ผศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สังกัดภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในพื้นที่บริเวณทางตะวันตกของเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย ว่ามีประเด็นที่น่าสนใจคือ หลังเกิดเหตุมีการเผยแพร่คลิปสึนามิอย่างกว้างขวาง ประกอบกับลักษณะการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนเป็นแบบการเลื่อนตัวด้านข้าง จึงไม่น่าทำให้เกิดสึนามิขนาดใหญ่ได้ ทั้งหน่วยงานของรัฐ นักวิชาการและภาคประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชนไทยพยายามเช็คต้นตอของคลิปที่ส่งต่อกันมาว่าเป็นเหตุการณ์จริงหรือไม่ก่อนเผยแพร่ เนื่องจากระยะหลังมีการเผยแพร่คลิปปลอมเกี่ยวกับภัยพิบัติจำนวนมาก อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและสังคมวุ่นวายได้ นับเป็นสัญญาณที่ดีมากของสังคมไทยโดยเฉพาะสื่อมวลชนในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่ดีมากด้วยการพยายามตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลหรือข่าวที่ได้รับก่อนเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ
อีกประเด็นที่สำคัญคือ การรายงานข่าวความเสียหายหลังเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติในพื้นที่ห่างไกลอาจจะยังไม่เป็นปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาการติดต่อสื่อสารหรือการเข้าถึงพื้นที่ ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลกระทบทันทีที่เกิดเหตุ มากกว่าที่จะฟังรายงานข่าวจากสื่อมวลชนหรือจากหน่วยงานในพื้นที่เพียงอย่างเดียว เพราะอาจช้าไม่ทันการ ทำให้การวางแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยมีประสิทธิภาพลดลงและล่าช้ามากขึ้น ในกรณีของแผ่นดินไหวสามารถประเมินความเสียหายเบื้องต้นโดยการคำนวณเชิงคณิตศาสตร์และใช้หลักสถิติจากข้อมูลพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว เพื่อสร้างแบบจำลองในการประเมินความเสียหายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว และบริหารจัดการบรรเทาภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประเด็นต่อมาคือ การตรวจวัดและการแจ้งเตือนสึนามิว่าถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7-7.5 และมีการเลื่อนตัวในแนวระนาบมีโอกาสทำให้เกิดสึนามิขนาดใหญ่ประเภทที่สามารถเดินทางไปทั่วโลกได้น้อยมาก แต่มีโอกาสเกิดสึนามิขนาดปานกลางที่มีคลื่นสูง 1-3 ในพื้นที่ชายฝั่งใกล้กับศูนย์กลางแผ่นดินไหว จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือหน่วยงานท้องถิ่นในการจัดระบบแจ้งเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ข้อมูลความลึกของพื้นทะเลเป็นข้อมูลที่สำคัญมากในการสร้างแบบจำลองสึนามิ ยิ่งข้อมูลมีความละเอียดมากเท่าไหร่ แบบจำลองที่สร้างขึ้นจะยิ่งมีความถูกต้องใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้นด้วย แต่การสำรวจข้อมูลเหล่ามีค่าใช้จ่ายสูงมาก
นอกจากนี้การสร้างแบบจำลองสึนามิมักจะทำจากข้อมูลแผ่นดินไหวพื้นฐาน จึงมักเป็นแบบจำลองเบื้องต้นและอาจไม่ได้ครอบคลุมปัจจัยพิเศษอย่างอื่น เช่น ลักษณะภูมิประเทศของอ่าวหรือการเกิดสึนามิแบบอื่น ๆ เช่น การถล่มของแผ่นดินในทะเล (submarine landslide) เป็นต้น ซึ่งอาจจะทำให้คลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นจากปัจจัยพิเศษเหล่านี้มีความแตกต่างจากแบบจำลองได้ นอกจากนี้ยังอาจจะเกิดจากลักษณะทางกายภาพของอ่าวที่เมืองปาลู ซึ่งมีลักษณะเป็นช่องแคบและยาว ทำให้มวลน้ำที่เข้ามาในอ่าวถูกบีบเข้าหากันเนื่องจากพื้นที่จำกัด จึงมีความเร็วมากขึ้นและยกตัวสูงขึ้น เป็นเหตุให้คลื่นแรงขึ้นด้วย เช่นเดียวกับเวลาเรารดน้ำต้นไม้ถ้าบีบสายยางให้รูเล็กลงน้ำก็จะพุ่งแรงขึ้น
“บทเรียนครั้งนี้เราสามารถนำมาใช้กับประเทศไทย ประชาชนควรเข้าใจถึงข้อจำกัดในการแจ้งเตือนการเกิดสึนามิ และใช้สามัญสำนึกในการเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัย โดยเฉพาะชุมชนชายฝั่งที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ต้องรีบออกจากชายฝั่งและรีบขึ้นที่สูงให้เร็วที่สุด ไม่ต้องรอประกาศเตือนภัยหรือคำเตือนใด ๆ เพราะเราไม่มีทางทราบได้เลยว่าระบบสื่อสารแจ้งเตือนภัยต่าง ๆ ยังทำงานได้เป็นปกติหรือไม่ การรู้จักเอาตัวรอดจึงสำคัญมากที่สุด นอกจากนี้การซักซ้อมการหนีภัยเป็นระยะในพื้นที่เสี่ยงภัยจะช่วยให้ประชาชนมีความตระหนักรู้มากขึ้นด้วย รัฐบาลควรมีระบบช่วยตัดสินใจและระบบการประเมินความเสียหายในพื้นที่เพื่อช่วยในการวางแผนบรรเทาภัยอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับพื้นที่เปราะบางที่มีความสำคัญ เช่น แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ควรมีการสร้างแบบจำลองของการเกิดสึนามิในทุกกรณีที่อาจเป็นไปได้ เพื่อใช้ในการประเมินผลกระทบ รวมถึงการแจ้งเตือนและบริหารจัดการความเสี่ยงภัยจากคลื่นสึนามิในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และที่พยายามเน้นย้ำทุกครั้งคือเมืองใหญ่หลายเมืองของประเทศไทยมีรอยเลื่อนอยู่ข้างใต้ แต่เราไม่มีข้อมูลว่ารอยเลื่อนเหล่านี้มีโอกาสทำให้เกิดแผ่นดินได้มากน้อยเพียงใด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบศึกษาเพราะผลกระทบสูงมาก” ผศ. ดร.ภาสกรกล่าวทิ้งท้าย