ไม่พบผลการค้นหา
หน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ อย่างเอฟบีไอ ออกมาเตือนชาวอเมริกันไม่ให้ใช้สมาร์ทโฟนจากจีน เพราะเสี่ยงที่ข้อมูลอาจจะรั่วไหลและเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง

นายคริส เรย์ ผู้อำนวยการของเอฟบีไอ พูดเตือนในที่ประชุมของคณะกรรมการด้านข่าวกรองวุฒิสภา เตือนว่าคนอเมริกันไม่ควรที่จะใช้สมาร์ทโฟนของจีน เพราะมีความเสี่ยงที่ข้อมูลของส่วนบุคคลหรือว่าข้อมูลสำคัญไม่ว่าจะเป็นของบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานรัฐ จะถูกแฮกได้ ซึ่งรวมถึงการจารกรรมข้อมูลอื่นๆ ที่ยากต่อการตรวจสอบ ซึ่งนายเรย์บอกว่าการให้บริษัทต่างชาติที่มีจุดยืนหลายๆ เรื่องตรงข้ามกับสหรัฐฯ ได้เข้ามาทำธุรกิจที่สามารถร่วมแบ่งปันและเข้าควบคุมส่วนหนึ่งของเครือข่ายระบบสื่อสารในประเทศเป็นเรื่องที่อันตรายมาก 

หน่วยงานด้านความมั่นคงแลข่าวกรองของสหรัฐฯ ทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นซีไอเอ หรือเอ็นเอสเอ ก็แสดงจุดยืนไม่ไว้วางใจในผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนของจีนเหมือนกัน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ของหัวเหว่ย โดยบอกว่าหัวเหว่ยเป็นบริษัทซึ่งก่อตั้งโดยอดีตวิศวกรที่เคยประจำการอยู่ในกองทัพจีน การดำเนินงานของบริษัทจึงอาจมีวาระแอบแฝงเรื่องความมั่นคง นักการเมืองของสหรัฐฯ หลายๆ คนก็มีท่าทีไม่ไว้ในบริษัทหัวเหว่ยเหมือนกัน โดยมองว่าหัวเหว่ยเป็นแขนขาให้กับรัฐบาลจีน

สมาร์ทโฟนของหัวเหว่ยแม้จะขายดีทั่วโลก จนตอนนี้เป็นสมาร์ทโฟนที่ขายดีเป็นอันดับสองแซงหน้าแอปเปิลไปแล้ว แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในตลาดอเมริกัน เพราะว่าชาวอเมริกันกว่า 90% จะซื้อสมาร์ทโฟนผ่านเครือข่ายของผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์ จะไม่ค่อยมีใครซื้อโทรศัพท์แบบเครื่องเปล่าๆ แต่เกือบทุกคนจะซื้อแบบพ่วงสัญญาใช้ เพราะจะทำให้จ่ายค่าเครื่องในราคาที่ถูกมาก โดยเมื่อเดือนที่แล้ว หัวเหว่ยวางแผนที่จะเปิดตัวสมาร์ทโฟนแฟล็กชิป รุ่น Mate 10 Pro ในสหรัฐฯ ผ่านผู้ให้บริการรายใหญ่ AT&T ซึ่งก็จะทำให้หัวเหว่ยมีโอกาสรุกตลาดในสหรัฐฯครั้งแรกอย่างจริงจัง แต่จู่ๆ AT&T ก็ตัดสินใจถอนตัวในนาทีสุดท้าย เนื่องจากทนแรงกดดันทางการเมืองไม่ไหว

ล่าสุดก็มีรายงานระบุว่า ฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ กำลังพิจารณาร่างกฎหมายที่ห้ามเจ้าพนักงานของรัฐใช้โทรศัพท์หัวเหว่ย และรวมทั้งสมาร์ทโฟนของ ZTE ด้วย ซึ่งก็คาดว่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งในอนาคต

ริชาร์ด หยู ซีอีโอของหัวเหว่ย ก็แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่าเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของหัวเหว่ย แต่เป็นความสูญเสียที่มากกว่าสำหรับผู้บริโภคชาวอเมริกัน โดยบอกว่าหัวเหว่ยได้รับความไว้วางใจให้วางจำหน่ายในกว่า 170 ประเทศทั่วโลก แต่กลับถูกหน่วยงานของสหรัฐฯ ตัดสินอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งๆ ที่สมาร์ทโฟนต่างชาติของบริษัทอื่นๆก็วางขายในสหรัฐฯได้ตามปกติ

ในส่วนเรื่องของความปลอดภัยในการถูกโจรกรรมข้อมูล วิลเลียม พลัมเมอร์ รองประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ของหัวเหว่ย บอกว่าทุกวันนี้ข้อมูลทุกอย่างในโลกเชื่อมต่อถึงกันหมดแล้ว การปกป้องข้อมูลรั่วไหล ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และแม้แต่ตัวผู้บริโภคเองก็ต้องระวังปกป้องข้อมูลของตัวเอง แต่การที่จะมาโทษว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่งเสี่ยงทำให้ข้อมูลรั่วไหวมากกว่าบริษัทอื่นๆ เป็นวิธีคิดที่ผิดพลาดและอันตราย