มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ธ.ค. 2561 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากระดับ 80.5 มาอยู่ที่ระดับ 79.4 ซึ่งปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้อำนาจซื้อลดน้อยลง ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังมีราคาต่ำ นักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยลดน้อยลง และสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังมีปัญหาอยู่จนส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ส่งผลให้กำลังซื้อในปัจจุบันชะลอตัวลง และความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคคือ ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้นและราคาน้ำมันขายปลีกทั้งราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลปรับตัวลดลงต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เริ่มมีการเจรจากัน ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านการยกเว้นค่าธรรมเนียม VISA on Arrival และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ น่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอาจปรับตัวดีขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ หากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ คลี่คลายลงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 66.3 74.6 และ 97.3 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 67.5 75.6 และ 98.4 ตามลำดับ
ส่วนดัชนีที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก
สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 54.3 มาอยู่ที่ระดับ 53.4 แสดงว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่ดีเท่าที่ควร ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต (ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 92.0 มาอยู่ที่ระดับ 90.8 ซึ่งยังปรับตัวอยู่ใกล้เคียงระดับ 100 (ซึ่งเป็นระดับปกติ) มากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในอนาคต
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2561 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ระดับ 79.4 เป็นผลมาจากผู้บริโภคยังคงมีความไม่มั่นใจถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 66.3 โอกาสในการหางานทำลดลงอยู่ที่ระดับ 74.6 และรายได้ในอนาคตลดลงมาอยู่ที่ระดับ 97.3
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาจากความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูงจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ รวมทั้งกรณีการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
อย่างไรก็ดี จากปัจจัยบวกที่เริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตรบางรายการที่ปรับตัวดีขึ้น เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, สงครามการค้าที่มีแนวโน้มคลี่คลายจากที่จะเริ่มมีการเจรจากันระหว่างสหรัฐฯ และจีน, รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านการยกเว้นค่าธรรมเนียม VISA on Arrival และการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น น่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ หากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ สามารถคลี่คลายลงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
'ธนวรรธน์' ชี้หากเลื่อนเลือกตั้งอยู่ในกรอบ รธน. ไม่กระทบภาพลักษณ์ประเทศ
ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปที่อาจจะไม่เป็นไปตามกำหนดเดิมในวันที่ 24 ก.พ. 2562 นั้น นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หากการเลือกตั้งที่จะเลื่อนออกไปยังอยู่ภายในกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ว่าจะเลื่อนไปเป็น ม.ค. หรือ เม.ย. มองว่าจะไม่มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย เพราะถ้าตราบใดที่การเลื่อนเลือกตั้งสามารถชี้แจงเหตุผลได้อย่างชัดเจน ก็เชื่อว่านานาชาติและนักลงทุนทั่วไปจะรับฟัง และเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากกำหนดเดิม
"การเลื่อนเลือกตั้งที่ยังอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ในเชิงของภาพลักษณ์ หรือความมั่นใจจากนานาชาติ และนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ก็ยังเชื่อว่าปีนี้เป็นปีแห่งการเลือกตั้งของไทย ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบในเชิงภาพลักษณ์ หรือไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะปานกลาง ถึงระยะยาว" นายธนวรรธน์ระบุ
อย่างไรก็ดี การเลื่อนเลือกตั้งอาจมีผลต่อช่วงเวลาในการรณรงค์หาเสียง รวมทั้งการใช้จ่ายเม็ดเงินลงไปในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เช่น การทำป้ายหาเสียง ป้ายโฆษณา แผ่นพับ ใบปลิวต่างๆ ที่อาจจะต้องเลื่อนออกไปจากเดิมที่คาดว่าจะมีการใช้จ่ายเม็ดเงินในส่วนนี้และมีเม็ดเงินสะพัดในช่วงเดือนม.ค. และ ก.พ. ซึ่งจะมาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้ในไตรมาสแรก จากที่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังรอจังหวะคลายตัวจากปัญหาสงครามการค้า และ Brexit
"ถ้าการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งต้องช้าออกไป เม็ดเงินจากการใช้จ่ายในช่วงหาเสียงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาสแรก ก็อาจจะเป็นช่วงสุญญากาศ ตรงนี้ต้องรอดูว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเมื่อใด แต่เชื่อว่าคงเลื่อนไปไม่นาน อยู่ภายในปลายไตรมาส 1 ถึงต้นไตรมาส 2 ซึ่งก็ยังสามารถพยุงเศรษฐกิจได้ และไม่น่าจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย คิดว่าการเลื่อนเลือกตั้งไม่น่าจะมีผลกระทบในเชิงบวก และลบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก" นายธนวรรธน์ระบุ
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังคาดการณ์ว่าในปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับร้อยละ 4.0-4.2 ส่วนการส่งออก เติบโตได้ร้อยละ 4-5 โดยอัตราแลกเปลี่ยน อยู่ที่ระดับ 32.00 - 32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :