ไม่พบผลการค้นหา
สิ้นปี 2561 อัตราหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยขยับขึ้นเป็นร้อยละ 78.6 มียอดคงค้าง 12.8 ล้านล้านบาท จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 78.3 ส่วนใหญ่เป็นหนี้บ้าน-รถ-บัตร-ขยายธุรกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดปี 2562 มีโอกาสแตะร้อยละ 79.5 รอติดตามนโยบายรัฐบาลใหม่ ลดค่าครองชีพประชาชน

ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ข้อมูลสถิติเรื่องเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือ หนี้ครัวเรือน ณ สิ้นปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 12,826,556 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 78.6 ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนหน้า ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 12,100,423 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 78.3 และหากย้อนดูอัตราหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในระยะกว่า 7 ปีที่ผ่านมา (ไตรมาส 4/2554-ไตรมาส 4/2561) พบว่า สิ้นปี 2558 เป็นจุดที่อัตราหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงสุดคืออยู่ที่ร้อยละ 81.2 ขณะที่ มูลค่าหนี้โดยรวมอยู่ที่ 11,154,355 ล้านบาท 

โดยนับตั้งแต่สิ้นปี 2558 ถึงปัจจุบัน อัตราหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีก็ค่อยๆ ไต่ระดับลงมา โดยสิ้นปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 79.6 ปี 2560 อยู่ที่ 78.3 จากก่อนหน้าปี 2558 เมื่อย้อนหลังกลับไป จะพบว่า อัตราหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไต่ระดับขึ้น จากสิ้นปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 66.2 หรือยอดหนี้รวม 7,483,979 ล้านบาท ขยับขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 71.8 ต่อจีดีพีในปี 2555 ร้อยละ 76.6 ในปี 2556 ร้อยละ 79.7 ในปี 2557 และร้อยละ 81.2 ในปี 2558

ขณะที่ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทิศทางหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2562 จะทรงตัว จากการที่สถาบันการเงินและผู้ประกอบการอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ยังคงมุ่งเป้าการปล่อยสินเชื่อรายย่อยอย่างต่อเนื่องในปีนี้ อาจทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปี 2562 ยังคงทรงตัวใกล้เคียงระดับปลายปี 2561 โดยปีนี้ (2562) จะทรงในกรอบประมาณร้อยละ 77.5-79.5 ต่อจีดีพี จากระดับร้อยละ 78.6 ต่อจีดีพีในปี 2561

เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงในปีนี้ (2562) เมื่อผนวกกับภาระหนี้ของครัวเรือนที่น่าจะเพิ่มขึ้นจากผลของการก่อหนี้ก้อนใหญ่ (หนี้บ้านและหนี้รถ) ที่มีผลผูกพันหลายปีนับจากวันที่ก่อหนี้ อาจมีผลทำให้ครัวเรือนหลายส่วนใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นในการก่อหนี้ก้อนใหม่ 

พร้อมกับประเมินว่า สัญญาณอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีโอกาสทรงตัวที่ระดับร้อยละ 1.75 ตลอดช่วงที่เหลือของปี 2562 ซึ่งอาจช่วยลดทอนแรงกดดันจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นต่อครัวเรือนที่มีภาระหนี้ลงมาบางส่วน ขณะที่ ยังต้องติดตามมาตรการด้านเศรษฐกิจภายใต้การดำเนินการของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งคาดว่า น่าจะเข้ามาช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ และดูแลแก้ไขปัญหาด้านรายได้-ภาระหนี้ ของครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้น้อย 

ปี 2561 ยอดหนี้ครัวเรือนคงค้างโตขึ้นร้อยละ 6 มากกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังรายงานว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนในปี 2561 ที่ผ่านมา กลับมาเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ขยับขึ้นไปที่ร้อยละ 78.6% ในปี 2561 จากร้อยละ 78.3 ในปี 2560 โดยยอดคงหนี้ครัวเรือนของไทยเติบโตขึ้นร้อยละ 6.0 สูงกว่าอัตราการเติบโตของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ (Nominal GDP) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.6 

อย่างไรก็ตาม ได้ชี้ว่ากว่าครึ่งหนึ่งของหนี้ที่ครัวเรือนรับภาระเพิ่มขึ้นนั้น ก่อให้เกิดสิทธิความเป็นเจ้าของในทรัพย์สิน เช่น ซื้อบ้าน-ซื้อรถ และขยายธุรกิจ ในท้ายที่สุด ขณะที่ สัดส่วนการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค (ที่ไม่มีหลักประกัน) ทั้งในส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ยังอยู่ในระดับที่ไ��่สูงมากนักเมื่อเทียบกับภาพรวมของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนทั้งหมด