ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ถูกมองว่ามีระบบป้องกันความปลอดภัยจากการถูกล้วงข้อมูล หรือการแฮก ไม่ดีพอเทียบเท่ากับระบบ iOS เนื่องจากว่าเป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิด ที่สมาร์ทโฟนหลายๆ แบรนด์สามารถนำไปพัฒนาใช้ต่อได้ ไม่เหมือนกับ iOS ที่เป็นระบบปิดใช้แค่กับไอโฟนเท่านั้น จึงมีความปลอดภัยมากกว่า อย่างรายงานเมื่อปี 2016 ก็มีข่าวออกมาว่าสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบแอนดรอยด์หลายล้านเครื่อง เสี่ยงที่จะถูกแฮกจากการแพร่ระบาดของซอฟต์แวร์ไวรัสที่มีชื่อว่าฮัมมิงแบด เลยทำให้ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งยังมีความมั่นใจที่จะใช้ไอโฟนมากกว่า
เดวิด ไคล์เดอมาเคอร์ หัวหน้าหน่วยระบบรักษาความปลอดภัยของแอนดรอยด์ ให้สัมภาษณ์กับ เว็บไซต์ Cnet ว่าที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยของแอนดรอยด์ทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะอุดช่องโหว่ตรงนี้ และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา กูเกิลก็เพิ่งเผยแพร่รายงานระบบรักษาความปลอดภัยของแอนดรอยด์ประจำปี โดยในรายงานมีการระบุว่าระบบรักษาความปลอดภัยของแอนดรอยด์มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา มีการสร้างโปรแกรมซอฟต์แวร์ แอนตีไวรัส ที่ยากต่อการเจาะเข้า ทำให้ปัญหาการถูกล้วงข้อมูลของแอนดรอยด์กลายเป็นเรื่องของอดีตไปแล้ว
กูเกิลได้ว่าจ้าง bug hunter หรือนักล่าเงินรางวัลที่เป็นแฮกเกอร์ เป็นเงินจำนวนมหาศาลให้ค้นหาช่องโหว่ของระบบแอนดรอยด์ ยิ่งเจอช่องโหว่มากเท่าไร bug hunter ก็จะได้ค่าตอบแทนมากเท่านั้น แต่พักหลังๆมานี้ bug hunter ก็แทบจะหาช่องโหว่อะไรในระบบแอนดรอยด์ไม่เจออีกต่อไปแล้ว ในส่วนของการรักษาความปลอดภัยของสมาร์ทโฟนหลากหลายแบรนด์ที่ใช้ระบบแอนดรอยด์ กูเกิลก็มีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าสมาร์ทโฟนแต่ละแบรนด์จะต้องอัพเดทระบบแอนดรอยด์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งตอนนี้สมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบแอนดรอยด์กว่า 30 แบรนด์ รวมกันกว่า 200 รุ่น มีการอัพเดทแอนดรอยด์เวอร์ชันใหม่เพื่อความปลอดภัยในทุกๆ 90 วัน
กูเกิลยังได้พัฒนาระบบที่ช่วยเตือนผู้ใช้งานด้วย หากว่ากำลังดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่มีความเสี่ยงว่าจะมีไวรัส โดยในปี 2017 ที่ผ่านมา ระบบนี้ก็ได้เตือนผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์กว่า 1,600 ล้านครั้ง และยังช่วยลบแอปพลิเคชันที่อันตรายออกจากสมาร์ทโฟนของผู้ใช้งานอีกกว่า 39 ล้านครั้ง เรื่องนี้ก็ทำให้ คุณไคล์เดอมาเคอร์ เชื่อมั่นว่าตอนนี้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์มีความปลอดภัยไม่แพ้ระบบปฏิบัติการของคู่แข่งแล้ว โดยที่ไม่ได้เอ่ยชื่อของระบบคู่แข่งว่าเป็นระบบไหน