ไม่พบผลการค้นหา
คุกไทยยังคงเป็นแดนสนธยา การจะจินตนาการถึงคุณภาพชีวิตภายในนั้นอาจจะเป็นเรื่องยากพอสมควร หากไม่ได้มีโอกาสเข้าไปประสบพบเจอกับมันด้วยตัวเอง แม้ในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานปลายน้ำของกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างเรือนจำ จะพยายามปฏิรูปตัวเองเพื่อเสริมส่งคุณภาพชีวิตให้กับผู้ต้องขังบ้างแล้ว แต่ดูเหมือนว่ายังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต่ำกว่าเส้นมาตรฐาน หากขีดเส้นนั้นว่า “คุณค่า และศักดิ์ของความเป็นมนุษย์”

แนวคิดว่าด้วยเรื่องการคุมขังนักโทษของไทย ได้รับการยืนยันจากหลายชีวิตเป็นเสียงเดียวว่า คุกไม่ได้จำกัดเพียงอิสรภาพเท่านั้น แต่ที่นั้นคือ สถานที่แห่งการลดทอนความเป็นมนุษย์ไปพร้อมๆ กัน จากรุ่นสู่รุ่น เรื่องเล่าจากคุกของผู้คนที่จำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ในนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก

หากเฉพาะจงเจาะที่คุกหญิง สถิติจำนวนผู้ต้องขังจากกรมราชทัณฑ์สำรวจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 พบว่า มีผู้หญิงที่ติดคุกอยู่ทั้งหมด 31,169 ราย แม้ตัวเลขจำนวนผู้ต้องขังจะลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกปี แต่ตัวเลขก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่การันตีว่า คุณภาพชีวิต และศักดิ์ความเป็นมนุษย์ของพวกเขาจะดีขึ้นตามไปด้วย 

‘วอยซ์’ พูดคุยกับ 2 หญิงนักสองผู้มีชะตาชีวิตพาดผ่านกับเรือนจำ จากผู้หญิงแย่งปืนทหารเมื่อปี 2553 กับนักกิจกรรมหญิงผู้ ถูกสั่งขังระหว่างพิจารณาคดี ม.112 พวกเธอเคยติดคุกในช่วงเวลาที่แตกต่าง ทว่าเรื่องราวของทั้งคู่กลับสอดรับจนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน 

จันทนา วรากรสกุลกิจ


“มันเป็นอะไรที่แปลกใหม่ และเราต้องอยู่กับมันให้ได้” ปากคำจากอดีตนักโทษหญิงคดีความมั่นคง 

เมื่อมองย้อนกลับไปวันแรกซึ่งรู้ตัวแน่ชัดว่า ทิศทางที่ชีวิตกำลังมุ่งหน้าไปคือ เรือนจำ สิ่งแรกที่คนอย่าง ซี จันทนา วรากรสกุลกิจ อดีตนักโทษการเมืองคดีความมั่นคง (ถูกจับกุมในปี 2557 ก่อนหน้าการรัฐประหารเพียง 1 วัน พ้นโทษกลางปี 2564 ) ห้วนคิดถึงมันคือ การทำความเข้าใจกับสถานะที่เป็นอยู่ และกำลังจะเผชิญ แน่นอนด้วยแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองที่เธอเลือกได้ฉายภาพปลายทางที่แย่ที่สุดไว้แล้ว ถ้าเธอไม่ตาย ก็หลบหนีไปใช้ชีวิตในป่าเงียบๆ แม้การติดคุกไม่ได้เป็นสถานการณ์ที่ถูกประเมินไว้ เธอก็ใช้เวลาเพียงหนึ่งคืนเท่านั้นสำหรับการจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง 

“มันเป็นอะไรที่แปลกใหม่ และเราต้องอยู่กับมันให้ได้” คำตอบหนักแน่นออกมาจากปากของหญิงวัย 52 ปี 7 ปี 10 เดือน 3 วัน คือเสี้ยวหนึ่งของชีวิตที่ถูกกักขังอยู่ภายในคุกหญิง ในเชิงกายภาพแม้คุกจะถูกออกแบบมาเพื่อจำกัดอิสรภาพ เสรีภาพ และลดทอนความเป็นส่วนตัวมากแค่ไหนก็ตาม แต่ในช่วงวัย 40 กลางๆ ของหญิงเสื้อแดงคนนี้ ไม่มีอะไรที่ปรับตัวไม่ได้  

แม้จะทำใจและพยายามปรับตัวเพื่อจะมีชีวิตในคุกให้ได้ แต่เธอยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า วันแรก ไม่สามารถอาบน้ำได้ทันเวลา เนื่องจากระยะเวลาในการอาบน้ำที่เรือนจำมีให้กับผู้ต้องขังมีประมาณ 3 นาที หลังจากนั้นจึงเริ่มต้นเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตในคุกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการกิน อาบน้ำ ขับถ่าย และอื่นๆ โดยเรียนรู้จากการสังเกตการใช้ชีวิตของผู้ต้องขังที่อยู่มาก่อนหน้า เธอใช้เวลาเพียง 1 วัน สำหรับการเรียนรู้ทำความเข้าใจ เมื่อเข้าสู่วันที่ 2 การใช้ชีวิตภายในนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยาก

“วันแรกไม่ซึมเลย แต่ก็มีน้ำตาไหลบ้างตอนสวดมนต์ พอดีเราผมยาวก็ปัดผมมาบังไม่ให้ใครเห็น สงสัยตอนนั้นจะซึ้งในรสพระธรรม ปกติเราเป็นคนค่อนเข้มแข็ง ไม่ค่อยยี่หระกับอะไร เราผ่านความลำบากมาก”

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เธอมีปัญหาด้วยมากที่สุดระหว่างถูกกักขังอยู่ในเรือนจำคือ ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างผู้ต้องขัง กับผู้คุม เมื่อก้าวขาเข้าสู่ประตูคุกสิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือ การตรวจสอบร่างกาย และตรวจภายใน เพื่อค้นหายาเสพติด คำถามแรกที่เกิดขึ้นกับเธอคือ เรือนจำมีความจำเป็นอะไรในการตรวจภายในเพื่อค้นหายาเสพติด กับนักโทษคดีการเมือง แต่คำถามที่ใหญ่กว่านั้นคือ การเห็นผู้คุมปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง เหมือนไม่ใช่คน

“ตอนที่เข้าไป จะมีเจ้าหน้าที่มาซักประวัติ เราก็เห็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งอารมณ์ขึ้น เพราะเรามีบัตร นปช. ติดตัวมาด้วย มันก็ใช้ตีนเขี่ยบัตรเรา ก็ถามว่า ทำไมทำต้องใช้เท้าเขี่ย มันก็พูดใส่เราว่า ก็มึงมันพวกเสื้อแดง”

“พอเราอยู่มาเรื่อยๆ ก็ถึงได้รู้ว่า เจ้าหน้าที่คนนี้ภาษาคนคุกเขาเรียกว่า ‘เจ็บ’ มันไม่ใช่เลือกปฏิบัติกับนักโทษการเมืองหรอก เขา ‘เจ็บ’ ในตัวอยู่แล้ว เคยเห็นนักโทษคดียาเขาเพิ่งเข้ามาแล้วเพิ่งเจาะหูเอาหลอดใส่ไว้ มันก็ไปดึงจนหูฉีกเลือดออก เราก็พยายามจะร้องเรียนเขาอยู่หลายครั้ง แต่เส้นเขาแข็งอยู่มาเรื่อยจนเกษียณไปเอง”

“กับเจ้าหน้าที่ที่มีอายุนักโทษเขาจะเรียกว่า แม่ แต่กับคนนี้ไม่ได้เลย ถ้าไปเรียกว่าแม่ เขาสวนทันทีเลย กูไปได้กับพ่อมึงตั้งแต่เมื่อไหร่ พูดแบบภาษาชาวบ้านคือ ร้าย”

จันทนา วรากรสกุลกิจ

ซี เล่าถึงปัจจัย 4 ภายในเรือนจำ เริ่มต้นจาก ‘อาหาร’ วันแรกที่เข้าไป เธอไม่รู้ว่าการอยู่ภายในเรือนจำสามารถสั่งซื้ออาหาร และรวมทั้งข้าวของเครื่องใช้พื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน ที่ส่งเข้ามาขายได้ แน่นอนเธอไม่มีเงินแม้แต่บาทเดียว นั่นหมายความว่าเทอจะต้องกิน ‘ข้าวหลวง’ ทุกมื้อ ทุกวัน ไปจนกว่าจะมีใครสักคนมาเยี่ยม และเปิดบัญชีให้เธอสำหรับซื้อของภายในเรือนจำ  2 เดือนกว่าคือเวลาที่เธออยู่ในคุกโดยไม่มีใครมาเยี่ยม จนกระทั่งมีนักข่าวประชาไทเข้าไปเยี่ยมเป็นคนแรก

