ไม่พบผลการค้นหา
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เผยข้อมูลสถิติข่าวความรุนแรงในครัวเรือนในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา พบสูงถึง 367 ข่าว และส่วนใหญ่ของผู้พบเห็นเหตุการณ์เลือกที่จะนิ่งเฉยไม่เข้าไปช่วยเหลือ จี้หน่วยงานรัฐรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนมากขึ้น

นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ ทำการเก็บสถิติข่าวความรุนแรงในครัวเรือน จากหนังสือพิมพ์ 11 ฉบับ ระหว่างเดือน ม.ค. - ส.ค. 2561 พบว่าใน 7 เดือนที่ผ่านมา มีข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 367 ข่าว แบ่งเป็นข่าวฆ่ากันตาย 242 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 65.9 รองลงมาเป็นข่าวทำร้ายร่างกาย 84 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 22.9 และเมื่อเทียบกับสถิติข่าวฆ่ากันตายย้อนหลังในปี 2555 และ 2559 พบว่า ในปี 2561 มีสถิติสูงกว่าทุกปี หากวิเคราะห์เชิงลึกของข่าวกระทำความรุนแรงในครอบครัว พบปัจจัยกระตุ้นมาจากสุราและยาเสพติด รองมาเป็นความหึงหวง และความบีบคั้นทางเศรษฐกิจ และที่น่าห่วงคือ ปืน เป็นอาวุธที่ใช้ก่อเหตุมากที่สุด ร้อยละ 40.5 รองลงมาเป็นการใช้ของใกล้มือ เช่น มีด ไม้ ค้อน

นอกจากนี้ ยังพบว่า ร้อยละ 94.9 ของผู้พบเห็นเหตุการณ์ เลือกที่จะนิ่งเฉย ไม่เข้าไปช่วยเหลือ สะท้อนว่าสังคมมีวิธีคิดชายเป็นใหญ่ ที่มองว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาลิ้นกับฟัน การเข้าไปช่วยเมื่อเขาดีกันเราก็เป็นหมา ส่งผลให้คนในสังคมไม่อยากเข้าไปช่วยเหลือ และไม่กล้าเข้าไปแก้ปัญหา ทำให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น 

ดังนั้น สังคมจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องของสังคม หรือสาธารณะชน เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ให้ช่วยเหลือทั้งการแจ้งปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจหน้าที่ หรือการเข้าไปช่วยเหลือด้วยตนเอง

ด้านนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า สถิติความรุนแรงในครอบครัวปี 61 ที่รวบรวมมา 7 เดือน ทำให้คาดว่าตลอดทั้งปีจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และจากสถิติที่จัดเก็บปีที่ผ่านมา ทำให้ตั้งคำถามว่า ส่วนหนึ่งอาจถูกต้องที่สังคมยังมีวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ ความบีบคั้นทางเศรษฐกิจ แต่สำคัญอีกอย่างคือ เราเห็นปฏิกริยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน้อยมาก ซึ่งอาจไม่ใช่แค่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ดูแล พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ยังรวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข ที่มีกลไกให้ความคุ้มครองช่วยเหลือ แต่กลับไม่ออกมารณรงค์ให้ความรู้ประชาชน ทำให้ประชาชนหลายคนไม่รู้ว่ามีศูนย์ช่วย���หลือสังคม 1330 ศูนย์พึ่งได้ ไม่รู้กฎหมายว่ากระทำอย่างนี้จะผิดกฎหมายอย่างไร ปัญหาจึงเพิ่มขึ้นและหากสังเกตกรณีความรุนแรงที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีแต่เอ็นจีโอเท่านั้นที่ออกมาเคลื่อนไหว ให้ข้อมูลให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ทั้งที่บทบาทการแก้ปัญหาหลักคือ รัฐ ที่มีเข้าหน้าที่และกลไกสนับสนุนทั่วประเทศ

ฉะนั้นทางมูลนิธิได้เตรียมไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.อนันตพร กาญขนรัตน์ รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อรายงานสถานการณ์ รายงานสิ่งที่เอ็นจีโอเคลื่อนไหวอยู่ พร้อมทั้งเสนอให้บูรณาการการทำงานเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน