ไม่พบผลการค้นหา
แม้ ผบ.เหล่าทัพ ยุคปัจจุบันจะเลี่ยงการพูดการเมือง เลี่ยงให้สัมภาษณ์สื่อ แต่ ‘กองทัพ’ ยังคงตกเป็น ‘เป้านิ่ง-เป้าใหญ่’ ทางการเมือง โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวต่างๆ หลังแกนนำกลุ่มราษฎรทั้ง ‘อานนท์ นำภา’ และ ‘เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์’ เคยออกมาเตือนถึง ‘กลิ่นรัฐประหาร’ และนำมาสู่การ ‘ซ้อมต้านรัฐประหาร’ มาแล้ว

ในบรรดา ผบ.เหล่าทัพ มีเพียง พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่ให้สัมภาษณ์สื่อ แม้จะออกตัวขอพูดเพียงภารกิจ ทบ. แต่ก็หนีไม่พ้นต้องตอบคำถามเรื่องการเมือง หลัง ‘แนวร่วมปลดแอก’ ได้เสนอแนวคิด ‘สาธารณรัฐ-ค้อนเคียว’ ขึ้นมา 

ซึ่ง พล.อ.ณรงค์พันธ์ ก็เลี่ยงจะขยายแนวคิดนี้ ด้วยการตัดบทว่าไม่รู้จักคำนี้ ซึ่งนัยที่ซ่อนอยู่ในคำตอบ ในแง่หนึ่งก็สะท้อนว่าแนวคิดเหล่านี้ ‘เป็นไปไม่ได้’ ด้วย

"ไม่ทราบครับ เรื่องนี้ไม่มีในหัวผม" พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าว

"ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้จักคำนี้" พล.อ.ณรงค์พันธ์ หลังสื่อถามว่าไม่มีทางเป็นไปได้ใช่หรือไม่

ท่ามกลางการบังคับใช้ มาตรา 112 หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ลั่นบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ช่วงกลางเดือน พ.ย.63 หลังการชุมนุมแยกราชประสงค์-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีข้อความปรากฏตามกำแพงในพื้นที่ รวมทั้งการยกระดับการชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่ไปตาม ‘พื้นที่เชิงสัญลักษณ์’ ที่เชื่อมโยงกับสถาบันมากขึ้น

ทั้งนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ มีตำแหน่งเป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 และเป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ด้วย ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ณรงค์พันธ์ ก็สงวนท่าทีพูดถึงปรากฏการณ์ต่างๆ รวมทั้งการบังคับใช้ ม.112 ที่มีเพียง นายกฯ และ ตร. ชี้แจงเท่านั้น

“เป็นเรื่องของกฎหมาย ผมไม่ใช่นักกฎหมาย แต่เป็นนักการทหาร มีหน้าที่ป้องกันประเทศ และช่วยเหลือประชาชน รวมถึงเทิดทูนสถาบัน” พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าว

เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์  ณรงค์พันธ์ กองทัพไทย กองทัพบก ทหาร 1223_05.jpg

แต่ในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ขณะลงพื้นที่ตรวจกองกำลังชายแดนและฐานปฏิบัติการต่างๆ โดย ผบ.ทบ. ได้มอบพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ 10 ขณะออกราชการสนาม เช่นที่ กองกำลังบูรพา จ.สระแก้ว

พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอุทิศพระองค์ลงมาเมื่อประเทศชาติเกิดภัยคุกคาม และทรงเป็นกำลังใจร่วมปฏิบัติงานกับเรา” ตามนโยบาย ผบ.ทบ. ที่ให้มอบรูปตามกองกำลัง ฐานทหาร และหมู่บ้านต่างๆ ขณะลงพื้นที่

ท่ามกลางการออกมาเตือนถึงการบังคับใช้ มาตรา 112 จากนักกฎหมายว่าต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกนำมาใช้เป็น ‘เครื่องมือทางการเมือง’ เพราะมาตรา 112 เปิดโอกาสให้ใครแจ้งความเอาผิดก็ได้ ทว่าอีกสิ่งที่น่าสังเกตุ คือ พล.อ.ประยุทธ์ มักจะโยนให้เป็นเรื่องของ ‘ฝ่ายปฏิบัติ’ นั่นคือ ตร. ในการดำเนินการ โดยอ้างไม่เช่นนั้นจะผิดฐานปล่อยปละละเลย มาตรา 157 ได้ และมีการมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็อยู่ในฐานะคนรับเรื่องเท่านั้น ไม่ได้อยู่ในระดับสั่งการเรื่องนี้

กองทัพบก ทหาร1223_07.jpg

นอกจากนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ได้กลับมาปิด ‘จุดอ่อน’ ภายใน ทบ. แทน ออกกฎเหล็กตีกรอบกำลังพลเรื่องการเมือง ในแนวทาง ‘5 ได้ 7 ไม่ได้’

โดย ‘ปัดฝุ่นคำสั่ง’ จากยุค พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ สมัยเป็น ผบ.ทบ. ติดประกาศใน ทบ. โดยกรมกำลังพล ทบ. อ้างอิง ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยข้าราชการกลาโหมกับการเมือง พ.ศ 2499 และ คําสั่งกองทัพบกที่ 388 / 2563 ลงวันที่ 9 ก.ย. 2563 เรื่องแนวทางการดำเนินการต่อกำลังพลที่กระทำผิด หากฝ่าฝืนถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ,11 และ 32 ตามแต่กรณี ได้แก่

  • 1. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใดต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้บัญชาการทหารบกทราบ
  • 2. การเข้าร่วมประชุมทางการเมืองในฐานะส่วนตัวได้ แต่ต้องไม่สวมเครื่องแบบและไม่ใช้ในเวลาราชการ
  • 3. ปฏิบัติราชการในหน้าที่ด้วยการวางตนเป็นกลางโดยไม่มุ่งหวังประโยชน์ของพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะแต่ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล
  • 4. ลงคะแนนเสียง/แสดงความคิดเห็นส่วนตัวต่อผู้ลงสมัครได้
  • 5. การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองสามารถกระทำได้โดยไม่แต่งเครื่องแบบและไม่ใช้เวลาราชการทั้งนี้ในการเข้าร่วมประชุมในที่สาธารณะนั้นต้องเป็นไปอย่างสงบ
กองทัพบก ทหาร 01223_03.jpg

ส่วนสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ มีดังนี้

  • 1. ไม่กระทำการใดๆ อันมีลักษณะพาดพิง ส่อเสียด ล้อเลียน สถาบัน รัฐบาล และผู้บังคับบัญชา
  • 2. ไม่แต่งเครื่องแบบหรือชุดอื่นใดรวมถึงใช้ตราสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นทหารเข้าร่วมประชุมกับพรรคการเมืองหรือไปร่วมชุมนุมในที่สาธารณะอันเป็นการประชุมที่มีลักษณะทางการเมือง
  • 3. ไม่ประดับเครื่องหมายหรือแต่งเครื่องแบบของพรรคการเมืองเข้าไปในสถานที่ราชการ
  • 4. ไม่บังคับผู้อยู่ในบังคับบัญชา ทั้งโดย ตรงหรือโดยปริยายให้เป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใดและไม่กระทำการในทางให้คุณหรือให้โทษ
  • 5. ไม่แทรกแซงในทางการเมืองหรือใช้การเมืองเป็นเครื่องมือเพื่อการทำกิจการต่างๆ
  • 6. ไม่แสดงออกโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งในระยะเวลา ที่มีการสมัครรับเลือกตั้ง
  • 7. ไม่โพสต์ข้อความทางการเมืองในเวลาราชการในสถานที่ราชการหรือใช้คอมพิวเตอร์ของราชการรวมถึงห้ามใช้ account ของราชการร่วมกิจกรรมทางการเมืองบนสื่อสังคมออนไลน์
ณรงค์พันธ์ ผบ.ทบ.

โดยข้อกำหนดดังกล่าวได้นำมาติดในพื้นที่กองทัพบก ภายหลังการประชุมหน่วยขึ้นตรง ระดับผู้บังคับกองพันขึ้นไป โดยมี พล.อ.ณรงค์พันธ์ เป็นประธาน พร้อมมอบนโยบายให้กำลังพลออกไปใช้สิทธ์เลือกตั้ง อบจ. โดยห้ามผู้บังคับบัญชาชี้นำ แต่สามารถชี้แจงถึงคุณสมบัติของผู้สมัครได้ 

อีกทั้งในปี 2564 จะเป็นช่วงที่มีการ ‘เลือกตั้งท้องถิ่น’ อีกหลายสนาม รวมทั้งการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรที่ประกาศแล้วว่าจะเข้มข้นกว่าเดิม ซึ่งระเบียบ ‘5 ได้ 7 ไม่ได้’ ก็เท่ากับเป็นการ ‘จัดระเบียบ’ ภายในกองทัพกันเองด้วย เพื่อไม่ให้มี ‘ทหารนอกแถว-ทหารแตงโม’ เกิดขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วกฎระเบียบก็ขึ้นอยู่กับ ‘ความเหมาะสม’ ด้วย

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เคยเกิด 2 กรณีใหญ่ ได้แก่ กรณี ‘ผู้พันเจี๊ยบ’ พ.อ.หญิงนุสรา วรภัทราทร นายทหารประจำกรมยุทธการ ทบ. หนึ่งในทีมแอดมินเพจ Smart Soldiers Strong Army โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ม็อบมุ้งมิ้ง” ทำให้ ‘ทนายอานนท์-เพนกวิน’ และ ‘ไมค์-ภานุพงศ์ จาดนอก’ นัดชุมนุมหน้า บก.ทบ. และฉีกรูป พล.อ.อภิรัชต์ เพื่อประท้วงด้วย 

ล่าสุด ทบ. ได้ให้ พ.อ.หญิงนุสรา มาเป็นวิทยากรบรรยายผู้บังคับกองพัน-ผู้การกรม ถึงการใช้สื่อโซเชียลฯ ในที่ประชุมหน่วยขึ้นตรง ทบ. ด้วย

ไทยรักษาชาติ ยศนันท์
  • พล.อ.ยศนันท์ หร่ายเจริญ อดีตรอง ผบ.ทหารสูงสุด

และกรณี ‘บิ๊กยอร์ช’ พล.อ.ยศนันท์ หร่ายเจริญ อดีตรอง ผบ.ทหารสูงสุด (ตท.16-จปร.27) โดยหลังเกษียณฯ เกือบ 2 เดือน ได้ไปสมัครสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ พร้อมเปิดตัวฉะ คสช. ชูปกหนังสือตะวันใหม่ มีข้อความว่า ‘บัวจะบานในกองทัพ’

จากนั้นไม่นาน พล.อ.ยศนันท์ ก็ได้ลาออกจาก ทษช. แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เลิกเล่นการเมือง กลับมาใช้ชีวิตทหารเก่า-ทหารเกษียณฯ เงียบๆ แทน

อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งที่ ‘กองทัพ-ตร.’ ระวังคือ ‘ทหารแตงโต-ตร.มะเขือเทศ’ หลังเคยมีกรณี ‘เอกสารหลุด’ ในการสั่งการรับมือผู้ชุมนุมก่อนหน้านี้หลายครั้ง

ดังนั้นนอกเหนือการ ‘รับมือผู้ชุมนุม’ ก็ต้อง ‘จัดแถวกันเอง’ ควบคู่กันด้วย เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็น ‘เงื่อนไข-ชนวน’ หรือถูกใช้เป็น ‘เครื่องมือ’ ของการชุมนุม ทำให้ในระยะหลังมานี้ เรื่องเอกสารหลุดก็เงียบลงไป เพราะเป็นเรื่องที่ตามได้ไม่ยาก

เพราะ ‘ไส้ศึก’ หนักหนากว่า ‘ศึกนอก’ ที่เผชิญ !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog