ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติแล้ว พักหนี้ตั้งดอกทั้งต้นให้เกษตรกรลูกหนี้ ธ.ก.ส. - ส่วนพักหนี้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด คลังตั้งกรรมการพิจารณารายละเอียด อีก 2 สัปดาห์เสนอ ค.ร.ม.

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบ เห็นชอบ อนุมัติงบประมาณตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

  1. รับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) (คณะทำงานฯ)
  2. เห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล (มาตรการพักชำระหนี้) และการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผู้เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”
  3. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวนรวมทั้งสิ้น 12,096 ล้านบาท ดังนี้

3.1 มาตรการพักชำระหนี้ฯ จำนวนทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท 

3.2 การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส.ฯ จำนวนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท

โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส. ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ต่อไป


2 สัปดาห์รู้เรื่อง พักหนี้ SMEs

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ 13 กันยายน 2566 มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นระยะเวลา 3 ปี และ 1 ปี ตามลำดับ โดยให้เสนอมาตรการพักชำระหนี้ฯ ต่อคณะรัฐมนตรีโดยด่วนภายใน 2 สัปดาห์ 

จากนี้กระทรวงการคลังจะแต่งตั้งคณะทำงานฯ ตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 2142/2566 เรื่อง การแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สั่ง ณ วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2566 โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นฝ่ายเลขานุการในคณะทำงานที่มีอำนาจและหน้าที่ที่สำคัญ เช่น ศึกษา วิเคราะห์รูปแบบมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 เป็นต้น


มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ลูกหนี้ ธ.ก.ส.
พักหนี้.png
การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส.

วัตถุประสงค์:

  • เพื่อพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต ลดความสูญเสีย ลดความเสี่ยง เพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มมาตรฐานผลผลิตและผลิตภัณฑ์ สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความสามารถในการชำระหนี้
  • เพื่อเพิ่มทักษะของเกษตรกรให้สามารถนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ในการประกอบอาชีพ
  • เพื่อเชื่อมโยงตลาดห่วงโซ่อุปทาน โดยใช้หลักตลาดนำการผลิต
  • เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินด้วยทักษะทางการเงินและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

เป้าหมาย:

  • พัฒนาศักยภาพอาชีพเกษตรกรลูกหนี้ จำนวน 300,000 ราย (ปีบัญชี 2567)
  • ผู้ผ่านการพัฒนามีรายได้เพิ่มขึ้นหรือมีต้นทุนลดลงมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 15
  • ผู้ผ่านการพัฒนามีความสามารถในการชำระหนี้ได้เมื่อสิ้นสุดโครงการ

กลุ่มเป้าหมาย:

เกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ และสมัครใจเข้ารับการพัฒนาตามศักยภาพ

วิธีดำเนินการ:

จัดอบรมเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ

งบประมาณ:

1,000 ล้านบาท


ไม่เกินกรอบ 32% ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการเคลัง 

กระทรวงการคลังได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่ต้องนำเสนอตามบทบัญญัติในมาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เรียบร้อยแล้ว โดยกระรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดอัตราชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 ได้กำหนดอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละ 32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 

ณ วันที่ 22 กันยายน 2566 ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยตามมาตรา 28 มียอดคงค้างจำนวน 1,000,295.186 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 31.41 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ดังนั้น หากมีการอนุมัติการดำเนินการตามมาตรการพักชำระหนี้ฯ งบประมาณ 11,096 ล้านบาท และการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส.ฯ ผู้เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ งบประมาณ 1,000 ล้านบาท จะส่งผลให้ภาระที่รัฐต้องรับชดเชย เมื่อรวมกับของเดิมจะมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 1,012,391.186 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรา   ร้อยละ 31.79 ซึ่งยังคงไม่เกินอัตราร้อยละ 32 ตามที่กำหนดไว้