อีกทั้ง สมช. ประเมินว่าม็อบที่ดาวกระจายในพื้นที่ต่างจังหวัดมีเพียงหลักร้อยถึงพัน ส่วนพื้นที่ กทม.ยอดสูงสุดอยู่ที่ 15,000 คน หากรวมผู้ชุมนุมทั้งใน กทม. และต่างจังหวัดทั่วประเทศ สูงสุดไม่เกิน 20,000 คน ดังนั้น สมช. จึงเสนอให้ปล่อยให้มีการชุมนุม แล้วใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการในภายหลัง โดยเชื่อว่าผู้ชุมนุมจะอ่อนแรงไปเอง
ทั้งนี้ฝ่ายความมั่นคงได้ประเมินจากเหตุการณ์ชุมนุม 14-16ต.ค. ที่เป็นช่วงสำคัญของการชุมนุม ที่มีการ ‘จับกุมแกนนำหลัก’ และการสลายการชุมนุมด้วยการ ‘ฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตา’ ทำให้กระแสม็อบจุดติดยืดเยื้อนับสัปดาห์ มีการนัดชุมนุมโดย ‘ไร้แกนนำ’ ที่ชัดเจน และแจ้งล่วงหน้าไม่นาน แต่ผู้ชุมนุมรวมพลจำนวยมาก เช่น แยกลาดพร้าว และ อนุสาวรีย์ชัยฯ ตามยุทธศาสตร์ ‘ปฏิบัติการแกงเทโพ’ ของฝั่งผู้ชุมนุม
ทว่าสถานการณ์คลี่คลายลง หลังมีการ ‘ปล่อยตัวชั่วคราว’ บรรดา ‘แกนนำหลัก-รอง’ มากขึ้น ไม่ห้ามการจัดชุมนุม เป็นผลมาจากที่ ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ได้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ กทม. แต่รัฐบาลยังคงมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บังคับใช้อยู่ หลังใช้มาตั้งแต่ มี.ค. 2563 เพื่อแก้ปัญหาโควิดระบาด
สำหรับเหตุการณ์ที่ฝ่ายความมั่นคง เห็นว่าเป็นจุดที่ต้อง ‘ทบทวน’ คือ การฉีดน้ำเพื่อสลายการชุมนุม เมื่อครั้งการชุมนุมแยกปทุมวัน โดยว่ากันว่า ‘1 ใน 3 ป.บูรพาพยัคฆ์’ ก็ไม่เห็นด้วยกับการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม เพราะมีแต่เด็กๆที่มาชุมนุม ทำให้ ‘รถน้ำ’ ถูกตั้งแสตนบายเท่านั้น ทว่าก็ถูกใช้อีกครั้ง ในการชุมนุมที่หน้าศาลฎีกา-สนามหลวง เมื่อวันที่ 8พ.ย.ที่ผ่านมา
แต่กระแสตีกลับไม่แรงเท่าที่แยกปทุมวัน เมื่อ 16ต.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้ชุมนุมยังคงจัดกิจกรรม ‘เขียนจดหมาย’ ส่งสำนักพระราชวัง ได้ตามปกติ แต่สุดท้ายก็สุดอยู่ที่หน้าศาลฎีกา-ศาลหลักเมือง ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้กับพระบรมมหาราชวังที่สุด จุดเดียวกับเมื่อครั้งเช้าวันที่ 20ก.ย. หลังปักหมุดคณะราษฎร 2563 กลางสนามหลวง จากเดิมที่แกนนำผู้ชุมนุมตั้งใจเดินขบวนไปยัง ‘ทำเนียบองคมนตรี’ เพื่อยื่นข้อเสนอ 10 ข้อ ปฏิรูปสถาบัน
ทั้งนี้กระบวนการเจรจาระหว่าง แกนนำผู้ชุมนุม กับ ตร. มีอยู่ตลอด เพราะต่างฝ่ายต่างมีบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง โดยหน้าที่หลักของ ตร. อยู่ที่ ตร.นครบาล นำโดย ‘บิ๊กอู๊ด’พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ที่ลงพื้นที่มาดูแลการชุมนุมใหญ่ด้วยตนเองเสมอ โดยมี ‘มือประสานม็อบ’ คือ ‘รองวิทย์’พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการ ตร.นครบาล 1 ทำหน้าที่เจรจากับแกนนำม๊อบเสมอ โดย พ.ต.อ.อรรถวิทย์ รับหน้าที่เจรจาแกนนำม็อบทุกขั้ว มาตั้งแต่ปี2555 ที่รับมือม็อบมาหลากหลาย ตั้งแต่ม็อบการเมืองไปจนถึงม็อบปากท้อง จึง ‘ธรรมชาติ’ ของม็อบ รู้วิธีการเจรจา-ต่อรอง
โดยการชุมนุม 8พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ใช้แนวทาง ‘ชมัยมรุเชฐโมเดล’ เช่นเมื่อครั้งชุมนุม 21ต.ค.63 โดย ตร. ให้ผู้ชุมนุมเดินจาก อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาถึงหน้าศาลฎีกา แม้จะมีจุดสกัดบนสะพานผ่านพิภพลีลา ตรงข้าม รร.รัตนโกสินทร์ แต่ก็ไม่มีการสกัดกั้นผู้ชุมนุม จากนั้นการ์ดและผู้ชุมนุมได้มาประชิด ‘แนวกั้นสุดท้าย’ ก่อนถึงศาลหลักเมือง แม้จะมีเหตุชุลมุน มีการฉีดน้ำ แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี หลังแกนนำม็อบได้เจรจากับ ตร. ให้จัดกิจกรรมจุดก่อนถึงศาลหลักเมือง โดยให้แต่ละฝ่าย ‘รักษาแนว’ ของตัวเองไว้ และเปิด ‘พื้นที่ตรงกลาง’ ระยะ 10 เมตร เพื่อให้ผู้ชุมนุมอ่านแถลงการณ์และใส่จดหมายลงตู้ เพื่อส่งให้สำนักพระราชวัง
ปรากฏการณ์นี้มาพร้อมท่าทีของ ‘อานนท์ นำภา’ ที่โพสต์เรื่องทางออกสังคม คือ ‘การประนีประนอม’ แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรและเมื่อไหร่ แต่มองเห็นความพยายามของทั้ง 2 ฝ่าย ที่ไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสียอยู่ จึงขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายหนักแน่นจุดนี้ แล้วหา ‘ทางออก’ ไปด้วยกัน
ทำให้เกิดการตีความว่า การที่ ‘ทนายอานนท์’ โพสต์เช่นนี้เป็นการ ‘ส่งสัญญาณ’ เพื่อ ‘ลดเพดาน’ หรือไม่ ท่ามกลางการจับตาว่ามีกระบวนการ ‘พูดคุย’ หรือไม่ ทำให้ ‘ทนายอานนท์’ ต้องออกมาโพสต์ชี้แจงว่า ไม่มีการลดเพดาน โดยย้ำว่า 10 ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบัน ถือเป็นการประนีประนอมแล้ว ไม่เช่นนั้นย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิด ‘ฉันทามติใหม่’ ขึ้นแทน อีกทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่า ‘แกนนำหลัก’ หลายคน ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ต่าง ‘ลดบทบาท’ ลงไปอย่างชัดเจน
ว่ากันว่าห้วงเวลานี้อยู่ใน ‘กระบวนการประนีประนอม’ ที่เป็นเรื่อง ‘ระยะยาว’ จึงต้อง ‘ใช้เวลา’ แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ ฝ่ายความมั่นคง ย้ำว่าต้องป้องกันการเผชิญหน้าให้ได้ อีกทั้งการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงไม่ได้ ‘พุ่งเป้าเบื้องหลังแกนนำ’ ไปในฝ่ายการเมือง แต่มองไปที่กลุ่มที่เคลื่อนไหว ‘เครือข่ายภาคประชาสังคม’ มากขึ้น แต่ยังคงเชื่อในทฤษฎี ‘Mastermind’ อยู่ ตามที่ ‘บิ๊กแดง’ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ได้เคยชำแหละไว้สมัยเป็น ผบ.ทบ.
จึงไม่แปลกที่กระแส ‘รัฐประหาร’ จะซาลง โดย ‘บิ๊กบี้’ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. กล่าวถึงโอกาสรัฐประหารว่า “ติดลบ” รวมทั้งระบุว่าสถานการณ์มีทางออก โดยการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ขอให้ทุกคนมีสติ มองกระจกให้รอบด้าน อย่ามองด้านเดียว ให้มองว่าตอนนี้ควรทำอะไร
อีกเพียง 1 เดือนครึ่ง ก่อนจะเข้าสู่ปี ใหม่ 2564 ส่งท้ายปี 2563 ที่จับตาสถานการณ์ต่างๆ ให้ดี เช่น การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในวาระรับหลักการการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 17-18 พ.ย.นี้ รวมทั้งกรณี ศาลรัฐธรรมนูญเตรียมวินิจฉัยปม ‘บ้านพักทหาร’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จะขัดคุณสมบัตินายกฯ หรือไม่ 2 ธ.ค.นี้ ที่ต้องดูผลจะออกมาเป็นอย่างไร และเอฟเฟกต์จากผู้ชุมนุมจะเป็นอย่างไร ท่ามกลางสภาวะที่แต่ละฝ่ายต่าง ‘ปรับทัพ-ปรับตัว’ เพื่อช่วงชิงพื้นที่และมวลชน
ปีใหม่ฟ้าใหม่ ไทยแลนด์ !!