ไม่พบผลการค้นหา
วันที่ 22 เม.ย. ของทุกปีเป็นวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day ซึ่งมีจุดประสงค์ให้คนมีสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราไปทบทวนกันว่าช่วงปีที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง

วันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day (22 เม.ย.) ถูกกำหนดขึ้นเมื่อปี 1970 โดยนายเกย์ลอร์ด เนลสัน ส.ว.พรรคเดโมแครตจากมลรัฐวิสคอนซินของสหรัฐฯ ซึ่งหวังว่าจะยกเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมือง หลังจากที่สหรัฐฯ ประสบปัญหาน้ำเน่าเสียถูกปล่อยลงแม่น้ำ และประชาชนจำนวนมากต้องเผชิญหมอกควันหนาจากโรงงานอุตสาหกรรม

แม้จะมีคนหันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และประชากรโลกก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาก๊าซเรือนกระจก ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและการล่าสัตว์ป่า ปัญหาฝนกรด รวมถึงปัญหาขยะในท้องทะเล

สำนักข่าว Vox ได้คัดเลือก 7 สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันคุ้มครองโลกปีที่แล้วจนถึงวันนี้ที่เราควรได้เรียนรู้

1. ปัญหาพลาสติกย่ำแย่กว่าที่เราคิด

ข่าวที่น่าหดหู่ข่าวหนึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา คือ ข่าววาฬหัวทุยหนัก 6 ตันเกยตื้นบนหาดทางตอนใต้ของสเปน โดยในท้องของมันมีพลาสติกถึง 29 กิโลกรัม ซึ่งบ่งบอกว่าปริมาณพลาสติกที่ถูกทิ้งลงไปในทะเลมีปริมาณมหาศาล

พลาสติกเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ย่อยสลายยาก อาจต้องใช้เวลาหลายศตวรรษกว่าจะย่อยสลายหมด และมนุษย์ก็ไม่สามารถควบคุมให้พลาสติกอยู่แต่บนบกได้ ทำให้พลาสติกถึงร้อยละ 32 ไปอยู่ในแหล่งธรรมชาติ และลงไปอยู่ในท้องของนก ปลา วาฬ และอาจลงมาอยู่ในท้องของมนุษย์ในที่สุด โดย Orb Media องค์กรไม่แสวงหากำไรพบว่าตัวอย่างน้ำดื่มจากทั่วโลกถึงร้อยละ 83 มีไฟเบอร์พลาสติกปะปนอยู่ นอกจากนี้ ยังพบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในตัวอย่างน้ำขวดร้อยละ 93 ของทั้งหมด 250 ขวด

เมื่อปีก่อนนักวิจัยหลายคนได้ร่วมกันเรียกร้องให้มีข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่อควบคุมมลพิษจากพลาสติก และวันคุ้มครองโลกปีนี้ก็มีธีมหลักในการแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติก โดยมุ่งเป้าไปที่การลดการใช้หลอดพลาสติกด้วย และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เพิ่งสั่งห้ามใช้หลอดพลาสติกและคอตตอนบัด

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบเอ็นไซม์ที่สามารถย่อยสลายพลาสติกได้ ถือเป็นความหวังว่ามันจะช่วยให้มนุษย์สามารถย่อยพลาสติกได้เร็วขึ้น

หลอดดูด


2. แรดเพศผู้สายพันธุ์นอร์เธิร์นไวท์ตัวสุดท้ายของโลกตายแล้ว

'ซูดาน' แรดพันธุ์นอร์เธิร์นไวท์ตัวผู้ตัวสุดท้ายของโลกตายแล้วในวัย 45 ปี ที่ศูนย์อนุรักษ์สัตว์ในเคนยา มันตายไปโดยที่ไม่สามารถมีลูกได้ก่อนตาย และเมื่อ 'ซูดาน' ตายลงไป ก็ทำให้โอกาสในการขยายพันธุ์แรดนอร์เธิร์นไวท์หมดลง หากอสุจิของ 'ซูดาน' ที่เคยเก็บไว้ตอนทำแคมเปญระดมทุนด้วยการนำ 'ซูดาน' ไปสมัครทินเดอร์ แล้วนำมาผสมเทียมไม่สำเร็จ หมายความว่าแรดไวท์นอร์เธิร์นก็จะสูญพันธุ์ไปตลอดกาล เมื่อตัวเมียที่เหลือตายลง

ข่าวนี้ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนกับอีกครั้งในวันคุ้มครองโลกนี้ว่ามีสัตว์สูญพันธุ์ไปกี่สายพันธุ์แล้ว เมื่อเดือนธันวาคมปี 2017 ที่ผ่านมา ศูนย์บริการอนุรักษ์ปลาและสัตว์ป่าของสหรัฐฯ เพิ่งประกาศให้หอยทากน้ำจืดสายพันธุ์ beaverpond marstonia สูญพันธุ์ เพราะมลภาวะทางน้ำ

ปีก่อน สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (UICN) เปิดเผยว่า ค้างคาว Pipistrelle บนเกาะคริสต์มาสของออสเตรเลียก็สูญพันธุ์ เช่นเดียวกับตุ๊กแก จิ้งเหลนหางฟ้า และจิ้งเหลนวิปเทลบนเกาะนี้ และยังมีสัตว์อีกหลายสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์แล้ว

แรด

ภาพ 'ซูดาน' โดย Ol Pejeta Conservancy


3. พบสัตว์บางสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น เช่น กบแบล็คอายลีฟ ซึ่งขึ้นมาอยู่ในกลุ่ม "น่ากังวลน้อยที่สุด" เช่นเดียวกับกบฮาร์เลอควิน และปลากระพงลายอ่าวเชซาพีค นอกจากนี้ สถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์ยังเปิดเผยว่า เพิ่งพบพืชและสัตว์สายพันธุ์ใหม่อีก 85 สายพันธุ์ ตั้งแต่ดอกไม้ ฉลาม แมงมุม ไปจนถึงไส้เดือน

Agalychnis_moreletii

ภาพ กบแบล็คอายลีฟ โดย Vladlen Henríquez จาก Calphotos Berkeley


4. น้ำแข็งที่กรีนแลนด์ละลายเร็วกว่าที่เราคิด

เราต่างรู้ดีว่าโลกร้อนขึ้น แต่ช่วงปีที่ผ่านมา บริเวณขั้วโลกร้อนขึ้นเร็วกว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 2 เท่า ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ฉับพลันได้ โดยนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ปีที่แล้วน้ำแข็งในทวีปอาร์กติกละลายในอัตราเร็วที่สุดในรอบอย่างน้อย 1,500 ปี และอาร์กติกในช่วงเดือนมกราคมมีปริมาณน้ำแข็งน้อยที่สุด ทั้งที่เป็นช่วงฤดูหนาว

นอกจากนี้ นักวิจัยรายงานว่าแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายเร็วขึ้นถึงร้อยละ 80 ส่วนผลการศึกษาอีกชิ้นก็ระบุว่า แผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายเร็วที่สุดในรอบอย่างน้อย 400 ปี และอัตราเร็วของการละลายก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากช่วงปี 1990 ซึ่งหากแผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์ละลายไปหมด ก็จะทำให้ระดับน้ำทะเลโลกสูงขึ้นอีกประมาณ 6 เมตร

ภูเขาน้ำแข็ง

Photo by Alexander Hafemann on Unsplash


5) หญ้าทะเลในอ่าวเชซาพีคได้รับการฟื้นฟูแล้วด้วยความร่วมมือของมนุษย์

อ่าวเชซาพีคเป็นบริเวณปากแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ และถือเป็นบริเวณที่มีมลพิษมากที่สุดแห่งหนึ่งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะปุ๋ยและของเสียจากฟาร์มและโรงเลี้ยงสัตว์ ทำให้ไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในน้ำสูง จนสัตว์น้ำและพืชน้ำบริเวณนั้นตาย รัฐบาลจึงออกมาตรการจัดการมลพิษ ตั้งแต่ป้องกันไม่ให้ปุ๋ยไหลลงสู่แหล่งน้ำ ปราบปรามโรงบำบัดน้ำเสียและโรงงานต่างๆ ที่แอบปล่อยน้ำเสียลงในแหล่งน้ำ

เมื่อหญ้าทะเลเติบโตได้ สัตว์น้ำต่างๆ ก็จะตามมา เพราะหญ้าทะเลเป็นทั้งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ ดังนั้น น้ำหญ้าทะเลจึงหลายเป็นตัวพิสูจน์ว่ามาตรการของรัฐบาลใช้ได้ผล ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกมาตรการใหม่ในการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ที่อื่นๆ ด้วย


6. มนุษย์ยังไม่พร้อมรับมือกับภัยพิบัติ

ช่วงปี 2017 ที่ผ่านมาเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมากมาย ซึ่งตอกย้ำว่าแต่ละประเทศมีความเสี่ยงสูง แต่มีมาตรการรับมือกับสภาพอากาศรุนแรงน้อยมาก โดยปีที่ผ่านมา มูลค่าความเสียหายจากภัยธรรมชาติในสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวก็สูงกว่า 306,000 ล้านดอลลาร์ สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ นักวิจัยคาดการณ์ว่าฝนตกหนัก พายุลูกใหญ่ และไฟป่าจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น แต่มนุษย์ก็ยังคงกลับไปทำนิสัยเดิมๆ ด้วยการสร้างบ้านในพื้นที่น้ำท่วม พื้นที่ที่มักเกิดไฟป่า หรือสร้างบ้านพักริมทะเล แม้ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น

น้ำท่วม.jpg


7. มนุษย์ใกล้พบดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่เหมาะสมกับมนุษย์แล้ว

เท่าที่รู้ตอนนี้ โลกยังเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวในจักรวาลที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ แต่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลกได้มากขึ้น โครงการกล้องโทรทัศน์เคปเลอร์ สเปซค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีลักษณะใกล้เคียงกับโลกหลายดวง โดยปีที่ผ่านมา นักวิจัยพบดาวเคราะห์ที่มีคล้ายใกล้เคียงกับโลก 7 ดวงหมุนรอบดาวเคราะห์แคระ Trappist-1 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นาซาเพิ่งส่งยานอวกาศลำใหม่เพื่อไปหาโลกใหม่นอกระบบสุริยะ ซึ่งเป็นโครงการที่มีมูลค่าถึง 228 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ดาวเคราะห์แคระ Trappist-1 อยู่ห่างจากโลกไปถึง 10 ปีแสง ซึ่งคงต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคนกว่าจะเดินทางไปถึง มนุษย์คงยังต้องติดอยู่ในโลกใบนี้อยู่อีกนาน ดังนั้น การช่วยกันดูแลรักษาโลกใบนี้จึงเป็นวิธีที่สุดที่เราจะทำได้ในขณะนี้

ส่วนงานวันคุ้มครองโลกในประเทศไทยปีนี้ จัดโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมแนวคิด “คนรุ่นใหม่ ลดขยะพลาสติก กู้วิกฤตโลกร้อน” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เพื่อส่งสารขอความร่วมมือจากคนรุ่นใหม่ หรือ Active Citizen ในการช่วยกันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และปกป้องคุ้มครองโลกจากวิกฤตภัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม การดำรงชีวิตของมนุษยชาติ และสิ่งมีชีวิต

ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ นิทรรศการกลางแจ้ง “วิกฤติขยะพลาสติก วิกฤติโลกร้อน” โดยหน่วยงานต่าๆ พร้อมด้วยลูกบอลยักษ์ One Tonne of CO2 ขนาด 10.07 เมตร และ 3D Street Painting สะท้อนวิกฤติโลกร้อน สาระความรู้ “การนุ่งห่มตามวิถีไทย ร่วมใจ รักษ์โลก” โดย กลุ่มคนรักษ์ผ้าไทไทย และละครเวที “คุณพี่น้ำดื่ม แม่ Cap Seal…รักนี้เพื่อโลก” โดย กรมควบคุมมลพิษ

ที่มา: Vox

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: