ไม่พบผลการค้นหา
การเข้ามาบริหารประเทศภายใต้ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' หัวหน้า คสช. จะครบ 4 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหาร 22 พ.ค. มีความพยายามหลายครั้งเพื่อพยุงเศรษฐกิจฐานรากให้ฟูขึ้นมา แต่ผ่านมา 4 ปี ประชาชนฐานรากยังหน้าแห้ง เงินไม่สะพัด ขณะที่ในการสำรวจทรัพย์สินของ 50 เศรษฐีไทย เพิ่มจากร้อยละ 26 เป็นร้อยละ 30

เดือนพฤษภาฯ เวียนมาบรรจบ นอกจากจะครบรอบ 26 ปี เหตุการณ์ 'พฤษภาทมิฬ 2535' แล้ว ยังครบรอบ 4 ปีเต็ม ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ก่อการ 'รัฐประหาร' ยึดอำนาจจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ที่ผ่านมา

เดือนแรก ซื้อใจรากหญ้า จ่ายเงินค้างจำนำข้าว 9.2 หมื่นล้าน

แล้วในยุค "เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีก (ไม่) นาน" นี้ หากย้อนกลับไปดู นับตั้งแต่ปีแรกหลังยึดอำนาจเข้ามา จะเห็นว่า คสช. เองมีความพยายาม "ซื้อใจ" ชาวรากหญ้ามาโดยตลอดไม่น้อยไปกว่ารัฐบาลอื่น ๆ เพราะทราบดีว่า นี่คือเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ

เริ่มตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นบริหารประเทศโดย คสช. ที่ได้แต่งตั้ง 'พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง' อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ คุมทีมบริหารเศรษฐกิจ คู่กันกับ 'พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ' อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พร้อมกับการ 'ปลดล็อก' ข้อกฎหมายให้มีการจ่ายเงินจำนำข้าว 9.2 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ 26 พ.ค. 2557 ที่ค้างคามาหลายเดือนให้เกษตรกร เพื่อปลุกกำลังซื้อรากหญ้า

หลังจากนั้น เมื่อจัดตั้งรัฐบาลแล้ว 'พล.อ.ประยุทธ์' หัวหน้าคณะรัฐประหาร ก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ซึ่งในช่วงนั้น รัฐบาลตั้ง 'ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล' เป็นรองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบดูแลนโยบายด้านเศรษฐกิจ แต่ด้วยความที่ 'คุณชายอุ๋ย' เคย 'โจมตี' นโยบาย 'ประชานิยม' ของพรรคเพื่อไทยมาตลอด จึงทำให้นโยบายดูแลเศรษฐกิจระดับรากหญ้าช่วงนั้น ออกมาแบบ 'กล้า ๆ กลัว ๆ' เน้นจ่ายงบประมาณลงไปแบบ 'จำกัดจำเขี่ย' 

เช่น การช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่ชาวนา 1,000 บาท/ไร่ ไม่เกินรายละ 15 ไร่ ใช้งบประมาณ 45,000 ล้านบาท (ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายตามจริง แล้วสำนักงบประมาณตั้งงบฯ คืนภายหลัง) และ การจ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนยาง ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ ใช้งบประมาณ 8,500 ล้านบาท เป็นต้น

เป็นตัว 'รองนายกฯ ศก.' กลางทาง ดึงนักการตลาดเป็นรองนายกฯ

ทว่า เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ผลงานเศรษฐกิจ คสช. ยังไม่กระเตื้อง โดยเฉพาะการดูแลรากหญ้า 'บิ๊กตู่' จึงตัดสินใจปรับ ครม. ครั้งใหญ่ เปลี่ยนทีมเศรษฐกิจยกทีม โดยตั้ง 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' เข้ามาเสียบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจแทน 'คุณชายอุ๋ย' และ ตั้ง 'อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์' นั่งตำแหน่ง รมว.คลัง แทน 'สมหมาย ภาษี'

เมื่อ 'สมคิด' เข้ามา ก็เดินหน้าจัดทำแพ็กเกจ 136,000 ล้านบาท อัดฉีดเม็ดเงินลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าทันที ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 โดยโฟกัสที่การช่วยเหลือเกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย ประกอบไปด้วย 

  • มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน 60,000 ล้านบาท 
  • มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) 36,000 ล้านบาท 
  • มาตรการกระตุ้นการลงทุนโครงการขนาดเล็กของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ 40,000 ล้านบาท

หลังจากนั้น 'สมคิด' ก็จัดการ 'เติมเงินรากหญ้า' อย่างต่อเนื่อง โดยนิยามคำว่า 'ประชารัฐ' ใช้แทน 'ประชานิยม' โดยมีการอัดฉีดงบประมาณ ตั้งแต่ต้นปี 2559 ด้วยแพ็กเกจมาตรการ ต่างๆ เพิ่มเติม 

  • โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ หมู่บ้านละ 200,000 บาท รวม 15,000 ล้านบาท 
  • โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กองทุนละ 500,000 บาท รวม 35,000 ล้านบาท

ทำงบกลางปี ปั้นโครงการเทงบฯ ปลุกเศรษฐกิจรากหญ้า-เกษตรกร

ขณะที่ ช่วงกลางปี (มิ.ย. 2559) ครม. 'ประยุทธ์' เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2559-2560 ออกมา ซึ่งประกอบไปด้วย 4 โครงการหลัก ใช้วงเงินรวม 45,589.38 ล้านบาท 

1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อยปีการผลิต 2559/2560 (จ่ายชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่) ใช้งบฯ 37,000 ล้านบาท 

2) โครงการพักชำระหนี้เงินต้นและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2559/ 2560 เป็นเวลา 2 ปี วงเงิน 5,400 ล้านบาท

3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการความรู้ทางการเงินและการปรับการผลิตแก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย 300,000 ราย รวม 258 ล้านบาท 

4) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 วงเงิน 2,071.13 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ดูเหมือน 'ยาไม่แรงพอ' เศรษฐกิจรากหญ้ายังไม่กระเตื้อง 'สมคิด' และ 'อภิศักดิ์' จึงงัดมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย กว่า 8 ล้านราย ที่ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยผันเงินตรง 'เข้ากระเป๋าคนจน' รายละ 1,500-3,000 บาท 

โดยรอบแรก ครม. 27 ก.ย.2559 เห็นชอบจ่ายให้เฉพาะกลุ่มเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย 2.9 ล้านคน เป็นเงินรวม 6,540 ล้านบาท แต่ต่อมา ครม. 22 พ.ย. 2559 ไฟเขียวจ่ายให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกรอีก 5.4 ล้านคน ใช้เงินรวม 12,750 ล้านบาท

ต่อมาปี 2560 รัฐบาล คสช. มีการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติม (งบกลางปี) จำนวน 190,000 ล้านบาท โดยนอกจากเน้นไปที่กลุ่มจังหวัดแล้ว งบประมาณส่วนหนึ่งได้จัดสรรไปเติมให้กับกองทุนหมู่บ้าน อีกหมู่บ้านละ 500,000 บาท เป็นจำนวนรวม 60,000 ล้านบาท

ที่สำคัญ ยังจัดให้มีการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐใหม่อีกครั้ง โดยรอบนี้นำมาสู่การจัดทำ 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' ซึ่งหลายคนเรียกกันติดปากว่า 'บัตรคนจน' โดยรัฐบาลจัดตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 50,000 ล้านบาท สำหรับการบริหารจัดการ 'เติมเงิน' บัตรสวัสดิการดังกล่าว

ปีที่ 4 คสช. ผุดโครงการไทยนิยม โปรยเงินซื้อใจรากหญ้า

โดยก่อนเข้าสู่ปีที่ 4 รัฐบาล คสช. ทำงบกลางปี ปีงบประมาณ 2561 เพิ่มอีก 150,000 ล้านบาท มุ่งเน้นอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปให้กลุ่มรากหญ้าอย่างชัดเจน โดยส่วนแรกจะใช้กับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (สวัสดิการคนจน เฟส 2) จำนวน 35,000 ล้านบาท ส่วนที่ 2 เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านกลไกกระทรวงมหาดไทย จำนวน 35,358.10 ล้านบาท และ ส่วนที่ 3 ปฏิรูปภาคการเกษตรอีก 30,000 ล้านบาท

สำหรับงบประมาณส่วนที่อัดฉีดผ่านกลไกกระทรวงมหาดไทยนั้น คสช. คิด 'โครงการไทยนิยม ยั่งยืน' ขึ้นมา เพื่อ 'โปรยเงิน' ให้กับชาวรากหญ้าอีกครั้ง โดยล่าสุด ครม. เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2561 ได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณให้แก่ 82,371 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 2 แสนบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 16,474.20 ล้านบาทไปแล้ว

นับรวมๆ งบประมาณที่ รัฐบาล คสช. ใช้อัดฉีดชาวรากหญ้าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา วงเงินไม่ต่ำกว่า 600,000 ล้านบาท นี่ยังไม่นับรวมโครงการยิบ ๆ ย่อย ๆ อีกหลายโครงการ

4 ปีผ่านมา 50 เศรษฐีไทยมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของจีดีพี 

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ล่าสุด 'อนุสรณ์ ธรรมใจ' คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ออกมาระบุถึงเรื่องนี้ว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา (ช่วงรัฐบาล คสช.) แม้ว่าการกระจายรายได้จะมีการปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่ยังคงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำของการถือครองทรัพย์สิน 

โดยมหาเศรษฐี 100 อันดับแรกของไทยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยของประเทศมีทรัพย์สินและความมั่งคั่งไม่ได้เพิ่มขึ้น และหนี้สินต่อครัวเรือนลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ประเทศไทยจึงติดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกเป็นอันดับสาม รองลงมาจากอินเดียและรัสเซีย

"มหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของไทยมีสัดส่วนทรัพย์สินเทียบกับจีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 ในปี 2557 มาเป็นร้อยละ 30 ( มีทรัพย์สินทั้งหมด 4.32 ล้านล้านบาท) ในปี 2560 ภายใต้รัฐบาล คสช. หมายความว่า มีคนเพียง 50 คน ที่ถือครองทรัพย์สินมากกว่า 1 ใน 4 ของจีดีพี" อนุสรณ์ระบุ

ดังนั้น ดูแล้วปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยังคงเกาะกุมสังคมไทยอย่างเหนียวแน่น แม้ว่า 'ทหาร' จะ (ขอ) ใช้เวลาปฏิรูปประเทศมาถึง 4 ปีแล้ว

ข่าวเกี่ยวข้อง :