ไม่พบผลการค้นหา
'ไพบูลย์' เผยมวลชนแตะต้องสถาบัน "ไม่มีวันชนะ" มายด์ ภัสราวลี ระบุถ้าจะหยุดเคลื่อนไหว 'ประยุทธ์' ต้องลาออก เลือกตั้งใหม่ ด้านนักรัฐศาสตร์มองมวลชนรุนแรง สุดโต่ง เพราะถูกรัฐกระทำ เสนอเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้ชุมนุมได้เรียกร้องและแสดงความเห็นอย่างปลอดภัย

สถานการณ์การชุมนุมของมวลชนกลุ่มราษฎร 2563 ไม่มีทีท่าว่าจะยุติในเร็ววัน และการชุมนุมทั้งสอง เช่น เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 ก็เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นในการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาฯ เริ่มตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำผสมแก็สน้ำตาและสารเคมี ผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มราษฎรปะทะกัน จบด้วยมีเหตุยิงกันขึ้นจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย 

และเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 ประกาศรวมตัวหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) สาขารัชโยธิน สำนักงานใหญ่ ที่แม้ตลอดการชุมนุมจะไม่มีการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ แต่หลังจากผู้ชุมนุมประกาศยุติการชุมนุม เวลาประมาณ 22.00 น. กลับเกิดเหตุการณ์ยิงกัน จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 รายขึ้น 

ทั้งสองเหตุการณ์นี้ไม่ทำให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม แต่ยังคงประกาศเดินทางยกระดับการชุมนุมแบบ “เบิ้มๆ” เพื่อกดดันให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องทั้งสามข้อของผู้ชุมนุมต่อไป

ในเมื่อผู้ชุมนุมยืนยันเพดานเดิมต่อไปและรัฐบาลไม่มีทีท่าจะทำตามข้อเรียกร้อง ความรุนแรงเกิดถี่ขึ้น แล้วจุดร่วมในการเจรจาหาข้อยุติทางการเมืองครั้งนี้คืออะไร ?

รัฐสภา ตำรวจ กลุ่มราษฎร
  • ภาพเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาฯ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563

ก่อนหาจุดร่วม ต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัย

รศ.ดร.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ยอมรับว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นทางออกของความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้ แต่อยากเสนอให้รัฐบาลเปิดพื้นที่ปลอยภัยให้ผู้ชุมนุมได้เรียกร้องและแสดงความเห็นได้อย่างเสรีและปลอดภัย 

“สิ่งที่จะทำได้เพื่อลดความขัดแย้ง รัฐบาลเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้ชุมนุม ได้พูดคุย ถกเถียง แลกเปลี่ยน ปราศรัยได้อย่างเสรีและไม่ผิดกฎหมาย” สุขุม กล่าว

YXJjaGl2ZS80ODcxOTM=.jpg
  • รศ.ดร.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

เขายอมรับตอนนี้ฝ่ายผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายถูกกระทำจากรัฐ ทั้งถูกสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาและสารเคมี รวมถึงมวลชนหลายคนถูกจับกุม เพียงเพราะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

“ไม่แปลกที่ผู้ชุมนุมเริ่มยกระดับการชุมนุมหรือแสดงปฏิกิริยาตอบโต้การกระทำของรัฐเชิงสัญลักษณ์ และต่อต้านเจ้าหน้าที่” สุขุมกล่าวและว่า “เสมือนเขาถูกรังแกและรัฐบาลไม่ยอมให้สิทธิการชุมนุมอย่างเสรี  รวมถึงไม่รับข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องของมวลชนเลย”

ราษฎร ฉีดน้ำ ควัน เบริเออร์  ม็อบ สลายการชุมนุม รัฐสภา

สุดโต่ง เพราะถูกกระทำ

กรณีที่สังคมบางส่วนและรัฐบาลมองว่า การแสดงออกของผู้ชุมนุมในหลายครั้งล่าสุดมุ่งเน้นไปที่ข้อเรียกร้องข้อที่สามเป็นหลัก โดยมีการแสดงออกทั้งเชิงสัญลักษณ์ สาดสี ขีดเขียน และปราศรัยพูดถึงสถาบันโดยตรงและมีการใช้คำหยาบ

สุขุมยอมรับ ทว่าเห็นเป็นการยกระดับการต่อสู้ เพราะที่ผ่านมามวลชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุม กดดันและจับกุม ทำให้เกิดการแสดงออกที่ดุดันมากขึ้น

“เมื่อมีการต่อสู้ก็ต้องยกฐานะให้เป็นคู่ต่อสู้ แล้วก็เสมอกันไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่” สุขุมกล่าว 

มายด์ ภัสราวลี
  • ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หนึ่งในสมาชิกราษฎรปลดแอก

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หนึ่งในสมาชิกราษฎรปลดแอก กล่าวว่า การพูดถึงสถาบันด้วยข้อความที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจ เป็นเพราะประชาชนถูกปิดกั้นการแสดงออกอย่างเสรีมาเนิ่นนาน

“เป็นความอึดอัดของประชาชน ที่ทำให้เกิดการแสดงความไม่พอใจออกมาขนาดนี้ แต่ทางกลุ่มมีการขอร้องให้มวลชนแสดงออกอย่างมีเหตุผล ไม่ดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยามความเป็นมนุษย์ของสถาบัน” ภัสราวลีกล่าว

อย่างไรก็ตามเธอยันว่า เรียกร้องข้อที่สามยังต้องผลักดันให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติ เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ร่วมกับสถาบันประชาธิปไตยอย่างสง่างาม


จัดทำข้อเสนอเพื่อยุติความขัดแย้ง

สุขุม บอกว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แก้ปัญหาไม่ใช่ปิดกั้นการชุมนุมของมวลชน แต่รัฐบาลต้องคิดนโยบายหรือข้อเสนอเกี่ยวกับทางออกของปัญหานี้มาเสนอของสังคม 

“รัฐบาลต้องรวบรวมเอาข้อเรียกร้องของทุกฝ่าย มาทำเป็นข้อตกลง แล้วเสนอให้ฝ่ายขัดแย้งได้ลงความเห็นว่าเห็นด้วยไหม โดยต้องแบ่งบัน จัดสรรผลประโยชน์ให้ลงตัวทุกกลุ่ม ให้ทุกฝ่ายพึงพอใจ”

ไพบูลย์

แตะสถาบัน ไม่มีวันชนะ

“ที่ผ่านอาจมีการอะลุ่มอล่วยกันบ้าง แต่ขณะนี้เกินเลยไปมากแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวตอนหนึ่งเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2563 ต่อปฏิกิริยาการแสดงออกของมวลชนราษฎร

นายกฯ ยืนยันจะใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราเอาผิดผู้ชุมนุมรวมถึงกฎหมายมาตรา 112

ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะฝ่ายรัฐบาลกล่าวว่า ฝ่ายรัฐบาลรับไม่ได้กับข้อเสนอของฝ่ายผู้ชุมนุมทั้งสามข้อ โดยเฉพาะข้อสามที่สุดโต่งเกินไป

“ข้อหนึ่ง ข้อสองเป็นข้อเรียกร้องเพื่อเปิดทางนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลยอมไม่ได้” ไพบูลย์กล่าว

เขาเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของผู้ชุมนุมเรื่องปฏิรูปสถาบัน ดังนั้นยังมองไม่เห็นหนทางการเจรจา หาจุดร่วมเพื่อให้มวลชนยุติได้ 

“สิ่งที่ทำให้มวลชนไม่ชนะคือไปเล่นประเด็นเรื่องปฏิรูปสถาบัน” ไพบูลย์กล่าว


นายกฯ ลาออกคือทางออกขั้นแรก

สำหรับ ภัสราวลี ทางออกตอนนี้คือให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกพร้อมคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ เมื่อออกแล้วให้มีการคัดสรรใหม่ตามกระบวนการรัฐสภาหรือให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่

“อยากให้ลาออกไปก่อน แม้ตอนนี้รัฐบาลมีสิทธิแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็จริง แต่เราไม่ไว้ใจ เพราะประชาชนบอกว่าต้องการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญเอง รัฐบาลไม่ควรขัดเจตจำนงประชาชน” ภัสราวลีกล่าว

ประยุทธ์ ม็อบ คณะรัฐมนตรี คณะราษฎร 6115016000000.jpg

แม้รัฐบาลจะบอกว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมไม่มีเหตุผลที่จะทำให้รัฐบาลยุบสภา นายกฯ ลาออก แต่มายด์มองว่าเมื่อประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องแสดงความไม่พอใจกับการบริหารงานของรัฐบาล รัฐบาลก็ควรจะรับฟังแล้วนำไปปฏิบัติตาม ไม่ใช่ปิดกั้น ขัดขวาง จับกุม หรือใช้ความรุนแรง

“คำถามคือ ตกลงแล้วอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนทั้งหมดหรือเป็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ต้องการทำอะไรก็ได้ในประเทศนี้” แกนนำกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยกล่าว


จับกุม ไม่ใช่ทางออก

ภัสราวลี กล่าวว่าการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ กับผู้ชุมนุมมันไม่ได้ทำให้มวลชนกลัวหรือหยุดการเคลื่อนไหว สถานการณ์ตอนนี้รัฐบาลควรจะต้องแสดงความจริงจัง รับฟังข้อเรียกร้องของประชาชนแล้วนำไปปฏิบัติตาม จึงจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น 

“การใช้กฎหมายมาปิดกั้นการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองของประชาชนถือว่าขัดกับหลักการและกฎหมายที่ให้สิทธิเสรีภาพประชาชนในการชุมนุมทางการเมืองอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ควรทำ” เธอบอกทิ้งท้าย