นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยให้หน่วยงานในสังกัดประสานงานเร่งรัดการปฏิบัติและติดตามผลการป้องกันควบคุมโรคควบคู่กันไปเพื่อให้ได้ผลอย่างต่อเนื่อง และมีแนวทางให้ชาวบ้านจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้ยุงลายเกิดและกัดได้ จึงทำให้สถานการณ์การเกิดโรคไข้เลือดออกในหลายพื้นที่มีแนวโน้มลดลง และในหลายพื้นที่ชะลอตัวลงจนสามารถควบคุมได้ เช่น จังหวัดนครนายก ตราด ปราจีนบุรี อำนาจเจริญ บึงกาฬ และชุมพร เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเมื่อควบคุมโรคอย่างเข้มข้นจริงจัง ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทำให้การเกิดโรคมีแนวโน้มลดลง หรือจนควบคุมได้ในที่สุด แต่ทุกพื้นที่ยังคงต้องดำเนินการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างเข้มข้น ต่อไป
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 3 ก.ย. 2562 พบผู้ป่วย 81,500 ราย เสียชีวิต 89 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในปีนี้พบในกลุ่มเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น พบมากสุดคือกลุ่มอายุ 5 - 14 ปี รองลงมา 15 - 34 ปี และเด็กแรกเกิด - 4 ปี ตามลำดับ จากรายงานจะพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากพบผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาจำนวน 21,539 ราย และในเดือน ส.ค. พบผู้ป่วยลดลงมาเป็น 12,979 ราย
หากแยกเป็นรายสัปดาห์จะพบว่า ในช่วงนี้มีผู้ป่วยลดลงเหลือประมาณ 3,500 - 3,700 ราย ต่อสัปดาห์ จากที่เคยพบในช่วงฤดูการระบาดที่พบมากถึง 4,000 - 5,000 รายต่อสัปดาห์ นอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนนี้ ก็พบผู้ป่วยไข้เลือดออกมากเช่นกัน เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ พบผู้ป่วย 208,917 ราย เสียชีวิต 882 ราย ประเทศเวียดนาม พบผู้ป่วย 124,751 ราย เสียชีวิต 15 ราย และประเทศมาเลเซีย พบผู้ป่วย 85,270 ราย เสียชีวิต 121 ราย (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก)
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการป้องกันโรคไข้เลือดออกนั้น ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย
ทั้งนี้ หากมีอาการคล้ายไข้หวัด และมีอาการไข้สูงเฉียบพลันในตอนแรก อย่าซื้อยารับประทานเองเพราะอาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการรักษาภายหลังและมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น เพราะยาบางชนิด เช่น ไอบรูโปรเฟน หรือแอสไพริน อาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น การรักษาในระยะต้นที่มีไข้สูงใน 1-2 วันแรกไม่เป็นอันตรายใดๆ เว้นแต่ในรายที่ไม่ยอมหายหลังจากไข้ลด โดยช่วงไข้ลดมีอาการซึม เบื่ออาหาร ปวดท้อง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วแต่เบา อาจมีเลือดไหล ที่โพรงจมูก อาเจียนเป็นเลือด แสดงว่าเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องรีบกลับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลให้ทันท่วงที มิฉะนั้นอาจเสียชีวิตได้ภายใน 48 ชั่วโมงหรือ 2 วัน