลายประเทศในภูมิภาคนี้ต้องระวังในเวลานี้ คือการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนเพื่อสร้างธุรกิจ หรือ FDI ซึ่งต้องรักษาสมดุลของเงินลงทุน เพราะในประเทศที่เศรษฐกิจขนาดเล็ก เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา หากมีเงินทุนไหลเข้าวันละ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 31,000 ล้านบาท ก็จะมีผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ แม้ในจำนวนเงินเดียวกันอาจไม่มีผลกับเศรษฐกิจอย่างประเทศไทย แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะเมื่อเงินไหลเข้ามา ยอมตามมาด้วยการเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ เงินเฟ้อ การเก็งกำไรในบางธุรกิจ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์
ด้าน 'ปาน สรศักดิ์' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กัมพูชา กล่าวว่า ในฐานะประเทศด้อยพัฒนาสิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตได้คือการเป็นห่วงโซ่อุปทานของโลก ผ่านสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และเสื้อผ้า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกัมพูชาได้พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับการลงทุน และใช้ประโยชน์จากกำแพงภาษีที่ต่ำในฐานะประเทศด้อยพัฒนาที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการส่งออก เป็นข้อต่อที่ทำให้กัมพูชามีแรงดึงดูดการลงทุน
อีกด้านหนึ่ง กัมพูชายังต้องการพัฒนาทางเศรษฐกิจและเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ด้วยแต้มต่อด้านกำลังแรงงานและราคาค่าแรงที่ยังไม่สูงนัก ดังนั้นในเวลานี้ กัมพูชาอยู่ระหว่างกระบวนการสร้างมาตรฐานระบบการศึกษา พัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้รองรับการซัพพลายเชนที่กำลังจะเข้ามา
ขณะที่ 'เข็มมะนี พนเสนา' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ สปป.ลาว กล่าวว่า แม้โลกในตอนนี้ต้องเผชิญกับสงครามการค้าของประเทศมหาอำนาจ 2 แห่ง คือจีน และสหรัฐอเมริกา แต่ CLMVT และอาเซียน ยังจะเติบโตต่อไป และพวกเราต้องช่วยกันผลักดันให้ประเทศต่างๆ บูรณาการการทำงานร่วมกัน
โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูโภค คมนาคม รวมถึงการส่งเสริมการค้าขายภายในภูมิภาค ซึ่งน่าจะทำให้ CLMVT สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการค้าหลังจากนี้ได้
"การเข้าถึงตลาดอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการค้าในปัจจุบัน แต่เราต้องทำให้ได้ตามข้อสัญญาที่ให้ไว้กับคู่ค้าด้วย ดังนั้นสิ่งที่ต้องการสื่อคือการสร้างความร่วมมือทางการค้าและร่วมเป็นซัพพลายเชนในภูมิภาค" รมว.อุตสาหกรรมและพาณิชย์ สปป.ลาว กล่าว
ส่วน 'ตาน มิ้นต์' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมียนมา กล่าวว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ CLMVT จะนำมาสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตนด้วย ดังนั้นในเวลาที่ทุกคนเห็นอยู่ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกกำลังลดลง และเกิดความไม่แน่นอนหลายด้าน การร่วมมือกันภายในภูมิภาค การส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันในภูมิภาค จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ปัจจุบัน เมียนมาได้แก้กฎหมายการลงุทน กฎหมายการจดทะเบียนบริษัท เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ และสร้างระบบการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันกับเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงปรับปรุงระบบการเงินการธนาคาร ให้สามารถปล่อยสินเชื่อแก่บริษัทต่างๆ ที่เข้ามาดำเนินกิจการในเมียนมา
"เหล่านี้คือการปรับปรุงพัฒนาเพื่อเปิดประเทศรับการลงทุน และอำนวยความสะดวกแก่การดำเนินธุรกิจ แต่ก็ยอมรับว่า โครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างในประเทศ เช่น ถนน ไฟฟ้า ท่าเรือ ยังไม่ดี และอาจยังไม่เพียงพอต่อการดึงดูดการลงทุน แต่นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา" ตาน กล่าว
กลับที่เจ้าบ้าน 'ชุติมา บุณยประภัศร' รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ไทยพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับเพื่อนบ้านและอยู่ในห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ร่วมกัน เพราะเมื่อปี 2560 พบว่า การค้าระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศ CLMVT มีมูลค่ามากถึง 9.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 29.4 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 16 ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างกันภายในกลุ่มประเทศ CLMVT มีมูลค่าอยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 23.25 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 16 ต่อปีเช่นกัน
"ในฐานประเทศที่มีที่ตั้งอยู่ตรงกลางภูมิภาค ประเทศไทยจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ส่งสาสน์ส่งนานาชาติถึงความร่วมทางการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค และผลักดันเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างกัน"
หลังจากเรามีพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เราได้พยายามเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างอาเซียนกับจีน อาเซียนกับประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เราสร้างความเชื่อมโยงผ่านระเบียงเศรษฐกิจจากเหนือสู่ใต้ จากตะวันออกสู่ตะวันตก โดยชวนประเทศต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อมโยงเหล่านี้ เพราะเราเชื่อว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมใหม่ๆ จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือ
นั้นเป็นความมุ่งมั่นของประเทศไทย และกลุ่มประเทศ CLMVT แม้ว่าในงานสัมมนาครั้งนี้ จะไม่มีตัวแทนจาก V หรือ เวียดนามร่วมพูดคุยบนเวที่สัมมนาแม้แต่วงเดียวก็ตาม