“กินข้าวมื้อแรก คิดว่ากินน้ำเปล่า เราก็ว่าอยู่ทำไมนักโทษคนอื่นเขามีขวดน้ำปลา รสดี เครื่องปรุง บางทีเขาก็ทำน้ำพริก แต่เราก็ไม่ได้ไปขอใคร น้ำปลาสักหยดก็ไม่เคยขอ คือเราก็กินไปแบบนั้น และบอกตัวเองกับช้อนพลาสติกว่า นี่กูกินน้ำเปล่าอยู่เหรอวะ แต่เราก็ต้องกิน กินเพื่ออยู่”

"บางวันหันไปเห็นเด็กที่ติดคดียาเขากินขนมปัง โรยนมข้นหวาน โรยโอวันติน เราก็อยากกิน บางวันเจอคนสั่งไก่ต้มน้ำปลามากินเราเห็นก็นึกในใจกับตัวเองว่า ถ้าญาติกูมาเยี่ยมเมื่อไร จะกินให้หายอยาก แต่พวกเด็กๆ เขาก็มีน้ำใจนะ เจ๊เสื้อแดงกินไหม เขาชวนกิน แต่เราไม่ไปกินของเขา เพราะเราไม่ชอบขอใครกิน แต่ก็เล่นเอาแย่เหมือนกัน เวลาเขากินกันเราก็หันหน้าหนีซะ แล้วก็กินน้ำเยอะๆ"

ช่วงเวลาที่อยู่ภายในเรือนจำโดยไม่มีเงิน ซี ค้นพบว่าสามารถทำงานหาเงินภายในคุกได้ โดยการรับจ้างอำนวยความสะดวกเรื่องต่างๆ ให้กับผู้ต้องขังคนอื่นๆ 

“มีนักโทษอยู่คนหนึ่งจำชื่อไม่ได้ เขามีน้ำใจกับเรามาก คงเห็นว่าเราไม่มีใครมาเยี่ยม เพราะมันจะไม่การประกาศเสียงตามสายตลอดว่าวันนี้มีญาติใครมาเยี่ยมบ้าง ซึ่งเราไม่เคยมีใครมาเลย เขารู้เขาก็คอยมาถามว่า พี่ซี อยากได้อะไรไหม เพราะเขาเยี่ยมญาติบ่อย เขาก็จะออกเงินซื้อมาให้เราก่อนจนกว่าเราจะมีญาติมาแล้วค่อยใช้คืนเขา เราก็ปฏิเสธเขา จนเขาบอกว่าเอาอย่างนี้ดีไหม ให้เราซักเสื้อกล้าม กับผ้าเช็ดผมให้เขาอาทิตย์ละ 30 บาท เราก็เลยโอเค เพราะไม่อยากได้ของใครฟรีๆ”

หลังจากที่ได้รู้ว่าการอยู่ในคุกสามารถหาเงินได้โดยการรับจ้าง ซี ก็เริ่มทำงานทุกอย่างที่จะทำให้ได้เงิน เงินในที่นี่เป็นการใช้เงินผ่านสินค้าที่มีอยู่ในเรือนจำ อาทิ นมกล่อง ข้าวของเครืองใช้อื่นๆ ตีราคาตามที่เรือนจำกำหนดราคาขาย โดยผู้ต้องขังสามารถใช้สินค้าเหล่านี้ ใช้จ่ายแทนเงินสดเพื่อจ้าง หรือรับบริการจากเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่นๆ ได้ ตามแต่จะตกลงกัน หรืออีกกรณีหนึ่งคือการทำงาน แล้วรับเงินเป็นสินค้าที่ต้องการแทน

ซี รับจ้างทำหลายสิ่งหลายอย่างแทนเพื่อนผู้ต้องขัง เพื่อทำให้ตัวเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาบ้าง แต่สิ่งที่เธอไม่รับทำแทนใครคือ การเฝ้าเวรในช่วงกลางคืน เธอเล่าว่าโดยปกติแล้วจะมีการจัดเวรให้ผู้ต้องขังช่วยกันเฝ้ายาม กันทั้งหมด 8 ผลัด ผลัดละ 1 ชั่วโมง โดยเวียนเป็นเวรกันตามรายชื่อผู้ต้องขังที่อยู่ในห้องนั้น ระบบนี้ เป็นไปเพื่อดูแลเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันในช่วงกลางคืน หากมีใครป่วยไม่สบาย หรือมีใครคิดฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง จะได้ประสานงานเรียกเจ้าหน้าที่เข้ามาดูได้ทันเวลา แต่เหตุที่เธอไม่รับทำหน้าที่นี้แทนใคร มาจากเหตุผลง่ายๆ ที่เข้าใจได้คือ ง่วงนอน

ระบบการเผ้ายามกันเองภายในห้องขัง ถูกสะท้อนผ่านความเห็นของ ซี ว่า ไม่ได้ฟังก์ชั่นมากนัก เพราะหลายครั้งมีคนป่วยในช่วงกลางคืน ต้องการยาด่วน แต่ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลผู้ต้องขังตามระบบที่วางไว้ 

ส่วนที่หลับที่นอนภายในเรือนจำนั้น จะมีการแบ่งเป็นแดน โดยแบ่งตามช่วงเวลาที่ถูกลงโทษจากเบาไปหนัก ในแต่ละแดนก็จะมีห้องขังย่อยๆ ออกไป โดยมีผู้ต้องขังหลายสิบชีวิตแออัดยัดอยู่รวมกันในห้องเดียว ซี เล่าว่า ทางเรือนจำให้เครื่องนอนผู้ต้องหาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นผ้าห่มทั้งหมด 3 ผืน แล้วแต่ผู้ต้องขังจะออกแบบว่าจะใช้มันอย่างไร สำหรับเธอนำผ้าห่ม 2 ผืน มาพับวางซ้อนกันเป็นหมอน ส่วนที่เหลืออีก 1 ผืนใช้เป็นผ้าห่ม เธอว่า การนอนในห้องขังที่อัดแน่นไปด้วยคนหลายสิบชีวิตทำให้อากาศร้อนกว่าปกติ เหมือนกับอัดกันเป็นปลากระป๋อง การนอนหลังแนบพื้นพอจะช่วยให้ความเย็นจากพื้นกระเบื้องซึมผ่านร่างกายได้ดีกว่ามีผ้าปูนอน

“กระเบื้องบล็อคหนึ่งก็คือ พื้นที่ที่เราจะนอนได้ ยิ่งตอนอยู่แดนแรกรับคนมันเข้าใหม่ทุกวัน มันก็แน่นกันอยู่แบบนี้ เรียกได้ว่าถ้ามึงจะพลิกตัวที ก็พลิกพร้อมกันทั้งหมด นึกภาพออกไหม มันต้องสลับกันถ้าคนหนึ่งนอนหงายอีกคนต้องนอนตะแคง พื้นที่มันมีอยู่แค่นั้น”

จันทนา วรากรสกุลกิจ

ขณะที่การขับถ่าย ภายในห้องขังทุกห้องจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘บล็อค’ ซึ่งก็คือ ห้องน้ำ แต่มีความแตกต่างจากห้องน้ำปกติคือ บล็อคที่ว่า จะมีสวมอยู่ด้านใน รอบนอกทั้งสี่ทิศจะมีเพียงปูนที่ก่อขึ้นมาเหนือเข่าเล็กน้อย เมื่อนั่งยองลงไปแม้จะไม่มีใครเห็นส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่หัวของคนที่เข้าบล็อคจะโผล่ขึ้นมาเหนือปูนที่ก่อขึ้นมา นั้นหมายความว่า เราจะมองเห็นเพื่อนนักโทษทุกคน และด้วยสภาวะธรรมชาติในห้องขังที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก มักจะมีคนมายืนรอคิวเพื่อเข้าห้องน้ำทั้งถ่ายเบา ถ่ายหนัก ฉะนั้นความเป็นส่วนตัวในการขับถ่ายภายในเรือนจำจึงมีค่าเท่ากับศูนย์

ซี เล่าว่าปัญหาหนักที่สุดที่เธอเจอคือเรื่อง การถ่ายหนัก ด้วยความไม่คุ้นชินกับบรรยากาศที่เปิดโล่ง รายล้อมด้วยผู้คนจำนวนมาก และโดยปกติแล้วเธอคุ้นชินกับการสูบบุรี่เวลาเข้าห้องน้ำ ทำให้เธอไม่สามารถถ่ายได้เกือบ 7 วัน

“ห้องน้ำนี่ เป็นเหมือนกฎเหล็กของเขาเลย คือ เขาจะไม่ให้มีประตูเด็ดขาด เขากลัวนักโทษจะเข้าไปทำอะไรกัน และพอเขาทำแบบนี้ มันแย่นะ ลองนึกดูสิเราจะเบ่งขี้ แล้วมีคนมายืนรอหน้าบล็อค มันกดดันนะ มันทรมาน แต่เราก็ต้องข้ามผ่านมันไปให้ได้”

เธอเล่าต่อไปถึง การเข้าถึงการรักษาพยาบาล และการเข้าถึงยารักษาโรค โดยช่วงหนึ่งเธอปวดฟัน และได้ขอยาจากเรือนจำ ผ่านการลงชื่อไว้กับผู้ต้องขังซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้คุมที่ทำหน้าที่เบิกยามาให้ผู้ต้องขังที่เจ็บป่วย แต่ผ่านไปหลายวันก็ยังไม่ได้รับยาที่ขอไป และยังไม่ได้รับคิวเข้าถอนฟัน ตอนหลังถึงได้รู้ว่า ผู้ช่วยผู้คุมได้ลัดคิวเธอโดยดันชื่อของผู้ต้องขังที่รู้จักกันขึ้นมาแทน ซี เรียกระบบแบบนี้ว่า ‘ระบบเหี้ย’ 

“ตอนหลังเราเริ่มสงสัยว่ามันจะต้องมีลับลมคมในอะไร ตอนนั้นเราเริ่มอยู่มานานแล้ว และเราก็พอจะรู้อะไรบ้าง จนมารู้ว่ามันเอื้อประโยชน์ให้พวกกันเองก่อน เพราะมันจะมีระบบขาใหญ่ ขาโจ๋ เราเองก็ไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับใคร ไม่ล้ำเส้นใคร แต่ก็บอกพวกมันไปว่าทีหลังอย่ามาล้ำเส้นกูอีก ทำอีกเมื่อไหร่กูเอามึงแน่”

ตลอดระยะเวลา 7 ปี 10 เดือน 3 วัน ซีถูกกักขังอยู่ในเรือนจำทั้งหมด 4 แห่ง ตามคดีที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัด หากใช้เกณฑ์ทางกายภาพเป็นตัวชี้วัด เธอเห็นว่า ไม่จะอยู่ที่ไหน คุกก็คือ คุก ความแตกต่างที่พอจะพบเจออยู่บ้างก็คือ รสชาติของ ‘ข้าวหลวง’ พ้นไปจากเรื่องอาหารก็คือ ความแตกต่างของผู้คน และผู้คุม

นั่นคือปากคำจากหญิงนักสู้เสื้อแดง ที่ผ่านคุกในช่วงวัยกลางคน ความแข็งแกร่งและความเด็ดเดี่ยวจึงเป็นฐานหลักของเรื่องเล่า แต่กับหญิงวัยรุ่นอายุ 23 ปี อย่าง เบนจา อะปัญ ซึ่งถูกจองจำอยู่ภายในทัณสถานหญิงกลางเป็นเวลา 99 วัน เนื่องจากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวในคดี 112 นั้น ฐานของเรื่องเล่าภายในคุกดูจะแตกต่างออกไป ไม่อาจเรียกมันได้ว่าความอ่อนแอ หากจำเป็นต้องนิยามภาวะที่เธอเจอและสะท้อนมันออกมา ฐานหลักของเรื่องเล่าในมุมของเบนจา คงเหมาะกับคำว่า ‘การถูกโบยตีความเป็นมนุษย์’

เบนจา อะปัญ_Voice_Patipat_047.jpg


“คุกมันเหมือนกับคอกสัตว์” นี่คือคำตอบเมื่อถามเบนจาว่า คุกคืออะไรสำหรับเธอ

เบนจา ย้อนนึกถึงความรู้สึกแรกเมื่อรู้ว่า การถูกจับกุมในคดี 112 เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2564 นั้นจะไม่ได้รับการประกันตัว นอกจากความเจ็บใจกับกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อีกหนึ่งความรู้สึกที่ผุดขึ้นมาคือ นี่คือภารกิจ ทุกวินาทีต่อจากนี้จะต้องเก็บรายละเอียด และจดจำ การใช้ชีวิตในเรือนจำให้ได้มากที่สุด 

ก้าวแรกของเบนจา แตกต่างจากซีพอสมควร นั่นเป็นเพราะเธอเข้าเรือนจำในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด แดนแรกรับสำหรับเบนจาจึงกลายเป็นแดนกักโรค แต่กระบวนการก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการความแตกต่างกัน เมื่อรถควบคุมตัวผู้ต้องเดินทางถึงเรือนจำ เธอต้องถอดเสื้อผ้าออก และนั่งยองให้ผู้คุมดูทั้งหมด 3 ครั้ง จากนั้นผู้คุมจะตรวจดูตามร่างกาย เมื่อเสร็จกระบวนการนี้แล้ว เธอต้องเปลี่ยนไปใส่ชุดนักโทษ และเดินเข้าเครื่องแสกนอีก 1 ครั้ง จากนั้นก่อนจะถูกพาตัวไปยังแดนกักโรค ซึ่งอยู่ตึกด้านในสุดของเรือนจำ ผู้คุมให้เธอใส่ชุดกันฝน ที่ใช้แทนชุด PPE สวม Face Shield ใส่แมสสองชั้น และนำถุงผลาสติกมาห่อมือและเท้าทั้งสองข้างไว้ 

“เขาให้เราใส่ชุดกันฝน ใส่แมสสองชั้น ใส่ Face Shield แล้วก็เอาถุงผลาสติ๊กมาห่อมือห่อเท้า แล้วก็พาเราเดินจากจุดตรวจร่างกาย เข้าไปแดนกักโรคซึ่งมันอยู่ด้านในสุดของคุก ระหว่างถูกพาตัวไปเรารู้สึกว่า เรากลายเป็นตัวเชื้อโรค”

สำหรับข้าวของเครื่องใช้ที่เธอได้รับมาจากเรือนจำเองก็ไม่มีอะไรต่างจากที่ซีได้รับ แน่นอนว่าประกอบด้วย ผ้าห่ม 3 ผื่น ขันตักน้ำ สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน และซ้อนผลาสติ๊ก และผ้าเช็ดตัวขนาดเล็ก ซึ่งเธอเรียกมันว่า ‘เศษผ้า’ 

“ผ้าเช็ดตัวที่เขาให้มา เราเรียกว่าเศษผ้า เพราะมันมาจากผ้าผื่นใหญ่ แต่เขาตัดแบ่งออกมาเป็นเศษผ้าเล็กๆ เราใช้เช็ดตัว เช็ดผม เขาคงกลัวผู้ต้องขังเอาผ้าไปผูกคอตายมั้ง แต่ผ้าห่มผื่นยาวๆ ไม่เป็นไร เราก็งงเหมือนกัน เอาจริงมันมีวิธีที่จะตายในคุกได้ตั้งหลายวิธี ถ้าคนเขาอยากจะตายจริงๆ” 

“เรื่องช้อนอันนี้เราว่าพีคสุด คือเขาให้ซ้อนพลาสติ๊กสีขาว ที่กินแล้วมันบาดปากมาหนึ่งอัน ครั้งแรกเรายังไม่รู้เลยว่าจะต้องใช้สิ่งนี้ไปตลอด นึกว่าให้มาหนึ่งอัน ต่อข้าวหนึ่งถุง แต่ที่ไหนได้พอเราเอาไปทิ้งก็โดนผู้คุมดุ บอกแล้วใช่ไหมว่าช้อนเนี่ยใช้แล้วให้เอาไปล้าง แล้วเก็บไปใช้ต่อ นี่ไม่ใช่ช้อนใช้แล้วทิ้ง ถ้าคุณอยากได้ช้อนดีๆ คุณต้องให้ญาติส่งมาให้ ซึ่งช้อนที่ว่าดีๆ ก็คือเป็นช้อนพลาสติ๊กเหมือนกัน แต่ดีขึ้นมาหน่อย แล้วใช้ได้แค่ช้อนไม่มีส้อม”

เบนจา อะปัญ_Voice_Patipat_025.jpg

เบนจา เล่าต่อว่า ผู้คุมได้มอบหมายหน้าที่ให้เธอเป็นแม่ห้อง ซึ่งตำแหน่งนี้จะมีหน้าที่ในการจดจำชื่อผู้ต้องขังทุกคนภายในห้อง และต้องคอยตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้ต้องขังทุกๆ 4 ชั่วโมง โดยในช่วงแรกเธอมีสมาชิกรวมห้องขังประมาณ 7 คน ในส่วนที่เป็นทางการเธอยินดีรับงานที่ได้รับมอบหมาย แต่ในทางปฏิบัติมีเพื่อนผู้ต้องขังอายุรุ่นป้าคนหนึ่งเข้ามาช่วยทำหน้าที่เหล่านี้แทน 

“เราเป็นแม่ห้องได้ถึงจุดหนึ่ง เราก็รู้สึกว่า กูไม่อยากทำแล้ว การเป็นแม่ห้องมันคือเขา(ผู้คุม) จะมอบอำนาจให้เรา และเราจะต้องดูแลทุกคนให้ได้ ไม่งั้นเราก็จะซวยเอง แต่เราก็ไม่ได้ไปดูแลอะไรใครขนาดนั้น จริงๆ จะเป็นป้าอีกคนมากกว่าที่มาช่วยทำหน้าที่นี้ เราก็เป็นแค่ในนาม เราไม่สามารถปกครองใครได้ เราไม่ใช่ผู้ปกครอง เราทำได้แค่ช่วยเหลือทุกคนเท่าที่เราจะช่วยได้ และเราจะไม่สร้างปัญหาให้ใคร”

เบนจา เล่าถึงความสัมพันธ์กับผู้ต้องขังร่วมห้อง ซึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในแดนนกักโรคตลอด 24 ชั่วโมงว่า ทุกคนมีความเป็นมิตรและคอยช่วยเหลือดูแลเธอเป็นพิเศษ ทั้งซักผ้า ล้างจาน ล้างห้องน้ำ และที่สำคัญยังให้เธอยืมสุ่มสำหรับใช้อาบน้ำด้วย สิ่งที่เรียกว่าสุ่มในคุกหมายถึง กระโจมอกที่คลุมร่างกายเวลาอาบน้ำภายในห้องขัง เพื่อสร้างพื้นที่อันเป็นส่วนตัวท่ามกลางสายตาของผู้คน

ส่วนเรื่องการขับถ่าย ข้อมูลที่เบนจาสะท้อนมาไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างจาซีมากนัก แต่มีความพิเศษกว่านิดหน่อยคือ ในห้องขังที่อยู่มีส้วมอยู่ 2 ประเภท อย่างแรกคือประเภทนั่งยอง อีกประเภทคือนั่งชักโครก เธอว่าส้วมประเภทหลังนี้จะก่อขึ้นมาสูง และด้วยท่าทางการนั่งแล้ว จะทำให้คนที่ใช้ส้วมมองเห็นทุกคนที่อยู่ในห้องทั้งหมด และเธอเลือกที่จะใช้ส้วมนั่งยองแทน เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นส่วนตัวเท่าที่พอจะหาได้ภายในเรือนจำ 

สำหรับอาหารของเรือนจำที่เบนจาได้รับในช่วงแรก เนื่องจากเธอติดคุกในเย็นวันศุกร์ และในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ เจ้าหน้าที่เรือนจำไม่อนุญาตให้บุคคลภายในนอกสั่งอาหารให้กับเธอได้ 2 วันแรกเบนจาใช้ชีวิตโดยมีเพียง ‘ข้าวหลวง’ ซึ่งในบรรดากับข้าวหลายที่ส่งมามีเพียงสิ่งเดียวที่เธอกินได้คือ ‘ผัดกระหล่ำปี’ นอกเหนือจากนั้นเธอไม่สามารถกินอะไรได้เลย โชคดีที่มีเพื่อนผู้ต้องขังแบ่งปันนมกล่องให้เธอกินตลอดสองวันนั้น

“ข้าวมันจะแข็งๆ อาหารก็จืด ถ้าจะกินก็ต้องใส่น้ำปลาเพิ่มเข้าไป แต่บางอย่างก็รสชาติโอเค อย่างผัดกระหล่ำปี ส่วนที่เป็นเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่เป็นไก่ แต่เราไม่กินเลย เราว่ามันเหมือนเศษเนื้อมากกว่า มันเป็นเนื้อติดกระดูก”

ส่วนน้ำดื่มสำหรับผู้ต้องขังนั้น เบนจา ให้ข้อมูลว่า ทางเรือนจำระบุว่า ผู้ต้องขังสามารถดื่มน้ำจากก๊อกได้ โดยก๊อกน้ำดื่มที่ต่อเข้ามาในห้องขังนั้น เรียกว่า น้ำกรอง ดำเนินการโดยบริษัทน้ำดื่มแห่งหนึ่ง เธอไม่รู้ว่าจุดติดต่อเครื่องกรองน้ำอยู่ตรงไหน จึงทำให้ไม่มั่นใจว่าน้ำจากก๊อกนั้นสะอาดจริงหรือไม่ ทำให้เธอต้องขอให้คนภายนอกสั่งน้ำดื่มบรรจุขวดจากเรือนจำเข้ามาแทน 

“เราว่า เรือนจำ ถ้าจะทำให้ดีมันก็ทำได้ แต่มันต้องพยุงกันหลายฝ่าย ถ้าเราอยากได้เรือนจำแบบนอร์เวย์ มันก็ต้องทำให้คนเข้ามาอยู่ในเรือนจำนวนน้อยก่อน ไม่ใช่เอะอะอะไรขังหมด มันต้องเปลี่ยนกันทั้งระบบ แล้วเรื่องที่เรารู้สึกแย่ที่สุดคือ บางคนยินดีที่จะอยู่ในคุกตอนนี้มากกว่าอยู่ข้างนอก เพราะเขามองว่าในนี้มันทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า มันดาร์คจนไม่รู้จะดาร์คยังไงแล้ว”

เบนจา อะปัญ_Voice_Patipat_019.jpg

เธอ เล่าต่อว่า จำนวนผู้ต้องขังในแดนกักตัว ในแต่ละห้องมีจำนวนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าในเย็นวันนั้นมีผู้ต้องขังใหม่เข้ามาทั้งหมดกี่คน โชคดีที่ในวันที่เธอต้องเข้าเรือนจำมีคนใหม่เข้ามาเพียงแค่ 7 คนเท่านั้น ระบบของเรือนจำจะกำหนดให้กลุ่มผู้ต้องขังที่เข้ามาในแต่ละวันจะต้องอยู่รวมกันทั้งหมด เพื่อกักตัวตามระยะเวลาที่กำหนด ก่อนจะย้ายตัวเข้าไปสู่แดนคุมขังปกติ เธอได้ยินมาว่าในบางห้องขังมีจำนวนคนมากสุดถึง 30 คน อย่างไรก็ตามในทุกครั้งที่เธอถูกเบิกตัวออกไปศาล การกลับเข้ามาเรือนจำในแต่ละครั้ง เธอจะต้องย้ายไปอยู่กับผู้ต้องขังกลุ่มใหม่ ซึ่งนั้นหมายความว่าการทำความรู้จักกับผู้คนจะต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด รวมถึงการนับเวลาในการกักตัวที่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ด้วย

“เราอยู่ห้องเดิมมาตลอด 21 วัน แต่พอถูกเบิกตัวไปศาลกลับมาก็ต้องย้ายไปอยู่ห้องใหม่ ครั้งนี้มีเพื่อนร่วมห้อง 17 คน วันนั้นเป็นอะไรที่แย่มาก คนมันเยอะ และมันอึดอัดมาก เราต้องเริ่มต้นทำความรู้จักกับคนใหม่ มันวุนวาย และไม่มีความเป็นส่วนตัวเลย รอบนั้นเราซึมไปเลย เรือนจำเขาก็จะคอยส่งเจ้าหน้าที่มาเช็คเราว่า เป็นไงบ้างวันนี้ กินข้าวหรือยัง กินกับอะไร เศร้าไหม แล้วจะให้เราตอบว่าอะไรละ”

ครั้งนั้นทำให้เธอเข้าใจกับสิ่งที่ผู้ต้องขังหลายคนยึดถือตลอดเวลาว่า “การอยู่ในนี้อย่าไปยึดติด เพราะไม่มีอะไรที่แน่นอน” แม้จะรู้สึกเหนื่อย ท้อ แต่เธอบอกกับตัวเองตลอดว่า “ก็ต้องอยู่ให้ได้” 

นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เบนจาตั้งคำถามถึงการปฏิบัติของเรือนจำ คือ เรื่องการสื่อสารกับคนภายนอก แน่นอนว่ากฎระเบียบของเรือนจำที่ถูกวางไว้ในช่วงโควิดระบาด และระหว่างอยู่ในแดนกักโรคคือ การห้ามผู้ต้องขังเยี่ยมญาติ ทำได้เพียงพูดคุยกับทนายความผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เท่านั้น นั้นหมายความว่า ผู้ต้องขังที่ไม่ได้พบทนายความจะไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับใครได้เลย ถึงอย่างนั้นญาติยังสามารถส่งจดหมายเข้ามาให้ผู้ต้องขังได้ แต่นั้นก็เป็นการสื่อสารทางเดียว เพราะระหว่างที่อยู่ในช่วงกักตัวผู้ต้องขังทุกคนจะไม่สามารถเขียนจดหมายถึงญาติได้เลย 

เมื่อถามเหตุผล เบนจา ไม่แน่ชัดนัดว่ามาตรการนี้ตั้งอยู่บนฐานเหตุผลแบบใด แต่เธอเปรยว่า ในระหว่างการกักตัวผู้ต้องขังมักจะถูกมองว่าเป็น ‘ตัวแพร่เชื้อโรค’ ซึ่งนั่นคงเป็นเหตุที่ทางเรือนจำปฏิเสธการเขียนจดหมายออกไปสู่ภายนอก 

“เราว่าหลายอย่างมันไม่สมเหตุสมผล อย่างเรื่องบังคับให้ใส่แมสตลอดเวลา บางคนก็ทำบางคนก็ไม่ทำ แต่เวลาผู้คุมเดินมาทุกคนก็จะใส่เพื่อให้ไม่มีปัญหา คือ คุณบอกว่าให้ทำไปเพื่อป้องกันโรค แต่การเอาคนมาอยู่รวมกันเยอะขนาดนั้น เราคิดไม่ออกว่ามันจะป้องกันยังไง”