ไม่พบผลการค้นหา
เปิดรายละเอียดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็อกแรก 'ประยุทธ์2' คลังแจงยิบ 3 มาตรการ เติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-พักชำระหนี้กองทุนหมู่บ้าน-ลดภาระเกษตรกรประสบภัยแล้ง-รับ 1,000 บาทไปเที่ยวผ่านแอปฯ 'เป๋าตัง' จ่ายผ่านแอปฯ 'ถุงเงิน' คาดพยุงเศรษฐกิจครึ่งปีหลังไม่ทรุดเกินไป

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 ส.ค.มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยให้สามารถดำรงชีพได้ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 ประกอบด้วย 4 ด้านหลัก ได้แก่ 

  • มาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกองทุนหมู่บ้าน 
  • มาตรการเพื่อบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ปี 2562 และเกษตรกรรายย่อย 
  • มาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ 
  • แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

เพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแก่ 'ผู้ถือบัตร-ผู้สูงอายุ-ผู้ดูแลเด็กแรกเกิด' เริ่ม ส.ค. นี้

สำหรับมาตรการแรก มาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกองทุนหมู่บ้านประกอบ ประกอบด้วย

  • การเพิ่มเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มอีก 500 บาทต่อคนต่อเดือน
  • เพิ่มเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีก 500 บาทต่อคนต่อเดือน
  • การให้เพิ่มเงินเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด (0-6 ปี) ของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีก 300 บาทต่อคนต่อเดือน

โดยการเพิ่มเงินในบัตรฯ ดังกล่าวจะเป็นการช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นระยะเวลา 2 เดือน ในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. 2562 โดยเติมเงินเข้าช่องกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) เพื่อนำไปใช้ซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็น ผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture: EDC) แอปพลิเคชั่นถุงเงินประชารัฐ หรือถอนเงินสดจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) 

กรมบัญชีกลางเริ่มจ่ายเงินเติม 500 บาทรอบแรก 21 ส.ค. นี้

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในเดือน ส.ค. – ก.ย. 2562 โดยการโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) 3 มาตรการ

(1) มาตรการพยุงการบริโภคของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.6 ล้านคน ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ให้ได้รับเงิน 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน

(2) มาตรการมอบเงินช่วยเหลือสำหรับผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มเติม จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน ให้แก่ผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เป็นระยะเวลา 2 เดือน (มีผู้ได้รับสิทธิจำนวนประมาณ 5 ล้านราย)  

(3) มาตรการช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้รับสิทธิภายใต้โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูบุตรให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้ได้รับเงินช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตรเพิ่มเติมจำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน (ผู้ลงทะเบียนโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จำนวนกว่า 8 แสนราย)

โดยได้เตรียมความพร้อมสำหรับการจ่ายเงินเข้ากระเป๋าเงิน e-Money ของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยกำหนดระยะเวลาการจ่ายเงิน ดังนี้



บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

มาตรการพยุงการบริโภคฯ 500 บาทต่อคนต่อเดือน

  • ผู้มีสิทธิที่มีเลขบัตรประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 31 33 37 38 และ 39 รับเงินโอนวันพุธที่ 21 ส.ค. 2562 วันศุกร์ที่ 6 ก.ย. 2562
  • ผู้มีสิทธิที่มีเลขบัตรประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 32 34 35 และ 36 วันพฤหัสบดีที่ 22 ส.ค. 2562 วันเสาร์ที่ 7 ก.ย. 2562
  • ผู้มีสิทธิที่มีเลขบัตรประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 1 2 4 5 และ 8 วันศุกร์ที่ 23 ส.ค. 2562 วันอาทิตย์ที่ 8 ก.ย. 2562 

มาตรการเงินช่วยเหลือสำหรับผู้สูงอายุฯ 500 บาทต่อคนต่อเดือน และเงินช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรฯ 300 บาทต่อคนต่อเดือน จะได้รับเงินโอนวันเสาร์ที่ 24 ส.ค. 2562 วันจันทร์ที่ 9 ก.ย. 2562

อธิบดีกรมบัญชีกลาง ย้ำว่า ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถนำเงินไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่รับชำระเงินผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) Mobile Application ถุงเงินประชารัฐ ร้านค้าทั่วไปที่รับชำระเงินผ่านเครื่อง EDC แบบพร้อมการ์ด (Prompt Card) หรือสะสมไว้ใช้จ่ายเมื่อจำเป็น สะสมไว้เป็นเงินออมในบัตร 

รวมทั้งสามารถถอนเป็นเงินสด ได้จากตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย ซึ่งการถอนเงินผ่าน ตู้ ATM ในช่วงเวลานี้อาจไม่ได้รับความสะดวก เนื่องจากเป็นช่วงการจ่ายเงินเดือน และบำเหน็จบำนาญ แต่ผู้มีสิทธิไม่ต้องกังวลใจ เนื่องจากเงินในกระเป๋า e-Money ดังกล่าวไม่จำกัดเวลาในการใช้จ่าย สามารถถอนวันใดก็ได้ หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ Call Center บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 02-109-2345 หรือ Call Center กรมบัญชีกลาง 02-270-6400 กด 7 ในวันและเวลาราชการ



ธนาคารออมสิน

'คลัง' แจงเกณฑ์ 'พักชำระหนี้กองทุนหมู่บ้านฯ' ผ่าน ธ.ก.ส. เริ่ม 30 ก.ย. ผ่านธ.ออมสิน เริ่ม 1 ต.ค.

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. กล่าวว่า สำหรับมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่คงค้างกับสถาบันการเงิน เพื่อลดภาระในการชำระหนี้และเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กองทุนหมู่บ้านฯ) จำนวน 50,732 แห่ง โดยเป็นกองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 27,249 แห่ง และอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารออมสิน จำนวน 23,483 แห่ง

ทั้งนี้ การพักชำระหนี้จะพักชำระเฉพาะเงินต้นเท่านั้น และยังคงต้องชำระดอกเบี้ยตามปกติ โดยมีรายละเอียดในการดำเนินงานดังนี้

1) ธ.ก.ส. เปิดลงทะเบียนกองทุนหมู่บ้านฯ ที่สมัครใจเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นกองทุนหมู่บ้านฯ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2562และจะเริ่มดำเนินการพักชำระหนี้เงินต้นตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 - 30 ก.ย. 2563 (1 รอบปีบัญชีของธนาคาร)

2) ธนาคารออมสินเปิดลงทะเบียนกองทุนหมู่บ้านฯ ที่สมัครใจเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นกองทุนหมู่บ้านฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. - 31 ธ.ค. 2562 และจะเริ่มดำเนินการพักชำระหนี้เงินต้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค. 2563 (1 รอบปีบัญชีของธนาคาร)



นา-อีสาน-ข้าว-ชนบท-เกษตร-เศรษฐกิจ-แล้ง

1 ส.ค. เกษตรกรลูกหนี้ ธ.ก.ส. ในเขตภัยแล้ง ใช้สิทธิลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.1 ต่อปี

ส่วนมาตรการเพื่อบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ปี 2562 และเกษตรกรรายย่อย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาระหนี้สินของผู้ประสบภาวะวิกฤติภัยแล้งและลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรรายย่อย ประกอบด้วย 3 โครงการ ดังนี้

  • โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยลดดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) (ประกาศเขตฯ ภัยแล้ง) ให้ได้รับสิทธิ์จ่ายดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.1 ต่อปี สำหรับต้นเงินกู้ที่ไม่เกิน 300,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2562 ถึงวันที่ 31 ก.ค. 2563 
  • โครงการขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ โดยขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดที่มีการประกาศเขตฯ ภัยแล้ง ให้ได้รับสิทธิ์ขยายเวลาชำระหนี้เดิมเป็นระยะเวลา 2 ปี นับจากงวดชำระเดิม แต่ไม่เกินวันที่ 31 ก.ค. 2564 
  • มาตรการสินเชื่อผ่อนปรนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ให้มีเงินทุนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าลงทุนเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพ และเป็นค่าสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือโรงเรือนการเกษตร รวมถึงฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ วงเงินรวม 55,000 ล้านบาท

ส่วนโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิ์ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 (รอบที่ 1) กับกรมส่งเสริมการเกษตร



สำเพ็ง

แจกเงิน-ลดภาษี หนุนใช้จ่าย-ลงทุน

ส่วนมาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ สนับสนุนการใช้จ่ายในภาคการท่องเที่ยวและส่งเสริมการลงทุนของ SMEs และภาคเอกชนผ่านมาตรการทางการเงินและมาตรการทางภาษี ประกอบด้วย

มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ "ชิม ช็อป ใช้" เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) โดยผู้สนใจเข้าร่วมมาตรการจะต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันลงทะเบียน และมีบัตรประจำตัวประชาชน สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการผ่านเว็บไซต์

ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการลงทะเบียนจะได้รับสิทธิประโยชน์ 2 ส่วน

1) รัฐบาลสนับสนุนวงเงินจำนวน 1,000 บาทต่อคนเพื่อเป็นสิทธิในการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ โดยไม่สามารถถอนเป็นเงินสดได้

2) หากผู้ลงทะเบียนเติมเงินเพิ่มเติมเพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก หรือค่าสินค้าท้องถิ่น จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ รัฐบาลจะสนับสนุนวงเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 15 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน) เพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน

ทั้งนี้ ในการซื้อสินค้าและบริการดังกล่าวจะต้องเป็นการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่รับชำระเงินด้วยแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน”


อีกด้านหนึ่งคือ โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมดำเนินการร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โดยมีวงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพื่อสนับสนุน SMEs ทั่วไปให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เสริมสภาพคล่องหรือลงทุนขยายกิจการ และสนับสนุน SMEs ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเพื่อปรับปรุงซ่อมแซม ขยายกิจการ และยกระดับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการให้บริการ

โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 8 (PGS8)วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 150,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ต้องการสินเชื่อจากสถาบันการเงินแต่มีหลักประกันไม่เพียงพอ ระยะเวลาค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ค่าธรรมเนียมค้ำประกันเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปี โดย บสย.จ่ายค่าประกันชดเชยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 30 และรัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการเฉลี่ยไม่เกิน 2 ปี หรือร้อยละ 3.5 ของวงเงินค้ำประกัน

พร้อมกับมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรได้ 1.5 เท่าของที่จ่ายจริง (หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา 1 เท่าตามปกติ และทยอยหักรายจ่ายส่วนเพิ่มอีก 0.5 เท่า โดยเฉลี่ยเท่ากันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี) สำหรับการลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2562 ถึงวันที่ 31 พ.ค. 2563

นอกเหนือจากโครงการ/มาตรการสนับสนุนการลงทุนของ SMEs และการลงทุนของภาคเอกชนผ่านมาตรการด้านสินเชื่อ การค้ำประกันสินเชื่อ และมาตรการภาษีดังกล่าวข้างต้นแล้ว สถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ยังมีมาตรการสินเชื่อผ่อนปรนเพื่อสนับสนุน SMEs และที่อยู่อาศัยเพื่อสนับสนุน SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มขึ้น เพื่อเสริมสภาพคล่องหรือลงทุนขยายกิจการ และสนับสนุนให้ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อ SMEs และวงเงิน 52,000 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย

สศค.กัดฟัน ประกาศปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้โตร้อยละ 2.8-3.2 ส่งออกติดลบ

กระทรวงการคลังได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2562 ใหม่ อยู่ที่ร้อยละ 3 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.8-3.2 ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ระดับร้อยละ 3.8 และลดลงจากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.1 จากปัจจัยเสี่ยงสงครามการค้า ส่งผลกระทบให้มูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้มีแนวโน้มขยายติดลบร้อยละ 0.9 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.1 ถึง -0.7 จากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.4

ทั้งนี้ ในส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าจะขยายตัวมากกว่าปีก่อน ที่ 40 ล้านคน จากคาดการณ์เดิมที่ 38.3 ล้านคน เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายระยะเวลามาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival : VOA)

โดยกระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 จะช่วยบรรเทาค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อย ช่วยรักษากำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานราก กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยที่จะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และผู้ประกอบการทั่วไป ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นและสร้างแรงส่ง (Momentum) ให้เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 และปี 2563 ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :