ไม่พบผลการค้นหา
จากประเด็นความไม่ลงรอยของการ์ดที่อยู่แนวหน้าของม็อบ สู่หนทางลงของม็อบและการได้มาซึ่งชัยชนะระยะยาว นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์พูดคุยถกทางออก-ทางรอดของ 'ราษฏรไทย'

นับแต่วันแรกที่สังคมไทยกลับขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งสุดแท้แต่ปัจเจกจะนิยามว่าชนวนเหตุใดเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริง บ้างอาจโยงกลับไปถึงรากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 หรือบ้างมองว่าเป็นเพราะระบอบประยุทธ์ที่แทรกซึมเข้ามาผ่านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทว่าคำถามสำคัญของวิธีการได้มาซึ่งชัยชนะไม่เคยจางหายไป

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว 'วอยซ์' พูดคุยกับ ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนได้รับแนวคิดสำคัญประการหนึ่งว่า ก่อนจะคิดวิธีเคลื่อนขบวนทัพไปคว้าชัย อาจเป็นการดีที่จะหยิบฉวยห้วงเวลาปัจจุบันเพื่อแก้ปัญหาความสุ่มเสี่ยงที่กำลังปริร้าว

จันจิรา สมบัติพูนศิริ-บทบาทการเมืองกับการชุมนุม
  • ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่ต้องรักแต่ต้องชนะ

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ผู้เขียนหนังสือ 'หัวร่อต่ออำนาจ : อารมณ์ขันและการประท้วงด้วยสันติวิธี' ชี้ว่า ที่ผ่านมา การ์ดราษฏรมีความสามารถและเหมาะแล้วกับเสียงชื่นชมจากมวลชนในการช่วยรักษารูปขบวนที่มีหลักสันติวิธีเป็นแกน ทว่า ความหลากหลายของกลุ่มคน ประกอบรวมกับการหายไปของแกนบัญชาการองค์กรทำให้เห็นถึงช่องโหว่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในภาวะขับขันที่มีการยั่วยุหรือใช้กำลังจากฝ่ายตรงข้าม

นักวิชาการผู้ศึกษาประเด็นการชุมนุมเสนอว่า แม้แต่ในขบวนการประชาธิปไตยเสรีนิยมยังจำเป็นต้องมี 'สายบัญชาการ' ที่สั่งงานได้ในยามฉุกเฉิน ทั้งยังเสริมว่า เมื่อเสนอให้มีผู้นำขึ้นมา หลายฝ่ายอาจเกิดความกลัวว่าจะนำไปสู่อำนาจรวมศูนย์จนกลายเป็นเผด็จการหรือไม่ โดยเธอโต้กลับว่า การเสนอให้มีสายบัญชาการไม่ได้หมายความว่าให้อำนาจอยู่มือคนเดียว แต่เป็นการตัดสินใจร่วมกันของตัวแทนแต่ละกลุ่มที่มีความเห็นและความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อทำให้องค์กรการ์ดเกิดความเป็นเอกภาพขึ้น

การ์ดยังต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่า 'วัฒนธรรมองค์กร' ขึ้นมาครอบตนเองอีกชั้นในทัศนะของ ผศ.ดร.จันจิรา เนื่องจากอัตลักษณ์และลักษณะที่แตกต่างของแต่ละกลุ่ม เธอชี้ว่า การยึดโยงกันหลวมๆ ด้วยเป้าหมายแห่งชัยชนะไม่เพียงพอที่จะก้าวข้ามความบาดหมางภายในได้ แต่ต้องมาจากการตกลงร่วมกันถึงบทบาทหน้าที่ ข้อห้าม ไปจนถึงกระบวนการฝึกซ้อมในองค์กรเพื่อรับมือสถานการณ์ต่างๆ

ม็อบ 29 พ.ย. บรรยากาศราบ11 การ์ดราษฎร ราษฎร กรมทหารราบที่11
  • กลุ่ม Guard ราษฏร จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 พ.ย. บริเวณกรมทหารราบที่ 11

"การ์ดต้องเข้าใจวัฒนธรรมว่าองค์กรเราเคลื่อนไม่ใช่ด้วยความรัก แต่เคลื่อนด้วยความอยากชนะ ทีนี้ถ้าคุณอยากชนะ คุณต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้เราแพ้เอง จิตสำนึกแบบนี้ ความเข้าใจที่ตรงกันเช่นนี้ เรียกภาษาเป็นทางการคือมันเป็นวัฒนธรรมองค์กร มันต้องมีเหมือนกัน ไม่งั้นการ์ดที่มาจากทุกกลุ่ม ต่างคนก็ต่างทำอะไรก็ได้ ซึ่งมันไม่ใช่ มันไม่ควรจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับการ์ด"

นักวิชาการหญิงเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงของสถานการณ์การ์ดในไทยกับกรณีศึกษาการเรียกร้องสิทธิพลเมืองของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ในช่วงทศวรรษเจ็ดศูนย์ถึงแปดศูนย์ เมื่อครั้งที่ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ขึ้นมาบัญชาการขบวนเคลื่อนไหวดังกล่าวในสหรัฐฯ หลังเหตุการณ์ที่ 'โรซา พาร์คส์' ถูกจับกุมหลังไม่ยอมสละที่นั่งบนรถเมล์ให้กับคนขาว กระบวนการอารยขัดขืนที่เป็นการท้าทายกฎหมายเหยียดสีผิวในขณะนั้นจำเป็นต้องถูกขับเคลื่อนที่กลุ่มคนที่ถูกฝึกมาแล้วอย่างดี

"สิ่งที่มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ทำคือเอาคนมานั่งในร้านอาหารหรือรถเมล์ที่เป็นที่นั่งของคนผิวขาว ทีนี้อยู่ๆ คุณจะเอาคนไปนั่งในจุดนั้นไม่ได้ มันผิดกฎหมาย แล้วคุณก็จะโดนรุมกระทืบจากคนขาวที่อยู่ในร้านอาหารหรือรถเมล์ คุณจะโดนคนขับรถเมล์ไล่ลงจากรถ แล้วถ้าคุณไม่ยอมคุณจะทำยังไง ถ้าคุณถูกเขาลากถูลงจะทำยังไง ฉะนั้น คนที่จะไปนั่งในร้านอาหารหรือบนรถเมล์ ถูกคัดเลือกมาแล้วว่าเป็นคนจิตแข็ง"

มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ - เอเอฟพี
  • มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ในขบวนประท้วงมุ่งหน้า 'วอชิงตัน ดีซี' วันที่ 28 ส.ค. 2506 (1963) 

กรณีดังกล่าวสอดคล้องกับสถานการณ์ของในปัจจุบันอย่างมาก เนื่องจากเงื่อนไขของชาวแอฟริกัน-อเมริกันขณะนั้นคือต้องไม่ใช้ความรุนแรงกลับ เพื่อเปิดช่องให้รัฐมีความชอบธรรมในการปราบปรามที่ไม่ชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกัน หากการ์ดราษฏรไม่สามารถควบคุมกระบวนทัพตนเองให้อดทนต่อการยั่วยุจากกลุ่มตรงข้ามหรือแม้แต่การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ก็อาจเป็นชนวนเหตุให้ขบวนการเคลื่อนไหวเดินไปไม่ถึงชัยชนะเช่นเดียวกัน

"สมมติว่ามีการยั่วยุกันบนถนน เสื้อเหลืองมาแล้วการ์ดหมั่นไส้มากๆ แล้วมีการทำร้ายกลับ แล้วมีการชุลมุนปะทะกันของสองฝ่าย อันนี้คือเข้าทางฝ่ายชนชั้นนำ ฝ่ายผู้มีอำนาจ เขารอจังหวะนี้อยู่แล้วที่จะประกาศกฎอัยการศึกเพื่อทำรัฐประหาร"


อำนาจ-สะพาน-ทางลง

เมื่อกลับมาสู่รูปขบวนภาพใหญ่ อาจารย์รัฐศาสตร์หญิง เสนอให้ทั้งองคาพยพลองมองการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการ มากกว่าเป็นเพียงการแสดงอารมณ์ความรู้สึกไม่พอใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่หากจะยกระดับไปสู่ความสำเร็จ จำเป็นต้องยกระดับกระบวนทัพซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการวางยุทธศาสตร์องค์กร 

ไม่เพียงม็อบต้องคำนวณว่าจะชุมนุมและเดินหน้ากันต่อแบบใด แต่ต้องพิจารณาไปถึงว่า หากอยากจะแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ต้องทำอย่างไร ต้องมีกลยุทธ์แบบไหน สมาชิกวุฒิสภาหรือพรรคร่วมรัฐบาลถึงจะยอมเปลี่ยนใจ

"ยิ่งด่าเขายิ่งไม่เปลี่ยนใจ มันต้องหาว่าทำยังไงคนเหล่านี้ถึงจะรู้สึกว่าอำนาจไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลอีกต่อไป ต้องแสดงให้เห็นอำนาจของผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นอำนาจที่ไปพ้นกว่าการระบายความรู้สึกไม่พอใจ จะบรรลุเป้าหมายได้ ต้องคิดถึงเรื่องอำนาจให้ชัดเจน คนที่เห็นภาพใหญ่ของการประท้วงถึงจะเห็นว่า เราได้อำนาจถึงไหนแล้ว แล้วถึงจุดไหนถึงจะพอแล้วต่อรองได้" 

กระบวนการข้างต้นยังไปเชื่อมผสานกับวิธีการได้มาซึ่งมวลชนฝ่ายที่เห็นต่าง ผศ.ดร.จันจิรา ชี้ว่า วิธีทำงานของกระบวนการทางการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นในรูปแบบว่า "ฉันเปิดหูเปิดตาคุณแล้ว คุณต้องตาสว่างกับเรา" เพราะการเมืองเป็นเรื่องของวิธีการเล่าความจริงไปจนถึงความฝันของสังคม 

ม็อบ 27 พ.ย. เป็ดเหลือง 4.jpg

ที่ผ่านมา ฝั่งประชาธิปไตยมีภาษาพูดชุดหนึ่ง ขณะอนุรักษนิยมมีภาษาอีกชุด ซึ่งบางทีการใช้ภาษาฝั่งตัวเองไม่สามารถโน้มน้าวฝ่ายตรงข้ามได้ อ.รัฐศาสตร์ แนะนำว่า หากลองไปนั่งพูดกับเหล่าอนุรักษนิยมที่ยัง "มีสติ" อยู่บ้างจะพบว่าแท้จริงแล้ว แนวคิดอาจไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ เพียงแต่ภาษาที่ใช้เป็นคนละชุด "เพราะว่าโลก เรื่องเล่าที่กำกับชีวิตเรามันคนละเรื่อง" ซึ่งทางออกของการแก้ปัญหาดังกล่าวในทัศนะของ ผศ.ดร.จันจิรา คือหาการสื่อสารที่ไม่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกโดนเหยียบย่ำสิ่งที่รัก 

เธอยกตัวอย่างว่า ในความพยายามผลักดันเรื่องการต่อสู้เพื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงนั้น เริ่มต้นกันมาจากการบุกเข้าไปทำลายโรงเก็บอาวุธนิวเคลียร์บ้าง ไปทำร้ายทรัพย์สินอื่นบ้าง ท้ายสุดไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ทว่าเมื่อเริ่มมีการหาแนวคิดร่วมที่ทั้งฝ่ายทำธุรกิจได้ประโยชน์ ฝ่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ประโยชน์ จึงเกิดเป็นแนวนโยบายที่เรียกว่า 'เศรษฐกิจสีเขียว' (green economy) ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่ต้องมาต่อสู้กันว่าฝั่งหนึ่งได้ฝั่งหนึ่งเสีย 

ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการรัฐศาสตร์ จึงอยากเสนอแนะให้ทั้งฝั่งประชาธิปไตยและอนุรักษนิยมพยายามหาจุดร่วมดังกล่าวให้มากขึ้น โดยเธอชี้ว่า ณ วันที่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ ผู้สวมหัวโขนปัญญาชนสยามมาร่วมชุมนุมและปราศรัยกับคณะราษฏร ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในความพยายามเชื่อมสะพานของ 2 โลกเข้าด้วยกัน และย้ำว่าท่าทีดังกล่าวไม่ใช่การประนีประนอมแต่อย่างใด

ส.ศิวรักษ์ ม็อบ ราษฎร 1.jpg
  • สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์

"เราไม่ได้ประนีประนอม แต่โลกนี้มันดำเนินการด้วยภาษา ถ้าคุณไม่สามารถสื่อสารกับอีกฝั่งนึงได้ คุณก็จะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเขาคิดคล้ายกับเรา คนที่จะสื่อสารกับอีกฝั่งได้มากหน่อยคือคนอย่าง ส. ศิวรักษ์ ที่พูดอะไรแล้วฝ่ายอนุรักษนิยมที่ปราบปลื้มในรัชกาลที่แล้วฟัง แล้วคุณต้องเห็นว่ามันมีสองเฉดนี้ชัดเจน คือ อนุรักษนิยมที่โอเคกับรัชกาลที่แล้ว กับอีกฝั่งที่โอเคกับรัชกาลนี้"

นอกจากมองหาอำนาจต่อรองและเชื่อมสะพาน 2 โลกแล้ว ม็อบยังต้องพิจารณาถึงทางลงของตัวเองเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อเงื่อนไขหลักยึดโยงอยู่กับข้อเรียกร้อง 3 ประการ ผศ.ดร.จันจิรา เสนอว่า เนื่องจากข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมที่ต้องอาศัยระยะเวลาและการทำความเข้าใจกับฝ่ายที่เห็นต่าง ดังนั้น จึงควรมองการต่อสู้เป็นซีรีย์ ไม่มองเป็นหนังม้วนเดียวจบ 

เท่านั้นยังไม่พอ ผู้ชุมนุมต้องตระหนักว่าตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมานั้น การดันเพดานนับเป็นความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญมากซึ่งนับเป็นคุณูปการในการเปิดทางในคนรุ่นหลังมาสานต่ออย่างแน่นอน จากวันที่การพูดเรื่องสถาบันสูงสุดของประเทศเป็นเรื่องต้องห้ามสู่การวิพากษ์ได้ในพื้นที่สาธารณะ ผศ.ดร.จันจิรา ย้ำว่า สิ่งดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันมองให้เห็นเป็นความสำเร็จแม้สังคมจะยังไม่เห็นข้อเรียกร้องที่ 3 ในเชิงรูปธรรมก็ตาม 

"การต่อสู้มันไม่ควรดูเป็นหนังม้วนเดียวจบ มันควรดูเป็นซีรีย์ เมื่อเป็นซีรีย์ควรมีจุดจบซีซั่น จุดจบตอน ทำอย่างไรให้จบตอนนี้แล้วทุกคนรู้สึกภูมิใจพร้อมๆ กัน หาภาษาที่จะทำให้เขาเห็นว่ามันเปลี่ยนแล้ว ไม่ใช่เปลี่ยนแค่เราพูดเรื่องนี้ได้ แต่มันเปลี่ยนถึงวิธีคิดเรื่องอำนาจของคนไทยต่อสถาบัน ว่าจริงๆ สถาบันไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกับชีวิตเรา เราตั้งคำถามได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราทำมันด้วยความไม่เคารพ แต่ทำมันด้วยความรู้สึกว่าประชาชนกับชนชั้นนำต้องตรวจสอบกันได้" ผศ.ดร.จันจิรา ทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง