ไม่พบผลการค้นหา
ซี จันทนา วรากรสกุลกิจ’ อดีตนักโทษหญิงคดีความมั่นคง ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2557 ที่ห้องพักใน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร หลังการประกาศกฎอัยการศึกเพื่อเตรียมการรัฐประหารเพียง 1 วัน จากเหตุการณ์นั้นถูกตั้งข้อหาหนัก ทั้งคดีครอบครองอาวุธสงคราม คดีร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และคุกได้กลืนกินเวลาชีวิตของเธอไปกว่า 7 ปี หากย้อนไปไกลกว่านั้น เธอคือผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้าไปแย่งปืนเจ้าหน้าที่ทหารในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553  อะไรกันที่ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งเดินทางมาสู่จุดนี้ได้ จุดที่เปลี่ยนชีวิตเธอไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

ที่บ้านหลังหนึ่งอยู่ห่างจากเมืองจันทบุรีมาราวๆ 1 ชั่วโมง เธอเล่าว่า หลังจากพ้นโทษออกจากเรือนจำมาตั้งแต่ปีก่อน เธอคิดเสมอว่า อยากจะกลับมาใช้ชีวิตที่นี่อีกครั้ง เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ความทรงจำที่สำคัญสำหรับเธอ ในช่วงหนึ่งของชีวิตเธอเคยย้ายมาอยู่ที่นี่กับ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ ”ภูชนะ” ผู้ลี้ภัยการเมืองหลังการรัฐประหารปี 2557 ซึ่งต่อมาถูกพบเป็นศพถูกผ่าท้องยัดด้วยแท่งปูน ลอยขึ้นมาจากแม่น้ำโขง

เธอเพิ่งเดินทางกลับมาที่นี่ได้ไม่นานนัก ใช้เวลากว่า 2 สัปดาห์ในการจัดการบ้านหลังเล็กติดถนนให้เข้าที่เข้าทาง หลังถูกปล่อยทิ้งร้างมานานหลายปี 

ทั้งตัดหญ้าที่รกร้างอยู่รอบบ้าน ทั้งทำกำแพงบ้านใหม่จากไม้ไผ่ ไปจนถึงทาสีบ้านใหม่ วันที่เราไปถึง เธอเล่าด้วยความภูมิใจว่า สภาพบ้านตอนนี้ใกล้จะสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เธอทำทุกอย่างด้วยตัวเอง กับเพื่อนรุ่นน้องที่แวะเวียนมาช่วยเหลือในบางเวลา 

7B0BA837-C796-4B4D-8866-DEB53BF71649.jpeg


น้องคนสุดท้อง-งานบ่อน-คนเสื้อแดง

ซีในวัย 52 ปี ทบทวนเรื่องราวในวัยเด็ก เธอเติบโตมาในครอบครัวคนจีนในย่านพระราม 4 มีพี่ชายทั้งหมด 3 คน เป็นลูกผู้หญิงเพียงคนเดียว-คนสุดท้อง 

ในจุดเริ่มต้นของชีวิตที่ทำให้เธอได้รู้จักกับคำว่า “สองมาตรฐาน” ตัวอย่างง่ายๆ ที่เธอชี้ให้เห็นได้เริ่มจากในบ้านเธอเอง 

ลูกชายทุกคนจะได้นอนบนเตียง ส่วนลูกสาวนอนพื้น หน้าที่หลักที่เธอจำได้คือ การหาบน้ำมาใส่ถังให้พี่ชาย 3 คนอาบ และแค่จะออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อนก็ทำไม่ได้กลับมาจะถูกแม่ตี เพราะต้องทำงานบ้านให้เสร็จ แต่ลูกชายสามารถออกไปเล่นได้

การโตมาแบบนี้ทำให้เธอรู้สึกว่า ไม่อยากเป็นผู้หญิง อยากเก่ง อยากเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อให้แม่ยอมรับ เพื่อที่จะได้รับความรักจากแม่

อีกเรื่องที่เธอจำได้ดีคือ การถูกห้ามไม่ให้เรียนต่อ ก่อนหน้านั้นเธอแอบขโมยทะเบียนบ้านออกมาเพื่อใช้เป็นเอกสารสำหรับการสมัครสอบเข้าเรียน เธอสอบเข้าเรียนได้ แต่เมื่อกลับไปบ้านบอกแม่ก็ได้รับคำตอบว่า ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียนสูง 

เธอร้องไห้อยู่หลายวัน จนสุดท้ายต้องไปขอยืมเงินอากู๋ 3,000 บาท เพื่อไปสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนการศึกษาผู้ใหญ่เขตปทุมวัน เมื่อเรียนจบ เธอไปสอบเทียบชั้น ม.6 สอบผ่านทุกวิชายกเว้นภาษาอังกฤษ นั้นจึงทำให้เธอไม่มีวุฒิการศึกษาสำหรับสมัครเข้าทำงานแบบคนทั่วไป

แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับเธอ ถึงจะไม่ได้เรียนในระบบ แต่เธอก็สามารถหาความรู้ได้เองจากการอ่าน และการพูดคุยกับคนที่มีความรู้ ส่วนเรื่องการทำงานในช่วงวัยสาว เธอผ่านการทำงานมาหลากหลาย หนึ่งในนั้นรวมถึงธุรกิจสีเทาด้วย เปิดบ่อน รับหวย โต๊ะบอล และในช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้ธุรกิจสีเทา ที่ทำให้เธอเริ่มสนใจการเมืองขึ้นมาบ้าง

“ตอนที่ทำงานในบ่อน จะมีพวกนายทหารยศใหญ่ๆ เข้ามาเล่น มันก็จะเล่าเรื่องวงในหลายเรื่องตั้งแต่ยุคสุจินดา (คราประยูร) แล้วเราก็ไม่เคยศรัทธานักการเมืองตั้งแต่ตอนนั้น เพราะไม่ว่าใครเข้ามามันก็เข้ามาก็ไม่มีความจริงใจ มาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ แต่พอมาในปี 49 ที่ทักษิณถูกรัฐประหาร แม้เราจะไม่ศรัทธานักการเมือง แต่เราก็เห็นว่าไอ้ผู้ชายคนนี้มันทำจริง”

ช่วงเวลาที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำ ทำให้เธอได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ในเรื่องใกล้ตัวเธอยกตัวอย่างถึงนโยบายปราบปรามยาเสพติด ขณะที่อาศัยในแฟลตย่านดอนเมือง ก่อนหน้านั้นภาพชินตาในช่วงกลางคืน เธอจะพบเห็นวัยรุ่นเสพยา ส่งยากันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมาหลายเรื่องทั้งปล้นชิงวิ่งราว ลักเล็กขโมยน้อย แต่เมื่อทักษิณเป็นนายกฯ ภาพชินตาเหล่านี้ก็ค่อยๆ หายไป

นอกจากนี้ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เธอว่า ก่อนหน้านี้ประชาชนเป็นผู้เสียภาษี แต่ไม่เคยรู้สึกว่ามีอะไรกลับมาเป็นชิ้นเป็นอันเลย แต่นโยบายนี้ทำให้คนจ่ายภาษีได้ใช้เงินที่ตัวเองเสียไป

“เรารู้สึกว่าไอ้นักการเมืองคนนี้มันเข้าท่า เราก็เลยศึกษามากขึ้น จนเขาถูกรัฐประหาร เราก็รู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง เราไม่ชอบพวกพันธมิตรเลย เราเคยไปฟังม็อบพันธมิตรครั้งหนึ่ง แล้วเราก็รู้สึกว่าสิ่งที่มันด่า กับสิ่งที่ไอ้ทักษิณมันทำ มันขัดแย้งกัน เราก็เลยไม่ฟังมัน ไร้สาระ เราเลยเดินออกมา”

“แต่พอเราเข้าไปในม็อบเสื้อแดง มันกลับทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เขาพูดมันมีประโยชน์ มันพูดเรื่องประชาชน พูดเรื่องประชาธิปไตย ช่วงนั้นเราก็อยากจะรู้อะไรมากกว่านี้ เราก็ไปม็อบทุกวัน ชอบเข้าไปนั่งคุยกับชาวบ้าน อยากรู้ว่าทำไมเขาถึงมาม็อบ เขาก็เล่าให้ฟัง เราก็เก็บข้อมูลมาเรื่อย เริ่มเห็นปัญหามาเรื่อยๆ” 

ซีพูดออกมาด้วยว่า การเข้าไปอยู่ในม็อบเสื้อแดงค่อยๆ เปลี่ยนชีวิตที่เรียบง่าย จำเจไปสู่ชีวิตที่รู้สึกว่า มีคุณค่ามากขึ้น 

“พอเราก้าวขามาเป็นคนเสื้อแดง เราเริ่มรู้สึกว่าชีวิตเรามีคุณค่า การทำอะไรเพื่อคนอื่นๆ มันทำให้เรารู้สึกดี ชีวิตเริ่มมีความตื้นเต้น จากที่ใช้ชีวิตแบบหายใจทิ้งไปวันๆ แต่พอมาเป็นเสื้อแดงมันเริ่มหลายอย่างเข้ามาท้าทายชีวิต พอเราเริ่มศึกษา เริ่มรู้ลึก มันยิ่งทำเรารู้สึกว่า เราต้องออกมาช่วยเขา”

ซียอมรับว่า ตอนเป็นคนเสื้อแดงใหม่ๆ ยังไม่รู้จักกับคำว่า “ตาสว่าง” แต่เมื่อตั้งคำถามมากขึ้น จึงเริ่มศึกษาหาความจริงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าใจ

จันทนา วรากรสกุลกิจ

10 เมษาฯ เปลี่ยนชีวิต - ปลิดชีพเสธ.แดง ฟิวส์ขาด

ซีเข้ารวมการชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงเรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2553 ที่ประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะเห็นว่าที่มาของการจัดตั้งรัฐบาลขาดความชอบธรรม และมีข้อครหาว่ามีการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร นำไปสู่การโหวตให้อภิสิทธิ์ขึ้นเป็นนายกฯ ซึ่งได้รับการยืนยันจากปากของสุเทพ เทือกสุบรรณ เองว่าเขาเองเป็นคนเดินสายเจรจากับพรรคการเมืองต่างๆ จนทำให้อภิสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนเป็นนายกฯ 

12 มี.ค. 2553 คือวันแรกที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ประกาศนัดชุมนุมเป็นวันแรก ข้อเรียกร้องในเวลานั้นต้องการให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ พร้อมให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กลับมาใช้อีกครั้ง

การตอบสนองข้อเรียกร้องในการชุมนุมครั้งนี้ของรัฐบาลคือ การอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้นเมื่อวันที่ 7 เม.ย. โดยห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน เพียง 3 วันหลังจากนั้น ซี ได้พบเห็นภาพที่ทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปตลอดกาล ภายใต้ปฎิบัติการสลายการชุมนุม ที่ถูกเรียกชื่อใหม่ว่า “ขอคืนพื้นที่” โดยใช้กำลังทหารเข้าปฎิบัติการ

“10 เม.ย. วันนั้นเราอยู่ในเหตุการณ์ ตอนนั้นเรามีแค่ก้อนหิน ขวดน้ำ และผ้าเปียกผืนหนึ่งเอาไว้กันแก๊สน้ำตา จำได้ว่า อริสมันต์ (พงษ์เรืองรอง) เป็นคนประกาศให้ผู้ชุมนุมไปรวมกันที่แยกคอกวัว เราก็ไปลุยกับเขา มีก้อนหินเราก็ขว้างไปฝั่งทหาร แต่สักพักฝั่งเขาเริ่มใช้กระสุนจริง เราก็วิ่งหลบตามซอกตามมุม จนเราได้เห็นศพคนตายครั้งแรก จำได้ว่าชื่อ วสันต์ ภู่ทอง นอกจากนี้ยังมีอีกหลายศพที่ถูกยิงที่หน้าผาก เราก็นำเรียงศพเขาขึ้นไปบนเวที เลือดวสันต์ที่ไหลผ่านขาเรา เราลืมมันไม่ได้ มันทำให้เรารับรู้ความรู้สึกของคนตาย ตอนนั้นเรารับปาก บอกกับพวกเขาว่าเราจะสู้ เพื่อทวงคืนความเป็นธรรมให้เขาจนกว่าชีวิตจะหาไม่” 

เธอเอ่ยวาจารับปากกับศพเพื่อนผู้ชุมนุม ด้วยความรู้สึกเศร้าและโกรธแค้น เพราะคนที่ตายในวันนั้นไม่มีใครมีอาวุธอยู่ในมือ และข้อเรียกร้องของพวกเขาต้องการเพียงแค่การยุบสภาเลือกตั้งใหม่ 

“มันเริ่มมันตั้งแต่วันที่ 10 ที่ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยน ความนึกคิดเปลี่ยนไม่เหมือนเดิม แล้วยิ่งวันที่เสธ.แดงถูกยิง มันยิ่งปลุกไฟในตัวเอง มันยอมไม่ได้ มันอยากเอาคืน ทำไมวะ ทำไมพวกเราต้องถูกฆ่า”

แน่ละ การสวมเสื้อสีแดงครั้งนี้ ได้ถมบาดแผลและความแค้นลงไปในหัวใจของผู้หญิงคนหนึ่งจนเปี่ยมล้น 

“หลังเหตุการณ์สลาย เรากินข้าวไม่ได้เป็นอาทิตย์เลยเชื่อไหม กินแล้วมันมาจุกอยู่ที่คอ แล้วก็นั่งร้องไห้จนเพื่อนบอกว่า มึงต้องออกไปข้างนอกบ้าง เราไม่คิดว่าชีวิตจะมาเจอกับเหตุการณ์แบบนี้” 

ซีย้ำถึงเหตุการณ์ที่เสธ.แดงถูกลอบสังหารว่า เป็นสิ่งที่ทำให้เธอสติแตก และเริ่มไม่มีความกลัวอะไรอีกต่อไป พร้อมแลก พร้อมชน และเธอพยายามทำทุกอย่างเพื่อปกป้องมวลชนและตอบโต้ความรุนแรงจากฝ่ายรัฐ เธอเริ่มจากการทำระเบิดขวดง่ายๆ เพราะคิดว่าอย่างน้อยก็ถือว่าเป็นอุปกรณ์ป้องกันตัวหากมีการเข้าสลายเกิดขึ้น

“หลังจากที่เสธ.แดงถูกยิงตาย เราคิดว่าเราไม่รอดแล้ว เพราะหลังจากนั้นมันหนึ่งวันก็เกิดภาพผู้หญิงแย่งปืน ตอนนั้นเหตุมันเกิดที่ซอยหมอเหล็ง มีการตั้งด่านตำรวจ เราก็ลงไปเลย เลือดมันขึ้นหน้า เราก็ถามว่าพวกมึงจะมากั้นทำเหี้ยอะไรกูเข้าไม่ได้ เราก็ด่าจนตำรวจกระเจิง หลังจากนั้นทหารก็เข้ามา ตอนนั้นอารมณ์มันพาไป เพราะเราเห็นทหารมันทำท่าเล็งปืน เราก็เลยวิ่งเข้าไปแย่ง แต่ก็ทำอะไรเขาไม่ได้หรอก เราไปคนเดียว เขามากันหลายคน”

ก่อนวันทหารปิดเกม ซีเล่าว่าช่วงเวลานั้นเธอไม่ได้คิดถึงชีวิตแล้ว เธอพาตัวเองไปอยู่แถวศาลาแดง พอเสียงปืนดังขึ้น เธอทำได้เพียงหลบ และวิ่งหนี แต่ผู้ชายคนหนึ่งที่วิ่งตีคู่มากับเธอถูกยิงจนล้มลง เธอจึงก้มหลบใต้โต๊ะที่เสธ.แดงเคยนั่ง และทำได้เพียงแค่มองเห็นชายคนดังกล่าวร้องขอความช่วยเหลือ และสิ้นลมไปต่อหน้า

“คนที่กำลังจะตาย ปากเขาพะงาบๆ ว่าช่วยด้วยๆ เราก็เอื้อมไปสุดมือ แต่ไม่สามารถช่วยเขาได้ และเรารู้สึกติดค้างมาถึงทุกวันนี้” 

เธอหลบอยู่จนกระทั่งเสียงปืนเงียบลง จนมีคนมาพาเธอออกมา เธอว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ต่างจากการหนีตาย และเมื่อได้รับรู้ สัมผัสกับตัวเองโดยตรง ทำให้เกิดการซึมซับ จนกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดการต่อต้านอย่างสุดกำลัง

จันทนา วรากรสกุลกิจ

การต่อสู้หลังสลาย

ซี เล่าว่าหลังจากผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากทางจิตใจ เธอเริ่มมีความคิดที่เปลี่ยนไป เริ่มเดินสายพบปะพูดคุย ระหว่างที่กำลังก่อรูปแนวทางการต่อสู้ของตัวเอง เธอจะไปร่วมชุมนุมเวทีย่อยในฐานะมวลชนด้วยแทบทุกครั้ง หรือแม้กระทั่งในปี 2554 ที่มีน้ำท่วมใหญ่ เธอก็เข้าเป็นช่วยเหลือผู้ประสบภัย ร่วมกับกลุ่มเพื่อนๆ เสื้อแดงที่รู้จักกัน ไม่ว่าจะมีงานอะไรที่ต้องการความช่วยเหลือ ถ้าไม่เหนือบ่ากว่าเเรง เธอพร้อม เท่าที่กำลังของเธอจะทำไหว 

