ไม่พบผลการค้นหา
รายงานชี้ 1 ใน 5 ของชาวอังกฤษ ที่ได้รับยาตามคำสั่งแพทย์ มีโอกาสเสี่ยงเสพติดยา

รายงานจากกรมสาธารณสุขของอังกฤษพบความน่ากังวลของการใช้ยาแก้ปวดชนิดรุนแรง ยาแก้อากาวซึมเศร้า และยานอนหลับ เนื่องจากผู้ป่วยกว่าครึ่งหนึ่งใช้ยาเหล่านี้เป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน ตามข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2561 ซึ่งการใช้ยาเหล่านี้เป็นเวลานานเกินไปอาจเป็นสัญญาณถึงอาการเสพติดยา

'พอล คอสฟอร์ด' ผู้อำนวยการกรมสาธารณสุขอังกฤษ แสดงความกังวลถึงสถานการณ์นี้ โดยกล่าวว่า ยาเหล่านี้มีความสำคัญในการรักษาและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ อย่างไรก็ตามมีหลายกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาเหล่านี้นานเกินมาตรฐานความเหมาะสมในการรักษา

ขณะที่ 'เฮเลน สโตรกส์-แลมพาร์ด' แพทย์จากหน่วยงานวิชาชีพสำหรับผู้ปฏิบัติงานทั่วไปในสหราชอาณาจักร (RCGP) ชี้ว่า โดยทั่วไปแพทย์ไม่ต้องการจะสั่งยาเป็นระยะเวลานานให้กับผู้ป่วย แต่ในบางครั้งแพทย์ก็ไม่มีทางเลือก พร้อมชี้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น "เครื่องบ่งชี้สำคัญว่าวงการแพทย์ขาดยาทดแทนอย่างหนัก"

จากข้อมูลของกรมสาธารณสุขสะท้อนว่า ผู้หญิงกว่าร้อยละ 50 มีความเสี่ยงในการใช้ยาเหล่านี้ในอัตราที่สูงขึ้นเมื่ออายุสูงขึ้น นอกจากนี้ในแต่ละปี ประชากรอังกฤษกว่า 12 ล้านคน ยังได้รับยาที่อาจก่อให้เกิดอาการเสพติดจากแพทย์ ซึ่งในจำนวนนี้ รวมประชากรวัยผู้ใหญ่ราว 7.3 ล้านคน ที่ได้รับยาแก้อาการซึมเศร้าด้วย

ปัจจุบันประชากรชาวอังกฤษราว 5.6 ล้านคน ได้รับยาที่มีส่วนประกอบของ 'โอปิออยด์' (opioid) ขณะที่อีก 3.9 ล้านคน รับประทานยาที่มีส่วนประกอบของ 'เบนโซไดอะซีปีน' (benzodiazepines) และ 'กาบาเพนตินอยด์' (gabapentinoids) ซึ่งใช้รักษาอาการเครียดและอาการนอนไม่หลับ ซึ่งในหลายกรณีผูุ้ป่วยก็ใช้ยาร่วมกันหลายชนิด

ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ใช้ยาดังกล่าว ใช้ยาต่อเนื่องเกิน 12 เดือน และเกือบหนึ่งในสามใช้ยาเหล่าอย่างน้อย 3 ปี ขณะที่ยาเหล่านี้สมควรใช้ในระยะสั้นเท่านั้น 

อ้างอิง; BBC, NST, Telegraph