ไม่พบผลการค้นหา
วิจัยชี้ 40 จาก 138 ผู้ติดเชื้อระยะแรกคือบุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่อีก 17 คน เป็นผู้ป่วยที่มารับการรักษาด้วยโรคอื่นก่อนหน้าแล้ว สะท้อนปัญหาการติดเชื้อในโรงพยาบาล

งานวิจัยชิ้นล่าสุดที่เผยแพร่บนวารสารการแพทย์ของสมาคมการแพทย์อเมริกัน หรือ JAMA พบว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาในระยะแรกจำนวน 40 จาก 138 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำการรักษาโรค และอีก 17 จาก 138 คน เป็นผู้ป่วยที่รับการรักษาโรคอื่นอยู่ก่อนแล้ว

ผลสรุปของรายงานดังกล่าวชี้ว่า ระยะแรกของการแพร่ระบาดเกิดขึ้นภายในโรงพยาบาล ซึ่งมีชื่อเรียกปรากฎการณ์แบบนี้ว่า 'nosocomial transmission' หรือการติดเชื้อภายในโรงพยาบาล 

จากงานศึกษายังพบว่า มีกรณีที่ผู้ป่วยหนึ่งรายอาจแพร่เชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์ถึง 10 คน 

โคโรนาไวรัส - โรงพยาบาล - AFP

ผู้เขียนรายงานอธิบายว่า สาเหตุที่การแพร่ระบาดเกิดขึ้นอย่างรวมเร็วเป็นเพราะ ผู้ป่วยเองไม่ทราบว่าตนติดเชื้อแล้ว เพราะไม่มีอาการจามและมองว่าการหายใจติดขัดเกี่ยวข้องกับโรคหวัดธรรมดา 

นายแพทย์แอนโทนี ฟูซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ ชี้ว่า แม้ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตัวเองสบายดีในวันแรกหรือวันที่สอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะยังสบายดีในวันที่ 4 หรือ 5 หรือ 6 

อาการป่วยที่พบเห็นได้จากการศึกษา

  • มีไข้ ร้อยละ 98.6 
  • อ่อนเพลีย ร้อยละ 69.6
  • ไอแบบไม่มีเสมหะ ร้อยละ 59.4 
  • ปวดกล้ามเนื้อ ร้อยละ 34.8
  • หายใจไม่สะดวก ร้อยละ 31.2 

ผู้เขียนชี้แจงว่าการแพร่ระบาดได้เกิดขึ้นแล้วอย่างรวดเร็วอ้างอิงจากข้อมูลที่ศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งเครื่องชี้วัดที่ได้จากค่าเฉลี่ยที่ผู้ป่วย 1 คน จะแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้กี่คนในประชากรที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน หรือ basic reproductive number (Ro) พบว่า Ro ของเชื้อไวโรโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019-nCoV อยู่ที่ 2.2 ขณะที่ เมื่อเทียบกับ ค่า Ro ของโรคซาร์ส ตามงานวิจัยจากศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ อยู่ที่ช่วง 0.43 - 2.41 โดยมีค่ากลางที่ 1.10

รายงานปิดท้ายว่า ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาแบบเฉพาะเจาะจงกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัส มีเพียงแต่การตามดูแลอาการอย่างใกล้ชิดเท่านั้น และสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดตอนนี้คือการควบคุมแหล่งแพร่กระจายโรค ขณะเดียวกัน การให้ยาต้านไวรัสกับผู้ป่วยก็ไม่ได้มีผลกับผู้ป่วยทุกคน และอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 4.3 

อ้างอิง; CNN, ST, NBC News