ช่วงที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เธอเชื่อว่าอีกไม่นานจะต้องมีการรัฐประหาร และหากมีการรัฐประหาร เธอในฐานะประชาชนจะไม่ยอมนิ่งเฉย 

เธอไม่ได้ต้องการปกป้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่เธอต้องการปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 

“ในเมื่อกองกำลังของรัฐอยู่ตรงข้ามกับประชาชน ประชาชนก็ควรลุกขึ้นสู้ด้วยตนเอง ถ้ามึงเห็นว่าโจรกำลังจะเข้ามาปล้นบ้าน มึงจะยอมไหม จะบอกไหมว่าเชิญค่ะ เข้ามาเลย กูคนหนึ่งละที่ไม่ยอม”

กระทั่งการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2557 เธอถูกเจ้าหน้าที่บุกเข้าจับกุมที่ห้องพักในช่วงเช้าของวันที่ 21 ในข้อหาครอบครองอาวุธสงครามที่พบในอีกห้องพักหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ห้องพักของเธอ หลังจากนั้นเธอถูกตั้งข้อ กล่าวหาอื่นๆ ตามมา รวมทั้งหมด 3 คดี 3 ศาล

“ในเมื่อเราพยายามเรียกร้องหาความเป็นธรรม แต่มันไม่เคยได้เลย มีแต่ตายแล้ว ตายอีก เจ็บแล้วเจ็บอีก ติดคุกแล้ว ติดคุกอีก”

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เธอถูกดำเนินคดีในข้อหาครอบครองอาวุธถึง 3 คดี ได้แก่ คดีของศาลอาญา ศาลจังหวัดตราด และศาลจังหวัดลพบุรี โดยเฉพาะคดีที่ศาลจังหวัดตราด ซีถูกกล่าวหาในข้อหาร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน รวมทั้งเป็นอั้งยี่ด้วย โดยถูกเชื่อมโยงกับคดีก่อเหตุยิงเวที กปปส. จังหวัดตราด 

ในคดีของศาลอาญา ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาจำคุก 27 ปี 9 เดือน และปรับ 6,000 บาท ซีให้การเป็นประโยชน์ ศาลจึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 18 ปี 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท แม้ว่าจะต่อสู้ว่า อาวุธสงครามของกลางในคดีไม่ได้ถูกยึดในห้องพักของจำเลย และไม่มีการพิสูจน์ว่า มีลายนิ้วมือของเธออยู่ที่ของกลาง 

ขณะที่คดีของศาลจังหวัดตราดนั้น ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีอย่างไร จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง

ส่วนคดีของศาลจังหวัดลพบุรี ซึ่งซีถูกซัดทอดจากอดีตทหารพรานที่ถูกจับกุมก่อนหน้าพร้อมอาวุธสงครามที่บ้านพักในจังหวัดลพบุรี ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง ระบุว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐาน มีเพียงคำซัดทอดของพยาน มีเหตุควรสงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กลับคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 4 ปี 24 เดือน

อย่างไรก็ดี ซีถูกคุมขังใน 4 เรือนจำ รวมเวลา 7 ปี 3 เดือน 10 วัน โดยหลังถูกจับกุมเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2557 เธอถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ก่อนถูกย้ายไปที่เรือนจำจังหวัดตราดในเดือน ส.ค.  2560 ต่อมา หลังศาลจังหวัดตราดพิพากษายกฟ้องปลายปี 2561 ซีก็ถูกย้ายไปที่เรือนจำกลางลพบุรี กระทั่งก่อนพ้นโทษไม่นาน ซีถูกย้ายไปที่เรือนจำชั่วคราวแคน้อย จ.เพชรบูรณ์ เพื่อเข้าโครงการของกรมราชทัณฑ์และได้รับการปล่อยตัวที่นั่น ในวันที่ 30 ส.ค. 2564

(อ่านเรื่องราวภายในคุกของซีได้ที่นี่)

ข่าวร้ายจากคนรัก

แม้ความเป็นอยู่ภายในเรือนจำจะไม่สามารถทุบทำลายตัวตนของซีให้แตกสลายได้ ถึงอย่างนั้นก็ตาม มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่ทำให้เธอใจสลาย และไม่อาจกลั้นน้ำตา

ข่าวการเสียชีวิตของ 3 ผู้ลี้ภัยทางเมืองในประเทศลาว หนึ่งในนั้นคือ ภูชนะ คนรักของเธอ ตามที่ปรากฎในภาพข่าว สภาพศพของภูชนะถูกทุบจนหน้าเละ ถูกผ่าท้องและยัดด้วยแท่งปูน ห่อศพด้วยกระสอบป่านมัดด้วยเชือก และถ่วงศพไว้ในแม่น้ำโขง จนลอยขึ้นมาปรากฎเป็นข่าวระหว่างวันที่ 26-29 ธ.ค. ว่ามีศพลอยขึ้นมาจากแม่น้ำโขงขึ้นมาเกยฝั่งที่จังหวัดนครพนม

ซีรู้ข่าวนี้ในช่วงเดือน ก.ค. 2562 เพราะก่อนหน้านั้นไม่มีใครไปเยี่ยมและส่งข่าวให้เธอรับรู้ ต่อมาลูกชายของเธอเข้าไปเยี่ยมและเล่าให้ฟัง 

“แม่รู้หรือยังว่าลุงโต้ง (ภูชนะ) ถูกฆ่าตาย” ประโยคนี้เพิ่งคำเดียวที่ทำให้เธอน้ำตาไหลอยู่หลายเดือน นั่นเป็นเพราะเขาคือ หนึ่งในคนที่เธอคิดถึง ในวันที่ได้รับอิสรภาพสิ่งที่อยากจะทำคือการกลับไปกอดภูชนะอีกครั้ง แต่มันไม่มีทางเป็นไปได้อีกแล้ว

“วันไหนที่เราได้รับอิสรภาพ เขาคือคนที่เราอยากจะกอดแล้วร้องไห้ด้วยเต็มที่ ทุกวันที่ติดคุกก็บอกตังเองว่าต้องเข้มแข็งต้องอดทน วันไหนที่ได้เจอเขา ค่อยร้อง แล้วพอเรารู้ว่าเขาตายยังไง มันยิ่งแย่ กว่าจะผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ก็หลายเดือน”

“ทุกวันนี้คนที่ลี้ภัยอยู่ที่เราได้คุยกับเขา เขาอยากกลับบ้านเกิด เขาคิดถึงครอบครัว แต่เขาก็ไม่สามารถกลับมาได้ เราเองไปรับรู้ เราก็แย่ คนที่ตายก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม เวลาที่เราทำอะไรไม่ได้ มันอึดอัด แต่เราก็ทำอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาเราทำไปมากพอแล้ว ทุกวันนี้คิดถึงลูกให้เยอะๆ ตั้งใจทำมาหากิน แล้วก็ตั้งใจจะเขียนหนังสือสักเล่มเพื่อบันทึกเรื่องราวและเพื่อนๆ ที่ถูกลืม”

จันทนา วรากรสกุลกิจ

แดดร่มลมตก เวลาเย็นย่ำไล่เข้ามา เราพาเธอไปเดินจ่ายตลาดสำหรับกับข้าวมื้อเย็น เธอเลือกซื้อข้าวของไม่นานนัก ก็กลับมาที่บ้านหุ้งข้าว ทำอาหา บนโต๊ะกับข้าวมีอาหารที่เธอทำเองอยู่สองอย่างตามที่เกรินไว้ตอนต้น หมูคั่วเค็ม และต้มไก่บ้าน นอกจากนี้ก็มียำตีนไก่ที่ซื้อมาจากตลาด กับขนมหวาน

ในบ้านของเธอมีเพียงชุดโต๊ะรับแขกเล็กๆ หนึ่งชุด ในห้องนอนมีเตียงไม้กับที่นอน และมุ้งกันยุง ห้องครัวมีอุปกรณ์ทำครัวอยู่ชุดหนึ่งพอจะทำต้ม ผัด แกง ทอดได้ตามปกติ เราไม่เห็นทีวี แต่มีกีต้าร์ตัวเล็กวางอยู่ในห้องนอน

หลังมื้อเย็นผ่านไป ฟ้าเริ่มมืด อากาศเย็นลงหลายองศา เราหันไปพูดคุยจิปาถะ ถามเธอว่าเล่นกีต้าร์ได้ไหม เธอว่าเล่นไม่เก่ง แต่จะเล่นให้ฟัง 

เพลงที่เธอเล่นคือเพลงสายชล ของจันทนีย์ อุนากูล มันเป็นเพลงของความคิดถึง ที่ไม่เคยบอกว่าคิดถึงแม้แต่คำเดียว