นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ทุกภาคส่วนในจังหวัดนครราชสีมาขณะนี้ ต่างตื่นตัวกับสถานการณ์ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะแม้ว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้วก็ตาม แต่จะนิ่งนอนใจไปไม่ได้ ซึ่งในปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า จังหวัดไม่มีจุดตรวจวัดค่าฝุ่นละอองที่แน่นอน จึงทำให้เกิดปัญหาค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน และในปีนี้ มีประชาชนนำเครื่องวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กแบบพอกเกตมือถือ ไปตรวจวัดค่าฝุ่นในจุดที่มีการจราจรหนาแน่น พร้อมกับเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละอองในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมาอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ จังหวัดฯ จึงเตรียมการตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยเดินหน้า 6 มาตรการเร่งด่วนป้องกันการเกิดฝุ่นละอองทั้ง 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา โดยรณรงค์เร่งรัดไม่ให้มีการเผาตอซังใบอ้อย รวมถึงจัดชุดออกตรวจโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มว่าจะปล่อยฝุ่นละอองออกมา ซึ่งได้ให้อุตสาหกรรมจังหวัด สกรีนโรงงานในพื้นที่จังหวัด กว่า 1,000 แห่ง พบว่า มีประมาณ 60 กว่าโรงงานที่เข้าข่ายล่อแหลมเสี่ยงปล่อยฝุ่นละออง PM2.5 ออกมา จึงได้ขึ้นบัญชีเอาไว้และได้จัดชุด ออกตรวจทั้งหมดแล้ว
ส่วนกรณีที่มีภาคเอกชนนำเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ไปตรวจวัดในจุดที่การจราจรหนาแน่น แล้วระบุว่า ค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่หน่วยงานรัฐไปตรวจกลับพบว่าไม่เกินค่าที่กำหนด ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันในเรื่องนี้ ทางจังหวัดจึงขอให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ที่ใช้ในการเรียนการสอนมาตั้งไว้ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และใช้เครื่องวัดดังกล่าว เป็นเครื่องหลักในการตรวจติดตามวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในเขตเมืองนครราชสีมา ซึ่งปีนี้ทุกภาคส่วนในจังหวัด ฯ มีความตื่นตัวมากขึ้น และกรมมลพิษได้นำเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 มาติดตั้งให้กับจังหวัดฯ ที่บริเวณฝั่งตรงข้ามโรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา
โดยกำหนดให้มีการรายงานผลการตรวจวัดให้ผู้บริหารของจังหวัดฯ ทราบทุกๆ วันศุกร์ เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งตลอดสัปดาห์ผลตรวจวัดฝุ่นละอองยังไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งการที่มีฝนตกในช่วงนี้ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าฝุ่นละอองลดต่ำลง
ขณะเดียวกันทางจังหวัดฯ 6 มาตรการที่ประกาศควบคุมค่าฝุ่นละอองใน 32 อำเภอ ทั้งเรื่อง 1) การควบคุมการก่อสร้างขนาดใหญ่จะต้องมีการฉีดพ่นน้ำไม่ให้ฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย รวมถึงจะต้องคลุมผ้าใบปิดให้มิดชิดกรณีที่มีการบรรทุกขนย้ายสิ่งต่างๆ
2) เรื่องการจราจร ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและขนส่ง ออกไปสุ่มตรวจวัดควันดำรถในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น
3) ตรวจติดตามซ้ำ 60โรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมายของปีที่แล้ว ซึ่งหากมีโรงงานเข้าข่ายเสี่ยงเพิ่ม ก็ให้จัดชุดออกไปตรวจโดยเร็ว
4) เรื่องการรณรงค์งดเผาตอซังข้าวและอ้อย ทางจังหวัดฯ ได้ออกประกาศขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการได้งดเผาพืชผลทางการเกษตร รวมไปถึงการเผาขยะในที่โล่งแจ้งด้วย
5) เรื่องการรณรงค์งดจุดธูปเทียนในที่สาธารณะ พบว่า ในห้วงปีที่ผ่านมา ประชาชนที่เดินทางมาสักการะอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีและศาลหลักเมือง ได้ให้ความร่วมมืองดจุดธูปเทียนทั้ง 2 แห่ง
และ6) เรื่องการควบคุมฝุ่นละอองจากโครงการก่อสร้างเมกกะโปรเจ็คต์ต่างๆ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปกำกับดูแลเพื่อป้องกันปัญหาอย่างเข้มงวดแล้ว
สำหรับเครื่องพ่นละอองน้ำที่เคยติดตั้งที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีและบริเวณโดยรอบ ทางจังหวัด ฯ จะนำมาติดตั้งใหม่อีกครั้งเมื่อพ้นหน้าฝนไปแล้ว ขณะที่มาตรการงดการเผาในที่สาธารณะและมาตรการลดการจุดธูปเทียนนั้น ทางจังหวัดฯ จะมีการขยายผลไปยังวัดต่างๆที่มีประชาชนจำนวนมากเข้าไปกราบไหว้สักการะ อย่างเช่นวัดศาลาลอย เป็นต้น ซึ่งต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนได้ช่วยกันป้องกันอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในจังหวัดนครราชสีมาเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :