ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการ ม.รังสิต ประเมินผล 'ช็อปช่วยชาติ' เงินสะพัดไม่ถึงหมื่นล้านบาท ชี้กลุ่มได้ประโยชน์ค่อนข้างจำกัด เพียง 7% ของผู้เสียภาษี ห่วงหนี้สาธารณะชนเพดาน ร้อยละ 60 ในปี 2564 หากออกมาตรการที่ทำให้รัฐเสียรายได้ แนะออกมาตรการช่วยคนยากจนจะดีกว่า

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็น หลังสิ้นสุดมาตรการช้อปช่วยชาติ ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.- 3 ธ.ค. 2560 รวม 23 วัน ผลของมาตรการต่อการกระตุ้นการใช้จ่ายและเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ เม็ดเงินสะพัดไม่ถึง 10,000 ล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายที่ต้องจ่ายตามปกติอยู่แล้ว จึงมีกลุ่มคนได้ประโยชน์โดยตรงค่อนข้างจำกัด เพียงร้อยละ 7 ของผู้ยื่นแบบเสียภาษีทั้งหมด หรือเป็นผู้เสียภาษีในอัตราภาษี ร้อยละ 20 ขึ้นไป   

การกระตุ้นการใช้จ่ายจากมาตรการช้อปช่วยชาติปีนี้ จึงมีผลน้อยกว่าปี 2559 และมีความจำเป็นน้อยลง อย่าง มาตรการช็อปช่วยชาติปลายปี 2559 การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เดือนมกราคม 2560 อยู่ที่ 245,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากมกราคม 2559 รวม 3,688 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.5 ขณะที่เดือน ธันวาคม 2559 เก็บภาษี VAT ได้ 61,589 ล้านบาท ต่ำกว่าธันวาคม 2558 ประมาณ 644 ล้านบาท หรือร้อยละ 1   

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องมากว่า 10 ปี มีความเสี่ยงทางการคลังเพิ่มขึ���นและสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อาจชนเพดานร้อยละ 60 ในปี 2564 ฉะนั้น การออกมาตรการที่อาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ว่าคุ้มค่ากับการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ แม้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ในขณะนี้ แต่ยุทธศาสตร์ความยั่งยืนทางการคลัง ยังไม่สามารถดำเนินได้ตามเป้าหมายให้จัดทำงบประมาณสมดุล ในปี พ.ศ. 2561 

เพราะมีความจำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก จึงต้องกู้เงินเพิ่มมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ในช่วงปีงบประมาณ 2552-2559 ประเทศไทยขาดดุลงบประมาณสะสม 2,687,027 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 335,878 ล้านบาท เท่ากับร้อยละ 14.4 ของเงินรายได้ของรัฐบาลในปี 2559 และมองว่า การทำงบประมาณสมดุลในปี 2560-2561 อาจต้องเลื่อนไปดำเนินการให้ได้ภายใน ปี 2568-2570 

โดยต้องเร่งให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เป็นไปตามศักยภาพที่ร้อยละ 4-5 เป็นอย่างน้อย ปรับโครงสร้างภาษีและเพิ่มภาษีทางตรงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภาษีที่มีฐานจากทรัพย์สินและภาษีบาป ภาษีธุรกรรมทางออนไลน์ต่างๆ ภาษี E-commerce การเก็บภาษีเพิ่มเติมจากแรงงานต่างด้าว เพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจเพื่อให้สามารถส่งรายได้เข้าคลังเพิ่มขึ้น แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ลดการรั่วไหลทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งเสนอปฏิรูปกรมจัดเก็บภาษีใหม่ ไม่จัดสรรงบประมาณให้กรมจัดเก็บ แต่ให้มีรายได้จากผลงานการจัดเก็บภาษี หากไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงขึ้น ไม่หาทางเก็บภาษีเพิ่มหรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปล่อยให้ภาวะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเกิดความเสี่ยงทางการคลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก

นายอนุสรณ์ เสนอว่า หากรัฐบาลมีมาตรการทางเศรษฐกิจออกมาใหม่ อยากให้มุ่งเป้าไปที่คนยากจน เพราะข้อมูลระหว่างปี 2558-2559 จำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านคน (963,000 คน) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เป็นคนยากจนที่เพิ่มขึ้นโดยประเทศไม่ได้มีวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอะไร และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมก็กระเตื้องขึ้นอีกด้วย จึงสะท้อนปัญหาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำรุนแรงและมาตรการที่ออกมาไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหา 

ส่วนคนจนเมือง เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 คนจนในชนบท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ทำให้สัดส่วนคนยากจนเทียบกับประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.21 เป็นร้อยละ 8.61 คนจนเมืองที่เพิ่มขึ้นมาก เป็นผลจากการไม่ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นเวลา 3 ปี และเพิ่งปรับในปี 2560 นี้ โดยเพิ่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ

นอกจากนี้ สนับสนุนเลื่อนการเพิ่มอัตราภาษี VAT เพื่อประคับประคองให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง แต่ต้องปรับโครงสร้างภาษีให้มีสัดส่วนภาษีทางตรงเพิ่มขึ้น หากเพิ่มภาษีทางอ้อมมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลาง อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มภาษี VAT ยังมีความจำเป็น เพราะการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปีแล้ว และอาจมีความเสี่ยงทางการคลังในอนาคต