ไม่พบผลการค้นหา
การเคลื่อนไหวของ 'คณะราษฎร' เริ่มหมดช่วง 'ฮันนีมูน' รอยร้าวต่างปรากฏขึ้นชัด นักรัฐศาสตร์แนะเปลี่ยนความเข้าใจในการทำงาน/ยกเลิก 'การ์ด' พร้อมชูแนวทางเพื่อให้ข้อเรียกร้อง #จบที่รุ่นเรา

'การ์ด' ในการชุมนุมของ 'ราษฎร' ได้รับการยกย่องอย่างไม่ขาดสาย ในฐานะผู้อุทิศตัวเพื่อความปลอดภัยและเป็น 'แนวหน้า' ปกป้องผู้ชุมนุมคนอื่นๆ แต่ในปัจจุบัน ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ การทะเลาะถึงขั้นลงมือชกต่อย ข่มขู่กัน ลามถึงประกาศเป็น 'กองกำลังอิสระ' ไม่ยอมรับการนำของผู้จัดการชุมนุม “ไม่ได้ยืนข้างแกนนำแต่ยืนข้างพี่น้องประชาชน”

แม้ปัญหานี้จะมาจากการ์ดส่วนน้อย แต่นำไปสู่คำถามว่าพื้นที่ชุมนุมยังจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยหรือไม่ จะแก้ปัญหานี้และก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างไร

เมื่อโยนคำถามให้ อุเชนทร์ เชียงเสน อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อธิบายว่าวิธีการใดจะช่วยผสานรอยร้าวระหว่างการ์ดที่เกิดขึ้นอยู่ได้บ้าง เขากลับเสนอให้ 'ยุบ' การ์ดทั้งหมดลงแทน

อาจารย์รัฐศาสตร์ ผู้สั่งสมประสบการณ์ทั้งในฐานะนักวิชาการ ประชาชนผู้จัดและเข้าร่วมการชุมนุมมาบ้าง รวมทั้งการเคลื่อนไหวเสื้อแดงปี 2553 สะท้อนว่า 'การ์ดการชุมนุม' ถูกให้ความสำคัญและทำให้เป็นเรื่องโรแมนติก (romanticize) มากเกิน ทั้งที่โดยหลักการแล้ว ทุกภาคส่วนของการขับเคลื่อนล้วนเป็นกลไกสำคัญเสมอกัน ทำให้แนวโน้มปัญหาที่ปรากฎให้เห็นตั้งแต่ช่วงแรกไม่ได้รับการแก้ไข รวมทั้งปูมหลังที่แตกต่างกันมีเพียงเป้าหมายหลักร่วมกัน เมื่อปราศจากการขัดเกลาทางสังคมหรือกระบวนการเรียนรู้ทำงานร่วมกัน จึงทำให้ปัญหายิ่งแก้ไขยากขึ้นไปอีก

อุเชนท์ เชียงเสน
  • 'อุเชนทร์ เชียงเสน' อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

อุเชนทร์ เสนอแนวคิดที่เขาย้ำว่า 'สุดขั้ว' เพื่อเปิดการถกเถียงกับทุกฝ่ายที่เห็นต่างว่าควรยุติบทบาทของ 'การ์ดการชุมนุม' ในปัจจุบันลง แล้วแทนที่ด้วยสิ่งที่เรียกว่า 'ผู้อำนวยการการชุมนุม' จากชุดของความเข้าใจการเคลื่อนไหว การวิเคราะห์ปัญหาข้อจำกัด และอนาคตการเคลื่อนไหวของเขาเอง  


เสรีภาพ บน 'วินัย'

จิ๊กซอว์ที่หลายฝ่ายเคยเข้าใจว่าต่อชิดสนิทกัน กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเด็นความไม่ลงรอยกันของการ์ดการชุมนุม ซึ่งอุเชนทร์ชี้ว่า ไม่ใช่ความผิดของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เชื่อมกับการเกิดขึ้นของขบวนการนี้ที่มาจากผู้คนที่อิสระและหลากหลาย การเติบโตรวดเร็วเกินกว่าที่จะจัดรูปรับมือได้ทันท่วงที

ทางออกที่ง่ายที่สุดจึงเป็นการทำฉันทามติหาระเบียบวินัยให้กับ 'สังคมการชุมนุม' เพื่อที่ทุกฝ่ายได้เข้าใจร่วมกันว่ากฎเกณฑ์ของสังคมนี้คือสิ่งใด ข้อห้ามใดไม่ควรทำ และบทบาทหน้าที่ของ 'การ์ด' ที่เขาอยากให้เปลี่ยนเป็น 'ผู้อำนวยการการชุมนุม' มีมากน้อยแค่ไหน เมื่อต้องปล่อยให้มีการดำเนินงานแบบไม่มีข้อตกลงที่ลงตัว จึงไม่แปลกที่บางกลุ่มจะมองว่าการกระทำบางอย่าง 'เกินเส้น' ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าไม่ได้ล้ำเกินใคร

ในทัศนะของอุเชนทร์ ความสำคัญที่ต้องยุบการ์ดรักษาความปลอดภัยการชุมนุมโดยหลักแล้วมี 2 ประการ

ประการแรก เชื่อมโยงกับสิ่งที่ดูเป็นนามธรรมค่อนข้างมาก ที่ผ่านมา ศัพท์ 'การ์ด' มักถูกเชื่อมโยงกับภาพจำที่เกี่ยวข้องกับการปะทะ การตรึงกำลัง เป็นแนวหน้าเสมอมา คือ มีชุดความคิดเกี่ยวกับ 'การ์ด' แบบหนึ่งกำกับอยู่

ทั้งนี้ อุเชนทร์ชี้ว่า หากเรายึดหัวใจสำคัญของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ซึ่งคือ 'สันติวิธี' หรือ 'ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง' ดั้งนั้น จึงหลีกเลี่ยงความรุนแรง ไม่ตอบโต้กลับด้วยความรุนแรงแม้กระทั่งเมื่อเผชิญหน้ากับการปราบปราม ซึ่งแกนนำค่อนข้างเข้าใจการทำงานของปฏิบัติการไร้แรงค่อนข้างดี  ท้ายที่สุดเมื่อมีการปราบปรามขึ้นมาจริง ม็อบไม่ได้ต้องการการ์ดเพื่อไปอยู่ในแนวปะทะ ลุุยกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชุน

ฉีดน้ำ ม็อบ คณะราษฎร หน้าศาลฎีกา 79690_4002910900851252135_n (1).jpg
  • กลุ่มการ์ดร่วมกันยกรั้วรวดหนามออกเพื่อเปิดทางให้มวลชน ในเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 8 พ.ย.

อุเชนท์ มองอีกว่า ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง ไม่ใช่การส่งใครคนใดคนหนึ่งไปเจ็บตัวแทนมวลชน แต่ต้องทำให้มวลชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านการปราบปราม และรักษาขบวนการเคลื่อนไหวโดยไม่ใช้ความรุนแรงและปราศจากอาวุธเอาไว้ 

เมื่อก้าวข้ามภาพจำเดิมๆ ได้แล้ว บทบาทและหน้าที่ของผู้อำนวยการการชุมนุมจะไม่กระจุกตัวอยู่กับฝั่งชายรูปร่างใหญ่อีกต่อไป แต่คือประชาชนเพศใดก็ตามที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ กระบวนการเช่นนี้จะไม่แบ่งแยกและยกสถานะพิเศษให้กับกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ประเด็นที่สอง อุเชนทร์ มองว่าเป็นเพราะสังคมม็อบที่ผ่านมายังไม่มีการตั้งกฎเกณฑ์ว่าหน้าที่ของ 'ผู้อำนวยการการชุมนุม' ควรมีสิ่งใดบ้าง และต้องมีระบบคัดเลือกและคัดกรองบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับหน้าที่ 'ผู้อำนวยการการชุมนุม' ที่ทุกฝ่ายเชื่อได้ว่า เข้าใจในหลักการ รับรู้ถึงหน้าที่ ข้อบังคับ และข้อห้ามของขบวนการเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุผิดใจกันอย่างที่ผ่านมา และที่สำคัญกลายเป็นเงื่อนไขของความรุนแรงเสียเอง 

"กระบวนการที่ดี จะคัดกรองคนจำนวนหนึ่งที่เขาไม่พร้อมจะมีวินัย คนที่อดทนไม่ได้เวลาถูกด่า คนที่อยากไปกระทืบคนอีกฝั่ง มันมีคนที่เราต้องยอมรับว่ามีคนที่อดทนต่ำ ทนไม่ได้ โกรธมาก อยากไปตบหัวให้คว่ำ เขาก็ควรไปทำหน้าที่อย่างอื่น ไม่ใช่มาทำหน้าที่อำนวยความสะดวก"

เท่านั้นยังไม่พอ ความโปร่งใสและตรวจสอบยังเป็นเรื่องสำคัญ อุเชนทร์ ชี้ว่า การคัดเลือกคนใหม่จะทำให้ทุกคนเข้าใจแล้วยอมรับกระบวนการบางอย่างร่วมกัน เพราะฉะนั้นจะไม่มีการเถียงกันว่าต้องลงทะเบียนหรือไม่ เพราะทุกส่วนจะถูกตรวจสอบได้  

อาจารย์รัฐศาสตร์ ยกตัวอย่าง กรณีหากประชาชนไปเจอผู้อำนวยการการชุมนุมที่ทำอะไรพลาดบางอย่าง ถ้าสามารถระบุตัวตนได้ว่าเป็นใคร อาจไม่จำเป็นต้องเป็นชื่อจริง แต่เป็นรหัสบางประเภท จะทำให้สามารถสะท้อนไปที่ผู้จัดการชุมนุมได้ว่าใครมีปัญหาในการทำงานและแก้ไขช่องโหว่ที่มี เช่นเดียวกับกรณีของสื่อมวลชน ที่สามารถระบุตัวตนได้ว่านักข่าวคนนี้มาจากสำนักข่าวใด 

อุเชนท์ชี้แจงว่า เขาไม่ได้มองว่าทางเลือกที่เสนอเป็นการปิดกั้นหรือลดทอนบทบาทของใครลง เพราะข้อเสนอเป็นเพียงการหาทางออกให้ทุกฝ่ายสามารถดำเนินการเรียกร้องต่อไปได้จนถึงเส้นชัย

เขาย้ำว่า ข้อเสนอของเขายืนอยู่บนหลักการของการอยู่ร่วมกัน พื้นฐานที่สุดคือการมีระเบียบวินัยในสังคม ยิ่งเมื่อต้องคัดเลือกบุคคลมาปฏิบัติหน้าที่ที่มีความสำคัญและอาจเป็นตัวแปรในชัยชนะ ยิ่งต้องเฟ้นหาบุคคลที่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่เพียงพอ และไม่ปล่อยให้คนส่วนน้อยมาทำให้เรือเสีย 


เกินขึ้น-ตั้งอยู่- (ไม่) ดับไป

เนื่องจากการ์ดเป็นส่วนผสมที่สอดประสานอยู่กับขบวนการเคลื่อนไหวภาพใหญ่ ด้วยเหตุนี้ การมองหาทางออกของการ์ดจึงไม่อาจมองข้ามภาพใหญ่ของสภาวะการเคลื่อนไหวในปัจจุบันและแนวดำเนินงานในอนาคตของเหล่าผู้เรียกร้องประชาธิปไตยออกจากกันได้ 

นักวิชาการรายนี้ มองถึงทฤษฎีการเกิดม็อบของคนสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่จำกัดเพียงกลุ่มเด็กหนุ่มสาว แต่ควบรวมถึงผู้ใดก็ตามที่่ต้องการให้แผ่นดินไทยกลับมาอยู่ภายใต้ความเท่าเทียม

ชนวนสำคัญหลัก 2 เหตุการณ์ คือรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่บ่มเพาะให้เกิดขบวนการต่อต้านตลอด 14 ปีที่ผ่านมา จนกลายมาเป็นกลุ่มคนอย่าง นปช. หรือคนเสื้อแดง ขณะเหตุการณ์ล่าสุด คือความดีความชอบของระบอบประยุทธ์ หลังศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกับแกนนำพรรคเป็นเวลา 10 ปี

เหตุการณ์ข้างต้นนำไปสู่การชุมนุมย่อยๆ ตามมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ซึ่งในความเห็นของ อุเชนทร์ เขามองว่าเพราะคุณรุ่นใหม่รู้สึกว่าเสียงของตนเองที่สะท้อนผ่านพรรคที่เป็นความหวังได้ถูกทำลายลง ส่วนรูปแบบการเคลื่อนไหวดังกล่าวมีความกระจัดกระจายเป็นกลุ่มย่อยที่เป็นเอกเทศต่อกัน แต่ยึดโยงกันไว้ด้วยหลักการเดียวกัน

ธนาธร อนาคตใหม่ ยุบพรรค ปราศรัย
  • ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ขึ้นปราศรัยบริเวณหน้าตึกไทยซัมมิท เมื่อ 21 ก.พ. 2563 หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินยุบพรรค

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งข้อเรียกร้องที่ยกระดับขึ้น สอดประสานกับการปราบปรามจากฝั่งรัฐที่ทวีคูณ กิจกรรมย่อยๆ จึงเริ่มก่อตัวและมีความแน่นแฟ้น และมีการนำในบางระดับ

พูดให้ถึงที่สุด จากพัฒนาการของขบวนการแบบนี้ ทุกกลุ่มก็ยังเป็นอิสระต่อกัน แต่ต้องยอมรับว่ามีบางกลุ่มได้รับการยอมรับใน 'การนำ' มากกว่ากลุ่มอื่น จึงสามารถจัดการชุมนุมได้ใหญ่ มีผู้เข้าร่วมได้มากกว่ากลุ่มอื่น

'ผู้นัดหมาย' เหล่านี้มีความรับผิดชอบในการชุมนุมมากกว่าคนอื่น ต้องสามารถกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวและกฎเกณฑ์กติกาบางอย่างได้ พวกเขาต้องโดนคดีและติดคุกมากกว่าคนอื่น ส่วนผู้ชุมนุมหรือกลุ่มย่อยๆ ถ้าไม่เห็นด้วยกับกลุ่มหลักก็ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมและสร้างทางเลือกหรือกิจกรรมใหม่ๆ ของตัวเองขึ้นมาเป็นทางเลือกได้ 

อุเชนท์ บรรยายไทมไลน์ว่า ปฏิกริยาของรัฐมีกำหนดรูปแบบขบวนการ ช่วงแรกที่รัฐพยายามข่มขู่ แล้วสะกัดไม่ให้ชุมนุม หลังจากเดือนกรกฏคมเริ่มดำเนินคดีทางกฎหมายแต่รัฐยังไม่ใช้ความรุนแรง แต่ในตอนหลัง กลางตุลาคมเป็นต้นมา รัฐเริ่มใช้ความรุนแรงในการปราบปราม จึงเรียกร้องการจัดระบบการจัดการที่ดีมากขึ้นเพื่อรับมือกับการกดปราบของรัฐ

ทว่า เพราะขบวนการจากวันแรกมาจนถึงจุดที่ต้องรวมกันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กลุ่มบุคคลแต่ละฝ่ายที่มีความแตกต่างกันจึงไม่สามารถทำงานสอดผสานได้ลงตัว เพราะไม่เคยมีการฝึกอบรม ไม่เคยรับรู้ร่วมกันว่ากฎเกณ์ของแต่ละฝ่ายเป็นเช่นใด นำไปสู่ช่องโหว่ของการดำเนินการ เช่น ประเด็นการ์ดผู้ชุมนุมเป็นต้น 


How To : ให้มันจบที่รุ่นเรา

คำถามสำคัญถัดมาคือเมื่อไหร่ประชาชนจะได้รับชัยชนะ อุเชนทร์ตั้งคำถามต่อประเด็นนี้ว่า 'ชัยชนะ' คืออะไร และหนทางใดจะนำพาการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไปถึงจุดนั้น 

เนื่องจากหลักใหญ่ใจความของการเรียกร้องครั้งนี้คือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นเดิมพันที่ใหญ่ จึงต้องทำความเข้าใจว่าการได้มาซึ่งผลลัพธ์ตามข้อเรียกร้องอย่างเป็นรูปธรรมต้องใช้เวลา และไม่ใช่การวิ่งระยะสั้นอย่างแน่นอน

เขาชวนให้มองไปที่ 10 ข้อเรียกร้องที่ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จากเเนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม อ่านต่อสาธาณชนบนเวที ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตรังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา มีถึง 7-8 ข้อ ที่ต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ซึ่งท้ายที่สุดแล้วต้องเกิดขึ้นในรัฐสภา

ปนัสยา รุ้ง ธรรมศาสตร์ สถาบัน 0FF-4069-A14E-ABD940D48D93.jpeg
  • ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) จากเเนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

อย่างไรก็ดี เขามองว่า สัดส่วนเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรปัจจุบันยืนอยู่กับฝั่งขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยแค่เพียง 30% เท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนอาจต้องนั่งรอเวลาที่เด็กยุคนี้จะได้เข้าไปทำหน้าที่สืบทอดเจตนารมณ์ของตัวเอง

วลี "ให้มันจบที่รุ่นเรา" ถูกต้องสมบูรณ์ด้วยตัวมันเองแล้วโดยที่ อุเชนทร์ ไม่มีอะไรจะเพิ่มเติม แต่เขาอยากเสริมว่าการจบที่รุ่นเราไม่ได้หมายถึงการได้รับชัยชนะภายในปี 2563 เพราะอีก 10 ปี ข้างหน้าเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตพอจะเข้าไปเป็นตัวแทนสานต่อแผนงานบริหารประเทศที่พวกเขาอยากเห็น เมื่อนั้นโมเมนตัมในสภาจะกลับมาอยู่กับฝั่งผู้เรียกหาประชาธิปไตย และชัยชนะก็ยังคงอยู่ 'ในรุ่นเรา'

อย่างไรก็ตาม เขามองว่ากระบวนการต่อสู้ระยะสั้นควรมีจุดหยุดพัก ตลอดย่างเข้า 6 เดือนที่ผ่านมา ทรัพยากรและหยาดเหงื่อไม่น้อยถูกทุ่มให้กับการชุมนุม แต่ทุกฝ่ายทราบดีว่ากิจกรรมบนท้องถนนนี้ไม่อาจจัดต่อเนื่องแบบได้อีก 1-2 ปี ผู้คนมีเงื่อนไขเกินกว่าจะร่วมประท้วงทุกวัน

เขาชี้ว่าเหนือสิ่งอื่นใด การแสดงออกในการเคลื่อนไหวมีอีกหลายกระบวนท่าที่นำมาปรับใช้ได้ วิธีการเคลื่อนไหวที่ทรงพลังที่สุดอย่างหนึ่งคือ การแทรกแซงโดยไม่ให้ความร่วมมือหรือ 'boycott' อาทิ การคว่ำบาตรของ 'ด้อมเกาหลี' ที่มีต่อธุรกิจโฆษณาบนรถไฟฟ้าใต้ดินและบีทีเอส ซึ่งสะท้อนพลังของประสิทธิภาพของวิธีการนี้ว่าต้องมีปริมาณมากพอที่จะส่งผลกระทบในเรื่องผลประโยชน์ในเรื่องนั้นได้จริงๆ 

สามล้อเกาหลี 1.jpg
  • กลุ่มแฟนคลับศิลปินบีทีเอส หันมาสนับสนุนรถตุ๊กตุ๊กในการโฆษณา-ประชาสัมพันธ์แทนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส/ใต้ดิน

แต่ในสังคมไทย วิธีการนี้ไม่สามารถนำมาใช้ได้มากนักหรือมีประสิทธิภาพพอ เพราะเราไม่มีองค์กรจัดตั้ง การรวมตัวของกลุ่มต่างๆ ที่เข้มแข็งพอ ที่จะใช้เครืองมือเหล่านี้

"ถ้าคุณคิดสู้ระยะยาว คุณต้องจัดตั้งทำให้สหภาพแรงงานเข้มแข็ง แล้วใช้วิธีการหยุดงาน ต้องรวมตัวมากกว่านี้ เราเห็นนักวิชาการจำนวนมากซึ่งสนับสนุนเด็ก แต่ว่าถ้าให้ตัวเองออกโรงก็ไม่ทำเอง เพราะฉะนั้นนี่คือความอ่อนแอของเรา (นักวิชาการ) เพราะฉะนั้นเราต้องใช้เวลาในการทำงานเรื่องพวกนี้"

สิ่งสำคัญที่สุดที่อุเชนทร์ออกปากเตือนคือ เขาคิดว่าที่ผ่านมา มวลชนที่หันมาอยู่กับฝั่งข้อเรียกร้องกลุ่มราษฎรมีมากขึ้นก็จริง 

"แต่ผมไม่คิดว่ามากขนาดเป็นคนส่วนใหญ่ ผมว่าคนจำนวนมากยังเอากับระบอบเดิมอยู่ เพราะฉะนั้นต้องใช้เวลายาวๆ"

เมื่อถามต่อว่า ต้องทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่ที่เหลือหันมาเข้าใจข้อเรียกร้องของ 'ราษฎร' เขาตอบอย่างเรียบง่ายว่า "ไม่มีเหตุผลที่จะประนีประนอม นี่เป็นโอกาสของเรา คุณลองนึกดู ถ้าคุณพูดเมื่อรัชสมัยที่แล้วไม่มีโอกาส แต่รัชสมัยนี้มีโอกาส เพราะฉะนั้นนี่เป็นโอกาสง่ายๆ โอกาสพวกนี้เรากำหนดไม่ได้ เมื่อมันมาถึงก็ควรจะตอบสนองมัน" 

กระบวนการในการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของผู้คนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่ท้ายสุดต้องตั้งอยู่บนแนวคิดว่ามนุษย์เปลี่ยนได้ เพราะหากมนุษย์เปลี่ยนไม่ได้ ความพยายามเปลี่ยนแปลงโลกย่อมไร้ค่า

ทั้งนี้ มิติของวิธีการมีความหลากหลายมาก อุเชนทร์ชี้ว่า บางคนมองว่าต้องทำตามจารีต ใช้เหตุผลเข้าหา พยายามโน้มน้าว หรือทำตัวน่ารักพูดจาดีซึ่ง "ถ้าใครถนัดอยากทำแบบนั้นก็ทำ" ขณะเดียวกัน การเผชิญหน้าจนอีกฝ่ายต้องผงะ ต้องตกใจและตั้งคำถามกับความเชื่อของตนเองแบบรุนแรง ฉับพลัน และกระทันหันก็ทำได้เช่นเดียว

เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การโต้เถียง ตั้งคำถาม และเปิดใจรับฟังเหตุผลของกันและกันในที่สุด ภายใต้เงื่อนไขว่าคนที่ถกเถียงกันนั้นพร้อมจะเปิดใจฟัง และแม้แต่อุเชนทร์ก็ยอมรับว่า บุคคลบางส่วนก็มีแนวคิดกับระบอบเดิมที่ยึดแน่นเกินกว่าจะไปโน้มน้าวใจด้วยวิธีใดๆ แล้ว

"ถ้าคุณไม่เชื่อว่ามนุษย์เปลี่ยนได้ คุณไม่ต้องคิดเปลี่ยนแปลงโลก"

เมื่อถามถึงที่ปลายทางของ 'ราษฎร' อุเชนทร์มองว่าเขาเองไม่สามารถคาดเดาการดำเนินไปของม็อบในอนาคตได้ ไม่เพียงตัวเขาเองมีช่องว่างทางความคิดที่ต่างจากเด็กรุ่นใหม่หลายช่วงปี และทายผิดมาหลายครั้งแล้ว การเคลื่อนไหวของขบวนการยังขึ้นอยู่กับฝ่ายตรงข้ามเช่นเดียวกัน

AFP-รัฐประหาร 19 กันยายน 2549-ทหาร-ปืน-รถถัง
  • ภาพการรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 2549 ณ ประเทศไทย

เขาขมวดปมไว้กับอีกหนึ่งเหตุกาณ์สำคัญที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างการ 'รัฐประหาร' ไว้ 3 ประการ คือ หากมีการกระทำผิกกฎหมายเช่นนั้นจริง 1.ทุกฝ่ายต้องกดดันไม่ให้ประมุขของประเทศรับรองการรัฐประหาร 2.ประชาชนทั่วไปต้องร่วมกันชุมนุมไม่ให้ผู้กระทำรัฐประหารกลายเป็น 'องค์อธิปัตย์' ซึ่งจะถูกศาลตีความในภายหลังว่ามีความชอบธรรม และ 3. ส.ส.ที่เหลืออยู่จำเป็นต้องอ้างความชอบธรรมจากที่มีของการเลือกตั้งเพื่อปฏิเสธการกระทำดังกล่าวและลงมาร่วมสู้กับประชาชนอย่างเป็นปึกแผ่น 

"ประสบการณ์การต่อสู้ที่ผ่านมา เราไม่เคยทำทั้ง 3 อย่างนี้ และรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา ประมุขไม่เคยปฏิเสธการรัฐประหาร ส.ส. ไม่เคยรวมพลังกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ผมไม่รู้หรอกว่ามันจะทำได้สำเร็จไหม แต่คิดว่าจะต้องมีอะไรใหม่ๆ ในการต่อต้านรัฐประหาร หากเกิดขึ้นอีก" อุเชนทร์ ทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;