ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุข ให้ผู้ป่วย 4 โรค "เบาหวาน-ความดันโลหิตสูง- โรคทางจิตเวช-หอบหืด" รับยาที่ร้านขายยาเครือข่าย 500 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป หวังลดความแออัดของโรงพยาบาล เพิ่มความสะดวกบริการประชาชน

ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข มอบหมายให้ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักตรวจราชการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล หัวหน้า���านเภสัชกรรมโรงพยาบาล/สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลในสังกัดสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นส่วนราชการ ร้านยาแผนปัจจุบัน สภาเภสัชกรรรม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) และคณะเภสัชศาสตร์ ร่วมประชุมกว่า 300 คน

นพ.สุขุม กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขลดความแออัดของโรงพยาบาล เพิ่มความสะดวกบริการประชาชน อาทิ การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ คลินิกหมอครอบครัว เปิดคลินิกเฉพาะทางนอกเวลาราชการ (SMC) อีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดความแออัดคือ ให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยารับยาที่ร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ที่ได้มาตรฐาน GPP ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในระยะแรกจะดำเนินการพัฒนาระบบบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ร้านขายยาร่วมเป็นเครือข่ายบริการจำนวน 500 แห่งทั่วประเทศ จ่ายยาให้กับผู้ป่วยโดยไม่ต้องรอรับยาที่โรงพยาบาล ช่วยให้ผู้ป่วยใช้เวลาอยู่ที่โรงพยาบาลน้อยลง ลดภาระการเดินทาง และความแออัดของโรงพยาบาล รวมถึงได้รับคำแนะนำการใช้ยาอย่างตามใบสั่งแพทย์โดยเภสัชกร โดยเริ่มในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปที่มีความพร้อมในเดือนตุลาคม 2562 ช่วงแรกจะเน้นในผู้ป่วย 4 โรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางจิตเวช และหอบหืด ซึ่งจะเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยา และลดการครอบครองยาเกินความจำเป็น

สำหรับเงื่อนไขการรับยาต้องเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ป่วยที่จะรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน หรือใกล้ที่ทำงาน ซึ่งเป็นร้านยาคุณภาพ/ ร้านยาที่ผ่านมาตรฐาน GPP และมีเภสัชกรปฏิบัติงานตลอดไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง โดยจะได้รับยาชนิดเดียวกับที่ได้รับจากโรงพยาบาลเดิมที่รับยาอยู่ และผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ เพิ่มขึ้น โรงพยาบาลและร้านขายยาที่เป็นเครือข่ายสามารถดำเนินการได้ 3 รูปแบบ คือ โรงพยาบาลจัดยารายบุคคลส่งให้ร้านขายยา โรงพยาบาลจัดสำรองยาไว้ที่ร้านยา หรือร้านยาดำเนินการจัดการด้านยาเอง ซึ่งจะต้องมีการศึกษาร่วมกันต่อไป 

“การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ มีหมอครอบครัวประจำบ้าน การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชนเลือกสถานบริการที่เหมาะสมกับลักษณะการเจ็บป่วย รวมทั้งการเชื่อมโยงร้านขายยาใกล้บ้าน จะช่วยเพิ่มความสะดวก เป็นทางเลือกให้กับประชาชนมากขึ้น” นพ.สุขุมกล่าว