ไม่พบผลการค้นหา
คลังสรุปมาตรการภาษี-การเงิน ช่วยผู้ประสบภัยปาบึก ออก 2 มาตรการภาษี 'ยดเว้น-ลดหย่อน' 19 มาตรการการเงิน 'ยืดหนี้-พักหนี้-ลดดอกเบี้ย-กู้ฉุกเฉิน'

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบมาตรการภาษี จำนวน 2 มาตรการ และมาตรการทางด้านการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7 แห่ง จำนวน 19 มาตรการ 

โดย ครม. เห็นชอบมาตรการทางด้านภาษี 2 มาตรการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก ที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ของประเทศโดยมาตรการดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

มาตรการทางด้านภาษี 

  • หักลดหย่อนภาษีสำหรับการบริจาคเงิน หรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย: สามารถนำเงินที่บริจาคไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลได้เท่าจำนวนที่บริจาค 
  • ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาค : ผู้ประสบอุทกภัยที่ได้รับบริจาค ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำ 1) จำนวนเงินชดเชยจากรัฐบาล และ 2) จำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคนอกเหนือจากเงินชดเชยจากรัฐบาล มาคำนวณเป็นเงินได้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่ได้รับ
  • ยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่ราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก: ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับบุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซ่อมแซม หรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ หรือการซ่อมแซมห้องชุดในอาคารชุด และจ่ายระหว่างวันที่ 3 ม.ค. - 31 มี.ค. 2562 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 1 แสนบาท
  • ยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถในพื้นที่ที่ราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก: ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับบุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถ และจ่ายระหว่างวันที่ 3 ม.ค. - 31 มี.ค. 2562 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 3 หมื่นบาท

มาตรการทางด้านการเงิน ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7 แห่ง รวม 19 มาตรการ โดยแบ่งออกเป็นมาตรการ ดังนี้

  • มาตรการพักชำระหนี้ ของธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)
  • มาตรการให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ฟื้นฟูการประกอบอาชีพ และซ่อมแซมอาคารของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธพว. ธอท. และ ธสน.
  • มาตรการลดอัตราดอกเบี้ย ของลูกค้า ธอส. และ ธสน.
  • มาตรการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ของ ธ.ก.ส.
  • มาตรการประนอมหนี้ กรณีหลักประกันได้รับความเสียหาย หรือลูกหนี้ได้รับผลกระทบด้านรายได้ของ ธอส.
  • มาตรการขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียม และโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
  • มาตรการรองรับกรณีลูกหนี้เสียชีวิตและทุพพลภาพถาวรหรือบ้านเสียหายทั้งหลัง ของ ธอส.

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถติดต่อและขอรายละเอียดของมาตรการให้ความช่วยเหลือได้ที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกสาขาในพื้นที่ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :