เวทีสัมมนา "พัฒนาพื้นที่ไทย : เชื่อมไทย ก้าวไกล เชื่อมโลก" ในงานประชุมประจำปี 2562 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ ซึ่งหากจะเชื่อมโลก และเชื่อมไทย จำเป็นต้องอยู่บน 2 บริบท คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงเทคโนโลยี และความโดดเด่นของเอเชีย เพราะการฉายแสงของเอเชียมีไทยเป็นศูนย์กลาง
การเชื่อมโยงจะเกิดประโยชน์จะอาศัย 4 ด้าน ได้แก่ เชื่อมเทคโนโลยี ต้องเข้าใจความเป็นจริงว่าไม่มีใครสามารถทำทุกอย่างเองได้ทั้งหมด ต้องเร่งเรียนรู้และพัฒนาให้เกิดความรู้ใหม่ๆ ยกตัวอย่าง บริษัท หัวเหว่ย เพียงบริษัทเดียวมีฝ่ายวิจัยถึง 8 หมื่นคน ทั้งนี้จะต้องผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มโดยอาศัยเทคโนโลยี ดังนั้นต้องถีบตัวให้ทันแนวหน้า โดยรัฐบาลมีแผนดำเนินการ เช่น การดึงลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ได้ออกมาตรการ Thailand Plus
นอกจากนี้ จะต้องมีการเชื่อมตลาด ความเป็นจริง คือปัจจุบันตลาดไทยเล็กเกินไป สมัยก่อนตลาดไทยคือ G3 อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ต่อไปนี้จะต้องเชื่อมตลาดโลก ซึ่งรัฐมีแผนรวมกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านสร้างอำนาจในการต่อรองคู่ค้าสำคัญ ทั้งนี้จะเชื่อมโอกาส จะต้องเร่งพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน ทั้งแม่สอด รวมถึงระนองต้องทำให้ได้ และเชื่อมใจ ต้องเชื่อมพี่น้องที่อยู่ข้างล่างให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง
คนนาคม ยันพร้อมเชื่อมโยงพื้นที่ด้วยยุทธศาสตร์คมนาคม 20 ปี
นายชัยวัฒน์ คำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คีย์เวิร์ดสำคัญของโครงข่ายคมนาคม คือ การเชื่อมโยงพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันระบบคมนาคมของไทยยังมีปัญหา ทั้งการไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เพียงพอ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อุบัติเหตุ และปัญหาการใช้พลังงานที่ไม่เกิดประโยชน์
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมียุทธศาสตร์คมนาคม 20 ปี เพื่อทำให้ระบบคมนาคมมีประสิทธิภาพการขนส่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัย การเข้าถึงระบบขนส่งอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม โดยเป้าหมายสำคัญเพื่อภาคสังคม และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
ขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ทั้งทางถนน คือ มอเตอร์เวย์ 2 สาย ทางด่วน 6 สาย ทางรางอยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา
ขณะที่การขนส่งทางน้ำ มีโครงการที่จะพัฒนาเชื่อมต่อทางราง และการขนส่งขนาดใหญ่ แต่เบื้องต้นในส่วนการพัฒนาท่าเรือยังมีอุปสรรคค่อนข้างมาก ส่วนโครงการพัฒนาทางอากาศ จะมีการพัฒนาสนามบินในภูมิภาค เพื่อลดความแออัดของสนามบินหลัก โดยขณะนี้ในส่วนของสนามบินเบตงใกล้จะเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการแล้ว ซึ่งจะทำให้ไทยมีสนามบินรวมทั้งสิ้น 39 แห่ง ในอนาคตจะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาค
“การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นที่จะต้องอาศัยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เนื่องจากภาครัฐมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาในอนาคต” นายชัยวัฒน์ กล่าว
สศช. ย้ำไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่
นายทศพร สิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า โอกาสที่ไทยได้เปรียบในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ จำเป็นที่จะต้องพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีการกำหนดแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งในเชิงนโยบายทุกอย่างถูกวางไว้หมดแล้ว แต่ขณะนี้กำลังทำแผนระดับภาคเพื่อให้เท่าเทียมกัน เช่น การพัฒนาภาคใต้ตอนบน จะต้องแตกต่างจากเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เน้นอุตสาหกรรมในอนาคต ภาคใต้จะต้องเน้นเปิดประตูเชื่อมตะวันตก และเชื่อมโยงกลุ่มประเทศอินเดีย ปากีสถาน โดยใช้จังหวัดระนองเป็นประตูเชื่อมเนื่องจากมีท่าเรือ
ส่วนเรื่องท่องเที่ยวรถไฟทางคู่จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมส์ครั้งใหญ่ ซึ่งในจุดที่สำคัญจะเปลี่ยนรถไฟทางคู่ออกมาที่จังหวัดระนอง จากจังหวัดชุมพร เชื่อมต่อไปยังอิสเทิร์นซีบอร์ด ขนถ่ายน้ำมันปาล์มได้ด้วย
นอกจากนี้ จะต้องสร้างเส้นทางโรแมนติกรูท ถนนเลียบฝั่งชายทะเลตะวันตก เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เชื่อมโยงจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดชุมพร และเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC)
“การจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว ต้องเน้นพัฒนาเชิงพื้นที่ เรามีจุดได้เปรียบเชิงการแข่งขัน ฮวงจุ้ยเราดีมาก แต่สิ่งที่จะทำเสริมรองรับศักยภาพ คือ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ถนน รถไฟ โครงข่ายอินเทอร์เน็ต เราจะโตที่กรุงเทพอย่างเดียวไม่ได้แล้ว” นายทศพร กล่าว
ภาคเอกชน แนะรัฐเร่งพัฒนาทักษะผู้มีรายได้น้อย หาแนวทางเพิ่มการจัดเก็บภาษี
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากถือว่ามีความจำเป็น เพราะขณะนี้มีผู้มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี มีถึง 14.5 ล้านคน ขณะที่ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 38,000 บาทต่อคนต่อปี มีจำนวน 8.56 ล้านคน ซึ่งในกลุ่มนี้จำเป็นที่จะต้องช่วยฝึกทักษะทีละเล็กละน้อย เพราะหากช้าจะเสียเปรียบเทคโนโลยี คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
นอกจากนี้ ในส่วนของประเด็นภาษี ในแต่ละปีประเทศไทยสามารถจัดเก็บภาษีได้ประมาณปีละ 2.2 ล้านล้านบาท แม้จะเป็นเม็ดเงินมหาศาล แต่ปัจจุบันด้วยโครงการระบบข้าราชการที่ใหญ่ เงินจำนวนนี้จะต้องถูกกระจายไปเป็นรายได้ของบุคลากรภาครัฐถึงร้อยละ 40 ซึ่งยังไม่รวมเงินที่จะต้องนำไปใช้ในระบบรัฐสวัสดิการต่างๆ แต่เบื้องต้นไม่ได้หมายความว่าต้องการให้ลดจำนวนบุคลากรลง แต่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มทักษะของบุคลากรกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันจะต้องมองหาแนวทางในการจัดการรายได้เพิ่ม
“คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายหากคนเป็นผู้คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี แต่ไม่สามารถที่จะตามทันเทคโนโลยีได้ ส่วนแนวทางที่จะจัดเก็บภาษีเพิ่มอย่างไรนั้นต้องมองโอกาสที่จะสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับประชาชน” นายฐาปน กล่าว
UddC แนะสร้างเมืองเดินได้ เพิ่มการกระจายรายได้ ต่อยอดนโยบายพัฒนาเชิงพื้นที่
นางสาวนิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาผังเมือง (UddC) กล่าวว่า การพัฒนาเมืองที่สำคัญจะต้องมีการเชื่อมโยงบางอย่าง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงภายในพื้นที่ เพราะที่ผ่านมาไทยยังคงขาดการเชื่อมโยง โดยมองว่าการพัฒนาเมืองทำได้โดยการเดินเท้า ซึ่งเหตุผลที่สนับสนุนว่าทำไมต้องเดินได้ มีข้อโต้แย้งในของเรื่องสุขภาวะ เพราะสามารถลดความเสี่ยงโรคอ้วนถึงร้อยละ 10 รวมถึงลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเมือง เพราะการเดินคือการเคลื่อนที่พื้นฐานของมนุษย์ใช้พลังงานตนเอง ไม่ใช้ฟอสซิล ดังนั้นการปล่อยมลภาวะจึงเท่ากับศูนย์
อย่างไรก็ตาม การที่จะให้คนเดินมากขึ้น และให้รถออกมาจากระบบน้อยลงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะจะต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเมือง เพื่อกระจายความมั่งคั่งให้เศรษฐกิจฐานราก จะสังเกตเมืองที่ใช้เท้าเดินจะมีความถี่ในการจับจ่ายใช้สอยจำนวนมาก ขณะที่เมืองที่ไม่ได้พัฒนาเรื่องการเดินเท้าความถี่ของการกระจายความมั่งคั่งมักจะน้อยกว่า เมื่อเกิดเมืองเดินเท้าธุรกิจก็จะเกิดในตรอกซอกซอย ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจกระแสนิยม การสร้างเมืองสุขภาวะจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เพราะไทยยังติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) เมื่อระบบราง ระบบท่าเรือมาแล้ว ควรเชื่อมโยงเพิ่มอีกเล็กน้อยเพื่อสร้างระบบสังคม ขณะนี้มีหลายพื้นที่พร้อมพัฒนาเเมืองเดินได้
“การเดินถึงเป็นคนละเรื่องกับการเดินดี เพราะการเดินดี คือ การเดินสะดวก ปลอดภัย และสะอาด เมืองเดินไม่ดีการกระจายรายได้เกิดยาก” นางสาวนิรมล กล่าว