ไม่พบผลการค้นหา
บทความชิ้นนี้รวบรวมเสียงสัมภาษณ์ 'อุเชนทร์ เชียงเสน' อ.รัฐศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ และ 'ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ' จากจุฬาฯ วิพากษ์ทางออกปัญหาความขัดแย้งภายในการ์ดม็อบ

'การ์ดราษฏร' องค์กรที่ประชาชนให้ความไว้วางใจและยกให้เป็นแรงหลักสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในครั้งนี้ เสมือนต้องเผชิญหน้ากับภาวะลักลั่นที่ 'ความตั้งใจดี' ยังมีอยู่ แต่ 'การแตกกันเอง' กลับกำลังทำให้ภาคีหวั่นไหว 

เพื่อร่วมหาทางออกให้กับทุกฝ่าย 'วอยซ์' ชวนอาจารย์รัฐศาสตร์ 2 ราย มาร่วมออกความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว โดยบทความชิ้นนี้รวบรวมแนวคิดสำคัญของ อุเชนทร์ เชียงเสน อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่แนะให้ ยุบการ์ดทั้งหมด และ ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ย้ำว่า ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กร เข้าไว้ด้วยกัน 


'ยุบให้สิ้น' ตั้งต้นใหม่

เมื่อโยนคำถามให้ อุเชนทร์ ว่าวิธีการใดจะช่วยผสานรอยร้าวระหว่างการ์ดที่เกิดขึ้นอยู่ได้บ้าง เขาเสนอให้ 'ยุบ' การ์ดทั้งหมดลง โดยสะท้อนว่า 'การ์ดการชุมนุม' ถูกให้ความสำคัญและทำให้เป็นเรื่องโรแมนติก (romanticize) มากเกิน ทั้งที่โดยหลักการแล้ว ทุกภาคส่วนของการขับเคลื่อนล้วนเป็นกลไกสำคัญเสมอกัน ทำให้แนวโน้มปัญหาที่ปรากฎให้เห็นตั้งแต่ช่วงแรกไม่ได้รับการแก้ไข รวมทั้งปูมหลังที่แตกต่างกันมีเพียงเป้าหมายหลักร่วมกัน เมื่อปราศจากการขัดเกลาทางสังคมหรือกระบวนการเรียนรู้ทำงานร่วมกัน จึงทำให้ปัญหายิ่งแก้ไขยากขึ้นไปอีก

อุเชนท์ เชียงเสน
  • อุเชนทร์ เชียงเสน อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ทางออกง่ายที่สุดจึงเป็นการทำฉันทามติหาระเบียบวินัยให้กับ 'สังคมการชุมนุม' เพื่อที่ทุกฝ่ายได้เข้าใจร่วมกันว่ากฎเกณฑ์ของสังคมนี้คือสิ่งใด ข้อห้ามใดไม่ควรทำ และบทบาทหน้าที่ของ 'การ์ด' ที่เขาอยากให้เปลี่ยนเป็นคำว่า 'ผู้อำนวยการการชุมนุม' มีมากน้อยแค่ไหน เมื่อต้องปล่อยให้มีการดำเนินงานแบบไม่มีข้อตกลงที่ลงตัว จึงไม่แปลกที่บางกลุ่มจะมองว่าการกระทำบางอย่าง 'เกินเส้น' ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าไม่ได้ล้ำเกินใคร

ในทัศนะของอุเชนทร์ ความสำคัญที่ต้องยุบการ์ดรักษาความปลอดภัยการชุมนุมโดยหลักแล้วมี 2 ประการ

ประการแรก สะท้อนความเข้าใจและภาพจำที่ประชาชนมีต่อคำว่า 'การ์ด' ซึ่งมักถูกผูกติดอยู่กับอยู่กับแนวคิดบางอย่าง เช่น 'แนวปะทะ' 'ป้องกันตัว' 'ผู้เสียสละ' ซึ่งอุเชนทร์ชี้ว่า หากจะยึดหลักการชุมนุมนี้ว่าเป็น 'สันติวิธี' มวลชนต้องเข้าใจว่า สันติวิธีจะไม่โต้กลับด้วยความรุนแรงแม้โดนปราบปราม เพราะฉะนั้นยิ่งไม่ใช่การส่งใครคนใดคนหนึ่งไปเจ็บตัวแทนมวลชน แต่ต้องทำให้มวลชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านการปราบปรามแบบองค์รวม พร้อมรักษาขบวนการเคลื่อนไหวโดยไม่ใช้ความรุนแรงและปราศจากอาวุธเอาไว้ 

ม็อบ 17 พ.ย.แยกเกียกกาย
  • กลุ่มการ์ดซึ่งหลบหลังรั้วคอนกรีต หลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย.

ประเด็นที่สอง อุเชนทร์ มองว่าเป็นเพราะสังคมม็อบที่ผ่านมายังไม่มีการตั้งกฎเกณฑ์ว่าหน้าที่ของ 'ผู้อำนวยการการชุมนุม' ควรมีสิ่งใดบ้าง และต้องมีระบบคัดเลือกและคัดกรองบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับหน้าที่ 'ผู้อำนวยการการชุมนุม' ที่ทุกฝ่ายเชื่อได้ว่า เข้าใจในหลักการ รับรู้ถึงหน้าที่ ข้อบังคับ และข้อห้ามของขบวนการเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุผิดใจกันอย่างที่ผ่านมา และที่สำคัญกลายเป็นเงื่อนไขของความรุนแรงเสียเอง 

"กระบวนการที่ดี จะคัดกรองคนจำนวนหนึ่งที่เขาไม่พร้อมจะมีวินัย คนที่อดทนไม่ได้เวลาถูกด่า คนที่อยากไปกระทืบคนอีกฝั่ง มันมีคนที่เราต้องยอมรับว่ามีคนที่อดทนต่ำ ทนไม่ได้ โกรธมาก อยากไปตบหัวให้คว่ำ เขาก็ควรไปทำหน้าที่อย่างอื่น ไม่ใช่มาทำหน้าที่อำนวยความสะดวก"

เท่านั้นยังไม่พอ ความโปร่งใสและตรวจสอบยังเป็นเรื่องสำคัญ อุเชนทร์ ชี้ว่า การคัดเลือกคนใหม่จะทำให้ทุกคนเข้าใจแล้วยอมรับกระบวนการบางอย่างร่วมกัน เพราะฉะนั้นจะไม่มีการเถียงกันว่าต้องลงทะเบียนหรือไม่ เพราะทุกส่วนจะถูกตรวจสอบได้ 

อุเชนท์ชี้แจงว่า เขาไม่ได้มองว่าทางเลือกที่เสนอเป็นการปิดกั้นหรือลดทอนบทบาทของใครลง เพราะข้อเสนอเป็นเพียงการหาทางออกให้ทุกฝ่ายสามารถดำเนินการเรียกร้องต่อไปได้จนถึงเส้นชัย และข้อเสนอของเขายืนอยู่บนหลักการของการอยู่ร่วมกัน พื้นฐานที่สุดคือการมีระเบียบวินัยในสังคม


ไม่ต้องรักแต่ต้องชนะ

ด้าน จันจิรา นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ผู้เขียนหนังสือ 'หัวร่อต่ออำนาจ : อารมณ์ขันและการประท้วงด้วยสันติวิธี' ชี้ว่า ที่ผ่านมา การ์ดราษฏรมีความสามารถและเหมาะแล้วกับเสียงชื่นชมจากมวลชนในการช่วยรักษารูปขบวนที่มีหลักสันติวิธีเป็นแกน ทว่า ความหลากหลายของกลุ่มคน ประกอบรวมกับการหายไปของแกนบัญชาการองค์กรทำให้เห็นถึงช่องโหว่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในภาวะคับขันที่มีการยั่วยุหรือใช้กำลังจากฝ่ายตรงข้าม

เธอเสนอว่า แม้แต่ในขบวนการประชาธิปไตยเสรีนิยมยังจำเป็นต้องมี 'สายบัญชาการ' ที่สั่งงานได้ในยามฉุกเฉิน ทั้งยังเสริมว่า เมื่อเสนอให้มีผู้นำขึ้นมา หลายฝ่ายอาจเกิดความกลัวว่าจะนำไปสู่อำนาจรวมศูนย์จนกลายเป็นเผด็จการหรือไม่ โดยเธอโต้กลับว่า การเสนอให้มีสายบัญชาการไม่ได้หมายความว่าให้อำนาจอยู่มือคนเดียว แต่เป็นการตัดสินใจร่วมกันของตัวแทนแต่ละกลุ่มที่มีความเห็นและความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อทำให้องค์กรการ์ดเกิดความเป็นเอกภาพขึ้น

การ์ดยังต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่า 'วัฒนธรรมองค์กร' ขึ้นมาครอบตนเองอีกชั้นในทัศนะของ ผศ.ดร.จันจิรา เนื่องจากอัตลักษณ์และลักษณะที่แตกต่างของแต่ละกลุ่ม เธอชี้ว่า การยึดโยงกันหลวมๆ ด้วยเป้าหมายแห่งชัยชนะไม่เพียงพอที่จะก้าวข้ามความบาดหมางภายในได้ แต่ต้องมาจากการตกลงร่วมกันถึงบทบาทหน้าที่ ข้อห้าม ไปจนถึงกระบวนการฝึกซ้อมในองค์กรเพื่อรับมือสถานการณ์ต่างๆ

จันจิรา สมบัติพูนศิริ-บทบาทการเมืองกับการชุมนุม
  • ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"การ์ดต้องเข้าใจวัฒนธรรมว่าองค์กรเราเคลื่อนไม่ใช่ด้วยความรัก แต่เคลื่อนด้วยความอยากชนะ ทีนี้ถ้าคุณอยากชนะ คุณต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้เราแพ้เอง จิตสำนึกแบบนี้ ความเข้าใจที่ตรงกันเช่นนี้ เรียกภาษาเป็นทางการคือมันเป็นวัฒนธรรมองค์กร มันต้องมีเหมือนกัน ไม่งั้นการ์ดที่มาจากทุกกลุ่ม ต่างคนก็ต่างทำอะไรก็ได้ ซึ่งมันไม่ใช่ มันไม่ควรจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับการ์ด"

นักวิชาการหญิงเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงของสถานการณ์การ์ดในไทยกับกรณีศึกษาการเรียกร้องสิทธิพลเมืองของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ในช่วงทศวรรษเจ็ดศูนย์ถึงแปดศูนย์ เมื่อครั้งที่ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ขึ้นมาบัญชาการขบวนเคลื่อนไหวดังกล่าวในสหรัฐฯ หลังเหตุการณ์ที่ 'โรซา พาร์คส์' ถูกจับกุมหลังไม่ยอมสละที่นั่งบนรถเมล์ให้กับคนขาว กระบวนการอารยขัดขืนที่เป็นการท้าทายกฎหมายเหยียดสีผิวในขณะนั้นจำเป็นต้องถูกขับเคลื่อนที่กลุ่มคนที่ถูกฝึกมาแล้วอย่างดี

"สิ่งที่มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ทำคือเอาคนมานั่งในร้านอาหารหรือรถเมล์ที่เป็นที่นั่งของคนผิวขาว ทีนี้อยู่ๆ คุณจะเอาคนไปนั่งในจุดนั้นไม่ได้ มันผิดกฎหมาย แล้วคุณก็จะโดนรุมกระทืบจากคนขาวที่อยู่ในร้านอาหารหรือรถเมล์ คุณจะโดนคนขับรถเมล์ไล่ลงจากรถ แล้วถ้าคุณไม่ยอมคุณจะทำยังไง ถ้าคุณถูกเขาลากถูลงจะทำยังไง ฉะนั้น คนที่จะไปนั่งในร้านอาหารหรือบนรถเมล์ ถูกคัดเลือกมาแล้วว่าเป็นคนจิตแข็ง"

กรณีดังกล่าวสอดคล้องกับสถานการณ์ของในปัจจุบันอย่างมาก เนื่องจากเงื่อนไขของชาวแอฟริกัน-อเมริกันขณะนั้นคือต้องไม่ใช้ความรุนแรงกลับ เพื่อเปิดช่องให้รัฐมีความชอบธรรมในการปราบปรามที่ไม่ชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกัน หากการ์ดราษฏรไม่สามารถควบคุมกระบวนทัพตนเองให้อดทนต่อการยั่วยุจากกลุ่มตรงข้ามหรือแม้แต่การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ก็อาจเป็นชนวนเหตุให้ขบวนการเคลื่อนไหวเดินไปไม่ถึงชัยชนะเช่นเดียวกัน

ม็อบ 17 พ.ย. เสื้อเหลืองปะทะคณะราษฎร
  • เหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุม (สวมใส่เสื้อสีเหลือง) กับกลุ่ม 'ราษฏร' เมื่อ 17 พ.ย. บริเวณสี่แยกเกียกกาย

"สมมติว่ามีการยั่วยุกันบนถนน เสื้อเหลืองมาแล้วการ์ดหมั่นไส้มากๆ แล้วมีการทำร้ายกลับ แล้วมีการชุลมุนปะทะกันของสองฝ่าย อันนี้คือเข้าทางฝ่ายชนชั้นนำ ฝ่ายผู้มีอำนาจ เขารอจังหวะนี้อยู่แล้วที่จะประกาศกฎอัยการศึกเพื่อทำรัฐประหาร"

ความพยายามหาทางออกให้ปัญหาการ์ดในครั้งนี้ ไม่มีส่วนใดเป็นไปอย่างไร้ความเคารพในสรรพสิ่งที่เขาเหล่านั้นเสียสละให้กับประชาชน เพียงแต่ทุกฝ่ายต้องเข้าใจร่วมกันว่า การเดินหน้าไปให้ถึงชัยชนะ มีเงื่อนไขมากกว่าแค่ 'การเสียสละ'

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;