โจโก วิโดโด หรือ 'โจโกวี' ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เดินทางเยือนพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มในจังหวัดสุลาเวสีกลาง บนเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย เมื่อวานนี้ (1 ต.ค.) โดยสถิติผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,200 ราย นับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.5 แมกนิจูดและสึนามิสูงกว่า 5.4 เมตรถล่มเมือง เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา แต่คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจต้องปรับเพิ่มขึ้นอีก เพราะยังมีผู้สูญหายและผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวและสึนามิ
ความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้ถือว่าร้ายแรง และเป็นเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในรอบไม่ถึง 2 เดือนในอินโดนีเซีย เพราะก่อนหน้านี้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.4 แมกนิจูดบนเกาะลอมบอกเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิต 504 ราย ส่วนเหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดทำให้เกิดสึนามิความสูงประมาณ 5.4 เมตร ถล่มชายฝั่งทะเลเมืองปาลู
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สาเหตุที่ทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้มีได้รับความเสียหายหนักจนประธานาธิบดีต้องประกาศขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ และองค์กรระหว่างประเทศ เป็นเพราะพื้นที่ในหลายจุดถูกตัดขาด การลำเลียงความช่วยเหลือหรือส่งกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปกู้ภัยได้ยากลำบาก ส่วนจุดกระจายความช่วยเหลือหลักของรัฐบาลอินโดนีเซียยังอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุมากกว่า 1,500 กิโลเมตร
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทำให้ไฟฟ้าดับ ถนนขาด และสัญญาณสื่อสารขัดข้อง สนามบินบนเกาะสุลาเวสีต้องประกาศยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมาก เพื่อเปิดให้เครื่องบินลำเลียงของกองทัพดำเนินการรับส่งผู้บาดเจ็บไปรักษาตัวในโรงพยาบาลละแวกใกล้เคียง โดยช่วง 3 วันที่ผ่านมา สามารถลำเลียงผู้บาดเจ็บและผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่ได้ราว 3,000 คนเท่านั้น แต่ยังเหลือผู้ที่ต้องการเดินทางออกจากเกาะอีกประมาณ 3,000 คน
การเชื่อมต่อข้อมูลไม่ราบรื่น-กระทบการตัดสินใจ
หลุยส์ คอมฟอร์ต นักวิชาการด้านการป้องกันและบริหารจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์กของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยให้ความช่วยเหลือรัฐบาลอินโดนีเซียในการติดตั้งระบบเตือนภัยพิบัติในทะเล หลังเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มในแถบมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2547 ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอพี/ไทม์ ของสหรัฐฯ เพิ่มเติมวันนี้ (2 ก.ย.) ว่าระบบเตือนภัยสึนามิของอินโดนีเซียประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณ จึงขาดความต่อเนื่องในการพัฒนาระบบ
คอมฟอร์ตอธิบายว่าเรดาร์ตรวจจับแรงสั่นสะเทือนที่อยู่บนฝั่งนั้นทำงานได้ตามปกติ แต่ทุ่นตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนใต้น้ำจำนวน 22 ทุ่น ในทะเลชายฝั่งอินโดนีเซียไม่ไกลจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวใช้งานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะชิ้นส่วนถูกขโมยและไม่ได้รับการซ่อมบำรุงจากหน่วยงานรัฐบาล
ขณะเดียวกัน การวางระบบเคเบิลเชื่อมต่อสัญญาณใต้น้ำยังม่แล้วเสร็จ เหลืออีกเพียงไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น เพราะงบประมาณถูกตัดในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้การประเมินการก่อตัวของคลื่นสึนามิและการเชื่อมต่อกับระบบดาวเทียมของศูนย์เตือนภัยที่อยู่บนฝั่งรวบรวมข้อมูลได้ไม่ครบถ้วน และประกาศยกเลิกเตือนภัยสึนามิเร็วเกินไป
ทั้งนี้ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า เหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.5 แมกนิจูดที่อินโดนีเซียเกิดขึ้นเมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 28 ก.ย.ตามเวลาท้องถิ่น และมีประกาศเตือนภัยสึนามิ เนื่องจากข้อมูลที่รวบรวมได้บ่งชี้ว่าจะมีสึนามิสูงประมาณ 0.50-3.00 เมตร แต่ศูนย์เตือนภัยภิบัติประกาศยกเลิกคำเตือนดังกล่าวในเวลา 36 นาทีต่อมา ทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดความรู้สึกว่าพื้นที่ริมฝั่งทะเลไม่มีอันตราย จึงเข้าไปสำรวจความเสียหายในพื้นที่ จึงต้องเจอกับคลื่นสึนามิที่ก่อตัวและซัดเข้าฝั่งด้วยความสูงคลื่นประมาณ 5.4 เมตร
ได้ยินสัญญาณเตือนภัยให้หนีขึ้นที่สูง
ซีเอ็นเอ็นระบุด้วยว่า นอกเหนือจากระบบเตือนภัยที่ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพแล้วยังพบว่าประชาชนในพื้นที่ริมฝั่งทะเลอินโดนีเซียมีความรู้และการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติน้อยมาก และรัฐบาลจะต้องรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้คนในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติเข้าถึงหลักปฏิบัติในการหนีภัย โดยเฉพาะกรณีเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ติดทะเล ประชาชนจะต้องหนีขึ้นที่สูง เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากคลื่นที่จะซัดเข้าหาฝั่ง
อดัม สวิตเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาแห่งศูนย์สำรวจโลกของสิงคโปร์ สนับสนุนแนวคิดเรื่องการฝึกซ้อมหนีภัยและการเตรียมความพร้อมของประชาชนให้ตระหนักถึงการรับมือภัยพิบัติ เนื่องจากระบบสัญญาณเตือนภัยไม่สามารถคำนวณการเกิดภัยพิบัติได้ 100 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นควรติดตั้งและตรวจสอบการทำงานของระบบสัญญาณเตือนภัย รวมถึงหอกระจายเสียง และการเตรียมรถกระจายเสียงไปแจ่้งประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติให้อพยพออกจากพื้นที่ โดยต้องมีการเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ ตลอดจนจัดการฝึกซ้อมหนีภัยให้ประชาชนรับทราบขั้นตอนการหนีภัยที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ
สวิตเซอร์ระบุว่ากรณีสึนามิที่สุลาเวสี มีสถานการณ์ที่แตกต่างจากสึนามิในแถบมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2547 ได้แก่ การเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาหลายระลอก รวมถึงเกิดดินถล่มใต้ทะเล ทำให้ตะกอนใต้น้ำถูกซัดมากับคลื่นสึนามิที่มีความยาวสูงกว่าคลื่นปกติที่เกิดจากลมพายุ
ไทยมอบเงินช่วยเหลือแก่รัฐบาลอินโดนีเซีย
ส่วนการช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ ว่า เรื่องนี้ไม่เฉพาะภาคราชการแต่มีภาคเอกชนต่างๆที่มีความเชื่อมโยงกับทางอินโดนีเซีย มีความพร้อมที่จะช่วยกัน โดยเบื้องต้นมีกรอบแล้วว่าจะช่วยเงินสดจำนวนเท่าไหร่และสิ่งของจะมีอะไรมูลค่าเท่าไหร่ ซึ่งวันนี้รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศจากเป็นประธานการประชุมร่วมกับหลายส่วนรวมทั้งกองทัพที่กระทรวงต่างประเทศและจะแถลงเป็นทางการต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าสถานทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา ได้รายงานว่าทางการอินโดนีเซีย ต้องการความช่วยเหลือเรื่องใดบ้าง นายดอน กล่าวว่า ได้พูดถึงสิ่งของที่ต้องการ อาทิ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอุปกรณ์อีกหลายชนิด ส่วนการจะส่งทีมเข้าไปช่วยเหลือค้นหาทางอินโดนีเซียก็พร้อมแต่ขอความร่วมมือว่าผู้ที่จะเข้าไปขอให้ช่วยดูแลตัวเองด้วย อย่าเป็นภาระซึ่งกันและกัน ในส่วนของไทยจะช่วยเรื่องอุปกรณ์และสิ่งของต่างๆ
ส่วนเรื่องตัวบุคคลที่จะไปช่วยเหลือเราจะพูดคุยกันก่อนจะพร้อมในการเดินทางไปหรือไม่พร้อมก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะไทยกับอินโดนีเซียก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน โดยช่วงที่เกิดเหตุทางอินโดนีเซียได้ประสานงานกับสถานทูต ทหาร เพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ติดอยู่บริเวณเกาะสุลาเวสีฉะนั้นเราก็ให้ทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่กระทบต่อการเดินทางไปเยือนอินโดนิเซียของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 ต.ค.นี้ เพื่อร่วมประชุม ที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสถานที่เกิดเหตุ
เมื่อถามว่าเบื้องต้นได้กำหนดวงเงินที่ช่วยเหลือจำนวนเท่าไหร่ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า กว่า 10 ล้านบาท และอาจมีเอกชนช่วยเหลือเพิ่มเติมสูงขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: