เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เกล็น รูตเบิร์ช (Glenn Rudebush) รองประธานด้านการวิจัยจากธนาคารคารกลางสหรัฐฯ ในซานฟรานซิสโก ออกมาเปิดเผยถึงสถานการณ์โลกร้อนที่เกี่ยวพันกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ในทิศทางไม่ค่อยสู้ดีนัก เพราะมันอาจก่อให้เกิดวิกฤตทางการเงิน รวมถึงส่วนต่างอัตราตอบแทนบัตรเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนถึงการใช้เงินอย่างระมัดระวังของประชาชน ส่งผลให้ไม่เกิดการไหลเวียนของระบบเศรษฐกิจ
รูตเบิร์ชกล่าวว่า ภาวะโลกร้อนอาจส่งผลกระทบทางตรงกับเศรษฐกิจระดับมหภาค เนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานเสียหาย ซึ่งความเดือดร้อนยังลามไปถึงความเสียหายด้านพืชผลทางการเกษตร และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงจากภัยแล้ง น้ำท่วม หรือพายุเฮอริเคน
ขณะที่นโยบายหลักของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น หรือการซื้อสินทรัพย์ขนาดใหญ่ ไม่ได้ออกแบบมารับมือกับภาวะโลกร้อน นักวิจัยคนดังกล่าวจึงต้องการให้ผู้กำหนดนโยบายของแต่ละธนาคาร นำสมการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายมหาศาลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบาย
อย่างไรก็ตาม ภาวะโลกร้อนก็ไม่ได้ถูกละเลยจากธนาคารเสียทีเดียว รายงานยังเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ หลายแห่ง ได้นำการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปอยู่ในการประเมินความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ และอนาคตการเงินเรียบร้อยแล้ว
ด้าน เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) ประธานของธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวกับสมาชิกสภานิติบัญญัติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ว่ามันเป็นการตั้งคำถามที่ ‘สมเหตุสมผล’ ธนาคารกลางแสดงท่าทีอย่างไรในการประเมินเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบทางตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะปัญหาสภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข
ย้อนกลับไปที่รองประธานด้านการวิจัยจากธนาคารคารกลางสหรัฐฯ ในซานฟรานซิสโกอย่างรูตเบิร์ช เขาได้ออกมาแนะนำให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้เดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมาย เพื่อเปลี่ยนแปลงให้สหรัฐฯ มีเทคโนโลยีที่สะอาดมากขึ้น โดยกำหนดอัตราภาษีระดับสูงกับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายค่าธรรมเนียมการปล่อยมลพิษ
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ 45 คน ได้รับรองความเห็นของรูตเบิร์ชล่วงหน้ากับทาง the Wall Street Journal ตั้งแต่เดือนมกราคม ว่าการเก็บภาษีคาร์บอนไดออกไซด์ จะเป็นการส่งสัญญานด้านราคาที่ทรงประสิทธิภาพ เพื่อควบคุมกลไกลของตลาด และเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society)
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความกดดันอีกมากที่กำลังจะเกิดขึ้นในสภาคองเกรสเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นสัญญาจะออกกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ประเด็นดังกล่าวอาจจะเดินหน้าไปได้ไม่ไกลนักในรัฐบาลสมัยนี้
เหตุจากพรรครีพับลิกันเป็นผู้ควบคุมวุฒิสภายืนอยู่คนละฝั่งกับผู้แทนจากพรรคเดโมแครตอย่างเพโลซี อีกทั้งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เคยกล่าวระหว่างการหาเสียงว่า ไม่เห็นด้วยในการเก็บภาษีคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงไม่มั่นใจว่าภาวะโลกร้อนเกิดจากฝีมือของมนุษย์
ที่มา :