ไม่พบผลการค้นหา
หนี้ครัวเรือนไทยปี 61 กลับมาขยายตัวเพิ่มจากหนี้บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต หนี้รถยนต์ มาตรการคุมบัตรเครดิตหมดมนต์ขลัง สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ ชี้ 9 ปี ลูกหนี้เดิมสร้างหนี้เยอะ เพิ่มหนี้ซ้ำกว่าคนใหม่ จับตาลูกหนี้รายใหม่ อายุต่ำกว่า 25 ปีขยายตัวเร็ว

น.ส.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยระบบการเงิน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลและศึกษาเรื่องพลวัตหนี้ครัวเรือนไทยผ่านบิ๊กดาต้าของเครดิตบูโร ตั้งแต่ปี 2552-2561 หรือในระยะ 9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าครอบคลุมช่วงเวลาที่นานมากที่มีข้อมูลอยู่ พบว่า การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนไทยในรอบ 9 ปี ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มาจากผู้กู้รายเดิม ขณะที่มีสัดส่วนเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่ขยายตัวจากผู้กู้รายใหม่ 

โดยหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัว ยังมาจาก 1 ใน 3 ของผู้กู้เดิมที่มีบัญชีเงินกู้หลายบัญชี และจากหลายสถาบันการเงินในปีเดียวกัน นับวันสัดส่วนนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกระจุกตัวในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อรถยนต์ ส่วนผู้กู้ใหม่ส่วนใหญ่มีบัญชีกู้เพียงบัญชีเดียว ซึ่งมีบัญชีเงินกู้ในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งกู้จากนอนแบงก์เป็นหลัก

ที่น่าสังเกต ยังพบว่า คุณภาพสินเชื่อของผู้กู้รายเดิม ด้อยกว่าผู้กู้รายใหม่ และด้อยลงเรื่อยๆ โดยพบว่า ร้อยละ 7 ของผู้กู้รายเดิมจะมีบัญชีที่เป็นหนี้เสียภายใน 1 ปี แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน ผู้กู้รายใหม่มีบัญชีหนี้เสียสัดส่วนร้อยละ 4 ซึ่งประเด็นอาจนำไปสู่ความเปราะบางของเสถียรภาพเศรษฐกิจในอนาคต  

โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยระบบการเงิน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
  • โสมรัศมิ์ จันทรัตน์

อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนในส่วนของผู้กู้ใหม่ ยังพบว่า กว่าครึ่งของผู้กู้ใหม่มีอายุน้อยลงทุกปี โดยเฉพาะกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 25 ปี เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ในกลุ่มผู้กู้เดิมก็เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นด้วย สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า คนไทยยังคงเป็นกลุ่มที่มีหนี้เร็วและหนี้นาน 

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในชุมชนเมืองกรุงเทพฯ และปริมณฑลส่วนใหญ่เป็นผู้กู้เดิมแต่สัดส่วนของผู้กู้ใหม่กลับกระจายตัวไปครอบคลุมหลายพื้นที่ทั่วประเทศเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี สะท้อนว่า การเข้าถึงสินเชื่อมีการขยายตัวอย่างทั่วถึงในเชิงพื้นที่ แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาในระยะถัดไปคือ เรื่องการเข้าถึงสินเชื่อ อาจไม่ได้เป็นประเด็นนัก เมื่อเทียบกับความพร้อมของผู้กู้ ซึ่งต้องเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อแก่ผู้กู้ที่มีความพร้อมและมีคุณภาพเพิ่มขึ้น

ปี 2561 หนี้ครัวเรือนวนกลับมาขยายตัวเพิ่มอีกครั้ง

สิ่งที่พบในการศึกษาล่าสุด คือการกลับมาเร่งตัวขึ้นของหนี้ครัวเรือน ในปี 2561 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งล้วนขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยในปี 2561 จำนวนบัญชีและมูลหนี้กลับมาเร่งตัวขึ้น คือ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 7 หลังจากแผ่วไปเมื่อปี 2557-2560 จากมาตรการควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งเกิดจากการควบคุมวัฏจักรความร้อนแรงของสินเชื่อที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2554-2556 หลังน้ำท่วมใหม่และโครงการรถยนต์คันแรก 

นายสรา ชื่นโชคสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน มี 2 ด้าน ด้านหนึ่ง สกัดหนี้ใหม่ เช่น การออกมาตรการควบคุมบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัย อีกด้านคือการลดปริมาณหนี้เดิม เช่น การแก้ปัญหาผ่านคลินิกแก้หนี้ ซึ่งในเดือน พ.ค. นี้จะมีการประกาศเกณฑ์การแก้ปัญหาของคลินิกแก้หนี้ระยะที่ 2

สรา ชื่นโชคสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
  • สรา ชื่นโชคสันต์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง