ไม่พบผลการค้นหา
หลังเกิดเหตุเครื่องบิน 'ไลออนแอร์ อินโดนีเซีย' ตกทะเล เมื่อ 29 ต.ค. บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินโบอิ้ง 737 Max รุ่นเดียวกับลำที่เกิดเหตุ ได้ส่งคู่มือไปยังสายการบินทั่วโลก เพื่อให้ระมัดระวังการใช้งานเครื่องบินรุ่นดังกล่าว

บริษัท โบอิ้ง โค. ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของโลก ส่งคู่มือและหลักปฏิบัติด้านการบินไปยังสายการบินทั่วโลกที่เป็นเจ้าของเครื่องบิน โบอิ้ง 737 Max ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อแจ้งให้สายการบินและนักบินปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยในการขับเครื่องบินรุ่นดังกล่าว หลังพบหลักฐานบ่งชี้ว่า ระบบประเมินความเร็วของเครื่องบินรุ่นดังกล่าวไม่ทำงาน อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เที่ยวบิน JT610 ของสายการบินไลออนแอร์ อินโดนีเซีย ตกลงในทะเลเมื่อวันที่ 29 ต.ค. และผู้อยู่บนเครื่องบินทั้ง 189 รายเสียชีวิต

สำนักข่าวบลูมเบิร์กและรอยเตอร์ รายงานอ้างอิงแถลงการณ์ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางอากาศของอินโดนีเซีย รวมถึงคำให้สัมภาษณ์ของโฆษก บริษัท โบอิ้ง โค. ซึ่งระบุว่า ในกรณีที่ระบบประเมินความเร็วของเครื่องบินโบอิ้ง 737 Max ขัดข้อง และระบบออโตไพลอตไม่ได้เปิดใช้งาน อาจทำให้ระบบปฏิบัติการของเครื่องบินคำนวณผลผิดพลาด และดิ่งหัวลงกะทันหัน อาจทำให้นักบินสูญเสียการควบคุมได้

บ.โบอิ้งฯ แถลงว่า สายการบินและนักบินจะต้องปฏิบัติตามคู่มือการใช้งานเครื่องบินโบอิ้ง 737 Max อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น แต่บ.โบอิ้งฯ ไม่ได้เปิดเผยว่ามีสายการบินใดบ้างที่ใช้งานเครื่องรุ่นดังกล่าวอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ดิสอิสอินไซเดอร์ ซึ่งเป็นสื่อด้านเศรษฐกิจ รายงานว่า ปัจจุบันมีสายการบินประมาณ 40 แห่งทั่วโลก ใช้งานเครื่องบินโบอิ้ง 737 Max นอกเหนือจากไลออนแอร์ อินโดนีเซีย เช่น นอร์วีเจียนแอร์ เซาท์เวสต์แอร์ไลน์ การูดาอินโดนีเซีย เจ๊ตแอร์เวย์ส สไปซ์เจ็ต ไอซ์แลนด์แอร์ ฟลายดูไบ แอร์อิตาลี เตอร์กิชแอร์ไลน์ โอมานแอร์ เอธิโอเปียนแอร์ไลน์ ซิลก์แอร์

นอกจากนี้ยังรวมถึงสายการบินในจีนอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น แอร์ไชน่า ไชน่าเซาท์เทิร์น ชานตงแอร์ไลน์ ไห่หนานแอร์ไลน์ เซินเจิ้นแอร์ไลน์ และเซียะเหมินแอร์ไลน์

ขณะที่ความคืบหน้าการสอบสวนเหตุเครื่องบินโบอิ้ง 737 Max เที่ยวบิน JT610 สายการบินไลออนแอร์ อินโดนีเซีย เดินทางจากกรุงจาการ์ตาไปยังปลายทางเมืองปังกัลปีนัง ตกลงในทะเลนอกชายฝั่งเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 29 ต.ค. พบว่า เครื่องบินลำดังกล่าวมีปัญหาเครื่องตรวจวัดความเร็วขัดข้องมาแล้ว 3 ครั้ง และมีการซ่อมบำรุงเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวก่อนเที่ยวบิน JT610 จะออกจากสนามบินในกรุงจาการ์ตา

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของผู้เสียชีวิตในเที่ยวบิน JT610 ตั้งคำถามว่านักบินและลูกเรือได้รับคำแนะนำหรือการฝึกอบรมในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินรุ่นดังกล่าวมากน้อยเพียงใด และการที่เครื่องดิ่งหัวลงกะทันหันเป็นสาเหตุที่ทำให้นักบินไม่อาจควบคุมเครื่องบินและตกลงในทะเลใช่หรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนข้อเท็จจริงระบุว่าจะต้องรวบรวมและวิเคราะห์หลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: