ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ชี้มาตรการลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียว ไม่ช่วยกระตุ้นให้คู่สามี-ภรรยา ตัดสินใจมีลูกคนที่สอง แนะให้ศึกษาความสำเร็จการเพิ่มจำนวนประชาชนในประเทศแถบยุโรป เน้นอำนวยความสะดวกเรื่องการเลี้ยงลูก พร้อมเปลี่ยนทัศนคติ "มีลูกมากจะยากจน"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มาตรการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา รวม 120,000 บาท สำหรับบุตรคนที่สอง ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 ตามแนวคิดของนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้คู่สามี-ภรรยา ตัดสินใจมีลูกคนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

โดยยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ที่เคยใช้มาตรการทางภาษีแล้ว แต่ก็พบว่า "อัตราการเกิดลดลง" ดังนั้น จำเป็นต้องใช้มาตรการทางสังคมอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น ในประเทศสวีเดน และเดนมาร์ก ที่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มประชากร ให้สิทธิพ่อ-แม่ลาคลอดเป็นเวลา 1 ปี โดยได้รับค่าจ้างเท่าเดิม เพื่อให้สามารถเลี้ยงลูกได้อย่างเต็มที่ในช่วงขวบปีแรก รวมทั้ง จัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กในที่ทำงาน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของพนักงาน 

นอกจากนี้ ภาครัฐยังต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนไทย ให้มองว่า "การมีลูกไม่ใช่ภาระ" แต่เป็นการเพิ่มประชากรที่มีคุณภาพให้ประเทศ เนื่องจาก ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ทำให้ขาดแคลนแรงงานรุ่นใหม่ เพราะอัตราการเกิดลดลง 

อย่างไรก็ตาม หากมาตรการต่างๆ ใช้ไม่ได้ผล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อนุสรณ์ แนะนำให้เปิดเสรีตลาดแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือคนไร้สัญชาติ มาทดแทนอีกทางหนึ่ง

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา(2560) กระทรวงสาธารณสุข เคยชูนโยบาย "มีลูกเพื่อชาติ" หวังกระตุ้นคนไทยมีลูกครอบครัวละ 2 คน หลังสำรวจพบว่า คู่สามี-ภรรยายุคใหม่แต่งงานช้า และไม่นิยมมีลูก ทำให้อัตราการเพิ่มประชากรไทย ลดลงจากร้อยละ 2.7 ในปี 2513 เหลือร้อยละ 0.4 ในปี 2558 หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ภายใน 10 ปี อัตราการเพิ่มประชากรไทยจะเท่ากับร้อยละ 0 คือไม่มีประชากรเพิ่มขึ้นเลย เนื่องจากอัตราการเกิดเท่ากับอัตราการตาย (ขณะนี้อัตราการเกิดเฉลี่ย อยู่ที่ประมาณ 7 แสนคนต่อปี ส่วนอัตราการตายอยู่ที่ 3-4 แสนคนต่อปี และในอนาคต อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น เนื่องจากขณะนี้มีผู้สูงอายุจำนวนมากในไทย)

กระทรวงสาธารณสุข จึงจัดทำนโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) เพื่อส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เน้นใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.การเพิ่มจำนวนการเกิดในหญิงอายุ 20-34 ปี เพื่อทดแทนจำนวนประชากร 2.การวางแผน-ให้ความช่วยเหลือในการมีบุตร และ 3.การดูแลทารกให้แข็งแรง พร้อมเติบโตอย่างมีคุณภาพ ได้รับการดูแลหลังคลอดที่ดี เช่น แจกยาเม็ดวิตามินรวมเหล็ก ไอโอดีน และโฟลิก กินทุกวันตลอดการตั้งครรภ์

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เสนอให้กระทรวงการคลัง พิจารณามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตรแล้ว เพื่อให้มีบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นไป ด้วยการหักค่าลดหย่อนเพิ่มขึ้นอีก 30,000 บาท จากมาตรการเดิมที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อปีภาษี 60 ที่ให้หักลดหย่อนบุตรได้ 30,000 บาท เพิ่มเป็น 60,000 บาท และกำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนสำหรับรายจ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี ซึ่งรวมเป็นค่าลดหย่อนได้ถึง 120,000 บาท ส่วนบุตรคนแรกยังได้ใช้สิทธิค่าลดหย่อนภาษีเท่าเดิมที่ 30,000 บาท