รายงานของทีมวิจัยของ ดร.จง หนันซาน นักระบาดวิทยาจีนระบุว่า เชื้อไวรัสโคโรนา 2019-nCoV นั้นอาจจะใช้เวลาในการฟักตัวยาวนานถึง 24 วัน ไม่ใช่ 14 ตามที่เข้าใจในช่วงแรก หลังจากพบว่า มีผู้ป่วยน้อยกว่าครึ่งมีอาการไข้ในช่วงแรกเท่านั้น
ผลการสำรวจตัวอย่างของคนไข้กว่า 1,000 คนที่ติดเชื้อในเมืองอู่ฮั่นระบุว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนามีอาการมีไข้ในระยะแรกเพียง 43.8 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้วกลับมีการแสดงอาการไข้เพิ่มขึ้นเป็น 87.9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราส่วนของการติดเชื้อไวรัสโรคซาร์สและเมอร์สแล้ว ทำให้การแสดงอาการไข้ของเชื้อไวรัสโคโรนาฯ น้อยกว่าอย่างชัดเจน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า 'ระบบคัดกรอง' อาการไข้สูงเพราะการได้รับเชื้อไวรัสฯ นั้นอาจจะไม่ได้ผล
งานวิจัยชิ้นใหม่นี้ยังระบุว่า ผู้ป่วยจำนวน 840 คน มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่แสดงให้เห็นอาการความผิดปกติของปอด และ 46 เปอร์เซ็นต์โชว์ให้เห็นร่องรอยของโรคที่ไม่ชัดเจน ซึ่งทางทีมวิจัยสรุปว่า การทำซีทีสแกนอย่างเดียวนั้นไม่สามารถยืนยันอาการและระยะของโรคปอดอักเสบได้ 100 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน
ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมาระบุว่า จากการสำรวจผู้ป่วยในช่วงวันที่ 1 - 29 ม.ค.จากโรงพยาบาล 552 แห่งใน 31 มณฑลของจีน มีเพียง 1.18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีประวัติการสัมผัสกับสัตว์ป่าที่ต้องสงสัยว่าเป็นตัวการการแพร่เชื้อโรคโดยตรง และเกือบ 1 ใน 3 คนเดินทางไปอู่ฮั่นและ 71.8 เปอร์เซ็นต์เคยมีประวัติในการติดต่อกับผู้ที่มาจากอู่ฮั่น
ไม่มีหลักฐานเชื้อไวรัสแพร่ผ่านอากาศ
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญของจีนยืนยันว่า เชื้อไวรัสไม่สามารถลอยตัวหรือมีชีวิตอยู่ในอากาศได้นาน และไม่มีหลักฐานว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสามารถแพร่กระจายตัวผ่านอากาศได้
เฟิ่ง ลู่จ้าว นักวิจัยโรคติดต่อจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีนกล่าวว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสามารถแพร่กระจายผ่านทางละอองน้ำลายและการสัมผัส โดยมีระบะการกระจายของเชื้อไวรัสฯเพียง 1 - 2 เมตรเท่านั้น
ทั้งนี้เขายังแนะนำให้ทุกคนใช้ผ้าเช็ดหน้า หรือแขนและมือ ปิดปากและจมูกทุกครั้งเมื่อไอหรือจาม เพื่อป้องกันการกระจายของละอองน้ำลายและน้ำมูก
ปัจจุบันตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในจีนมีทั้งหมด 42,638 ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 1,016
ที่มา straitstimes / CNA
ข่าวที่เกี่ยวข้อง