โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’อดีตหัวหน้าพรรค ที่เคยออกมาระบุว่าไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น นายกฯ ต่อ โดยชี้ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ จะหาทางออกจากเรื่องนี้อย่างไร
ส่วน ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เชื่อกันว่ารู้อยู่แล้วตั้งแต่ต้นควรตัดสินใจอย่างไร ตั้งแต่ผลการเลือกตั้งออกมา 2-3 วัน จึงมีกระแสข่าวการต่อรองเก้าอี้ ‘กระทรวงเกรดเอ’ ถึง 2 เก้าอี้ แม้ ‘เสี่ยหนู’ จะออกมาปฏิเสธข่าว และย้ำว่ารอ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการออกมาก่อน 9พ.ค.นี้ เพราะจะทราบจำนวนเก้าอี้ที่แต่ละพรรคจะได้อย่างชัดเจน
ช่วง 2 วันที่ผ่านมา ก็มีเหตุการณ์สำคัญเข้ามา ถือเป็นปัจจัยสำคัญของ ‘พรรคตัวแปร’ ในการตัดสินใจไม่น้อย โดยที่ผ่านมาพรรคภูมิใจไทยเคยระบุถึงเงื่อนไข 4 ข้อในการร่วมรัฐบาลแล้ว 1.พรรคที่ไม่มีความขัดแย้ง 2.รักประชาชน 3.เทิดทูนสถาบัน 4.ทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง ซึ่งก็ไม่ยากที่จะให้คำตอบกับสังคมในเวลานี้
แต่พรรคประชาธิปัตย์ กำลังเผชิญสภาวะ ‘เสียงแตก’ เพราะภายในพรรคแบ่งเป็น 2 สาย ได้แก่ ฝั่งที่ให้เป็น ‘ฝ่ายค้านอิสระ’ ที่ไม่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทย เพื่อไม่ให้คำพูดของ ‘อภิสิทธิ์’ ต้องไร้ความหมาย อีกสายคือ อดีตแนวร่วม กปปส.เดิม ที่พร้อมหนุน พล.อ.ประยุทธ์และไปร่วมรัฐบาล จึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในสภาวะ ‘กลืนไม่เข้า คายไม่ออก’ เพราะออกตัวแรงในเรื่องเหล่านี้ไปมาก
แต่สุดท้ายแล้วแต่ละพรรคที่จะไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐและหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกฯ อีกครั้ง ก็ต้องเตรียมคำตอบไม่ให้เกิดกระแสตีกลับมา เพราะสุดท้ายแล้วพรรคเพื่อไทยยังคงความได้เปรียบที่ได้จำนวนเก้าอี้ ส.ส. มากที่สุด แม้จะได้เพียง ส.ส.เขตเท่านั้น ตามกลไกของระบบการเลือกตั้งครั้งนี้ อีกทั้งไม่ได้ส่งครบทั้ง 350 เขตด้วย
ในส่วนของพรรคที่จุดยืนชัดอย่างพรรคอนาคตใหม่ แม้จะไม่ได้เป็นพรรคอันดับที่1 แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จที่ติดหัวตารางได้อันดับที่ 3 เอาชนะพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยไปได้ แต่อย่าลืมว่าพรรคอนาคตใหม่คะแนนที่ได้มานั้นก็เป็น ‘แรงสวิง’ มาจากคะแนนที่พรรคไทยรักษาชาติควรจะได้ ภายหลังพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบและมีนับร้อยเขตที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่ง ก็ทำให้ ‘คะแนนสวิง’ ไปหาพรรคอนาคตใหม่แทน ในฐานะพรรคแนวร่วมอุดมการณ์และย้ำชัดไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกฯ ต่อ
ดังนั้นคะแนนที่พรรคอนาคตใหม่ได้มาจึงไม่ใช่ ‘สูตรสำเร็จ’ ของพรรค แต่ก็ต้อง ‘ยกเครดิต’ ให้พรรคอนาคตใหม่ด้วยเพราะสามารถเอาชนะในพื้นที่กรุงเทพฯและได้คะแนนเสียงในภูมิภาคต่างๆมา จนได้จำนวนปาร์ตี้ลิสต์ที่ 1 ที่งัดข้อกับพรรคพลังประชารัฐได้ ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯตำนานแห่ง ‘ความแปรผัน’ ในสนามเลือกตั้งถูกตอกย้ำอีกครั้ง กลายเป็น ‘ยุคผลัดใบ’ ของพื้นที่กรุงเทพฯ ที่พรรคประชาธิปัตย์โดนล้างบางไป ถึงขั้นระบุว่า ‘สูญพันธุ์’ กันเลยทีเดียวในภาพรวมทั้งประเทศ
ทำให้ ‘แฟนคลับประชาธิปัตย์’ มีอาการงอนพรรคพลังประชารัฐไม่น้อย อีกทั้งยังคงช็อกกับพลการเลือกตั้งที่ออกมาที่พรรคตกลำดับไปอยู่ที่ 4 และทิ้งห่างจากพรรคอนาคตใหม่น้องใหม่ไปด้วย ทำให้มีการออกมาให้กำลังใจผ่านดวเชียลฯผ่านแฮชแท๊กที่หลากหลาย รวมทั้งการประกาศลาออกของ ‘อภิสิทธิ์’ ตามที่เคยประกาศไว้ว่าหากพรรคได้เก้าอี้ต่ำร้อยจะลาออกจากเก้าอี้หัวหน้าพรรค พร้อมย้ำถึงสัจจะที่นักการเมืองควรมี
แต่ก็มีการมองว่าหรือว่างานนี้ ‘อภิสิทธิ์’ ทราบถึงทางปลายทางเช่นนี้ หลังจากลงพื้นที่หาเสียงต่างจังหวัดก็จะทราบถึงกระแสที่มีต่อพรรค จึงทำให้ ‘อภิสิทธิ์’ ต้องประกาศ 2 ครั้งที่เป็นการ ‘ผูกมัดตัวเอง’ ทั้งการประกาศลาออกถ้าพรรคได้ต่ำร้อยกับการแสดงจุดยืนไม่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกฯ ต่อ แต่กลับไม่ประกาศชัดจะไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ก็ทำให้เกิดเป็น ‘ข้อพิรุธ’ ขึ้น
ซึ่งการประกาศเรื่องจุดยืนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นถือว่ามีผลต่อพรรคเป็นอย่างมาก ไม่นับรวมปรากฏการณ์ต่างๆช่วง 2 วันก่อนเลือกตั้งอีก
สถานการณ์เหล่านี้ ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องกลับมาชั่งน้ำหนักให้ดีถึงการต่อสู้ทางการเมืองที่ต้องมองยาวไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าและการทำงานในสภาด้วย อีกสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องทำหน้าที่ต่อคือการทำหน้าที่ของ กกต. ที่สร้างความสงสัยและทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นที่ผ่านมาด้วย ถือเป็น ‘แรงบีบ’ ที่ถูกส่งไปยัง กกต. ที่ต้องระวังจะเป็น ‘แรงสวิงตีกลับ’ ไปถึง คสช.-รัฐบาล ด้วย
เพราะนิสิตนักศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัยก็เริ่มขยับในเรื่องนี้ รวมทั้งมีการนัดชุมนุมเพื่อรวบรวมรายชื่อปลด กกต. และสนับสนุนพรรคที่ชนะการเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาลด้วย
จึงทำให้การเมืองไทยหลังเลือกตั้งร้อนแรงกว่าก่อนการเลือกตั้ง เพราะเป็นช่วงการ ‘ต่อรอง-สร้างเงื่อนไข’ ทางการเมืองของแต่ละพรรคการเมือง รวมทั้ง ‘ปรากฏการณ์งูเห่า’ ที่จะเกิดขึ้นด้วย อีกทั้ง ‘พลังความคาดหวัง’ ที่สังคมมีกับแต่ละพรรค สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเป็น ‘บทเรียน’ ของสังคมที่จะใช้ในการตัดสินใจผ่านการเลือกครั้งหน้า
รวมทั้งมีผลต่อ ‘ความไว้วางใจ’ ในการใช้อำนาจต่างๆของแต่ละพรรคเมื่อเข้าไปทำงานในสภา การเมืองไทยหลังจากนี้จึงต้องมองช็อตต่อช็อต พร้อมกับมองข้ามช็อตไปพร้อมๆกัน อย่าประเมินคู่แข่งทางการเมืองต่ำเกินไปและอย่าประเมินตัวเองสูงเกินไปด้วย
รวมทั้งปฏิกิริยากองทัพที่ผ่านมา โดยเฉพาะการออกมาแถลงข่าวของ ‘ปลัดกลาโหม-ผบ.เหล่าทัพ’ ที่ส่งสารไปยัง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ภายหลังการถอดชื่อออกจากการเป็นศิษย์เก่าเตรียมทหารดีเด่นและเรียกคืนรางวัลเกียรติยศจักรดาว
ถือเป็นอีก ‘สัญญาณชัด’ ทางการเมืองที่สะเทือนมาถึงพรรคเพื่อไทยและแนวร่วมอุดมการณ์ แต่คะแนนเสียงที่พรรคพลังประชารัฐได้และพรรคเพื่อไทยก็ได้ ไม่ได้ทิ้งห่างจนเกินไป จึงสะท้อนภาพ ‘ชุดความคิด’ ของสังคมในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี ระหว่างเอาและไม่เอา คสช.
ศึกนี้ อีกนาน !!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง