ไม่พบผลการค้นหา
การชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่เปลี่ยนจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มาเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ แยกรัชโยธิน ด้วยเหตุผลไม่ต้องการให้เกิดการปะทะ หลังมวลชนเสื้อเหลืองในนาม ‘คณะพลังแผ่นดินสยาม’ ได้นัดชุมนุมในพื้นที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ในวันที่ 25 พ.ย. 2563 ได้มีการติดตั้ง ‘ตู้คอนเทนเนอร์’ ตามถนนสายต่างๆที่จะมายังสำนักทรัพย์สินฯ ทำเนียบรัฐบาล และเขตพระราชฐานอื่นๆ

ทั้งนี้ก่อนการชุมนุม 2 วัน จนท. ได้ติดตั้งป้าย ‘เขตพระราชฐาน’ โดยรอบสำนักทรัพย์สินฯ พร้อมกับการกล่าวย้ำห้ามชุมนุมใกล้เขตพระราชฐาน 150 เมตร ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมที่สาธารณะ ของรัฐบาลและกองทัพ

ท่ามกลางกระแสข่าวลือ ‘รัฐประหาร’ ที่มีมาตั้งแต่ปลายสัปดาห์ก่อน หลัง ‘อานนท์ นำภา’ และ ‘เพนกวิน’พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำม็อบราษฎรได้ออกมา ระบุว่า ได้กลิ่นรัฐประหาร ที่มาพร้อมกระแสข่าวการประกาศใช้ ‘กฎอัยการศึก’ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มองว่าเป็นเพียงการปลุกระดมมวลชนเท่านั้น พร้อมย้ำว่าเป็นอำนาจตนในการประกาศโดยขณะนี้บังคับใช้กฎหมายปกติเพียงพอแล้ว

"เรื่องปฏิวัติ เรื่องกฎอัยการศึก มีใครประกาศได้บ้างไหมตรงนี้ มีไหม หรือใครจะประกาศตรงนี้ได้ เมื่อผมไม่ประกาศแล้วใครจะประกาศ สื่อประกาศกันเองได้เหรอ หรือคนที่มากล่าวอ้างประกาศเองได้ ก็ไม่เห็นมีใครจะประกาศ ก็ชอบหาเรื่องระดมคนมาอยู่นั่นแหละ" นายกฯ กล่าว 23พ.ย.

ประยุทธ์ ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข 201029153208000000.jpg


ด้าน พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ตอบโต้คนปูดข่าว ‘รัฐประหาร’ ที่ไม่เป็นจริง ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่พูดหรือไม่ และเหตุใดจึงไม่มีกระแสตีกลับไปว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน เช่นเมื่อครั้ง 17ต.ค. ที่ตนลงพื้นที้ตรวจชายแดน ก็มีการปล่อยข่าวว่าตนเรียก ผบ.เหล่าทัพ หารือที่สโมสร ทบ. รวมทั้งขอให้ลบคำว่า ‘รัฐประหาร’ ออกไปจากหน้าสื่อ และตั้งคำถามว่าทำแล้วดีหรือไม่ 

“ผมถามว่าทำแล้วมันดีไหม ดีกับประเทศชาติ เศรษฐกิจหรือความเป็นอยู่ของประชาชนหรือไม่ ผมจึงบอกว่าอย่าไปคิดมาก สื่ออย่าไปพูดถึงคำนี้ ขอให้ตัดคำนี้ออกไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ หน้าสื่อ และโซเชียล อย่าให้ปรากฏอีก” พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าว 24พ.ย.63

ทั้งนี้มีการมองว่าการทำ ‘รัฐประหาร’ จะยิ่งเป็นการ ‘สร้างเงื่อนไข’ ต่อผู้ชุมนุม รวมทั้งจะยิ่งกระทบกับ ‘สถาบันฯ’ มากขึ้น และนำมาซึ่งการเข้าแทรกแซงจากต่างประเทศ รวมทั้ง ‘กองทัพ-รัฐบาล’ ก็เป็น ‘เอกภาพ-เนื้อเดียวกัน’ จึงเป็นการสยบกระแสข่าว ‘รัฐประหาร’ ให้นิ่งลงไป 

แต่น้ำหนักกลับมาอยู่ที่การประกาศใช้ ‘กฎอัยการศึก’ แทน โดยหนึ่งใน ‘ผู้มีอำนาจ’ ประกาศกฎอัยการศึก คือผบ.ทบ. ที่ก็ปฏิเสธตอบเรื่องใช้กฎอัยการศึก หลังสื่อถามถึง ‘ความจำเป็น’ ในการประกาศใช้หากสถานการณ์วุ่นวายขึ้นมา ซึ่งในอีกมุม พล.อ.ณรงค์พันธ์ ก็ไม่ต้องการพูดเพื่อ ‘ผูกมัดตัวเอง’ ไว้กับคำตอบ จึงไม่ได้ตอบอะไรออกมา ซึ่งก็เท่ากับว่า ‘ไม่ได้ปฏิเสธ’ ไปในตัวด้วย

รวมทั้งปรากฏการณ์ ‘มินเนี่ยนรีแบรนด์’ จากที่เคยปรากฏครั้งแรกในช่วงที่ยังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ดูแลสถานที่ราชการสำคัญ เช่น ทำเนียบฯ รัฐสภา และพื้นที่เขตพระราชฐาน ที่เป็น ‘ทหารนอกเครื่องแบบ’ สวมเสื้อเหลือง-กางเกงสีดำ แต่ผมตัดสั้นเกรียนออกมาดูแลพื้นที่รอบทำเนียบฯ เมื่อครั้งชุมนุม 21ต.ค.ที่ผ่านมาเพื่อ ‘ลดโทนทหาร’ ที่ไม่ได้สวมชุดฝึกภาคสนามทหารออกมา 

ม็อบเหรียญทอง  ม็อบปกป้องสถาบัน เสื้อเหลือง

รวมทั้งเหตุการณ์ชุมนุม 8 พ.ย.ที่ใช้ ‘ทหารนอกเครื่องแบบ’ อยู่หลังแนว ตร. ในพื้นที่สนามหลวง หลังกลุ่มผู้ชุมนุมจะไปยื่น ‘ประชาสาส์น’ ที่สำนักพระราชวัง ซึ่งเป็นเขตพระราชฐาน ที่สุดท้ายแล้วได้ใช้แนวทาง ‘ชมัยมรุเชฐโมเดล’ ในการเปิดพื้นที่ตรงกลางใช้ยื่นหนังสือแทน

ต่อมาการชุมกลุ่มราษฎรหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยหน่วยทหารที่อยู่ใกล้กับรัฐสภาที่สุด คือ ม.พัน.4 รอ. ตรงข้ามอาคารรัฐสภา เกียกกาย โดยหน่วยได้ป้องกันพื้นที่หน่วยทหาร โดยใช้ลวดหนามกั้นแนวประตูหน่วยทหาร กั้นด้วยรถบรรทุกทหารอีกชั้น ด้านหลังรถบรรทุกมีกำลังพลนั่งอยู่ที่พื้นเป็นแถว  ‘สวมเสื้อขาว-กางเกงดำ’ และสวมหมวกนิรภัยสีขาว ไม่ได้สวมชุดเสื้อเหลือง-กางเกงดำเช่นเดิม

ล่าสุดการดูแลพื้นที่รอบสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แม้กลุ่มราษฎรจะเปลี่ยนไปที่เอสซีบี สำนักงานใหญ่แทนแต่การตรึงกำลังของ ตร.ควบคุมฝูงชน และทหารนอกเครื่องแบบยังคงมีเช่นเดิม หลังพื้นที่สำนักทรัพย์สินฯ เป็นหนึ่งใน ‘เขตพระราชฐาน’ โดยครั้งนี้ทหารนอกเครื่องแบบได้สวม ‘ชุดพลเรือน-เสื้อหลากสี’ ตามปกติ แต่สวมหมวกนิรภัยสีขาวหรือหมวกผ้าสีฟ้าและเหลืองเป็นส่วนใหญ่ โดยที่หมวกก็มีการติดสติกเกอร์สีต่างๆเป็นการระบุสังกัดต่างๆด้วย

ทั้งนี้มีปรากฏการณ์ล่าสุดคือทหาร ‘สวมเสื้อเหลือง’ และ ‘ผ้าพันคอ-หมวกจิตอาสา’ ลงพื้นที่แยกรัชโยธิน หลังการชุมนุมคืน 25พ.ย. จนถึงเช้า 26พ.ย. เพื่อลบข้อความบนกำแพงในพื้นที่ หลัง ทบ. ได้ส่ง ชุดปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ทบ. สังกัดกรมวิทยาศาสตร์ ทบ. 

โดย พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก ทบ. ระบุว่า เพื่อลบข้อความไม่เหมาะสม เฮดสปีชเพื่อช่วยทำให้ กทม. สวยงาม เสริมบรรยากาศท่องเที่ยวฤดูหนาว ให้ประชาชนไม่เห็นข้อความทำให้ไม่สบายใจ โดยชุดปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ทบ. จะทำงานร่วมกับประชาชนและหน่วยราชการภาคส่วนต่างๆ

ทั้งนี้ พ.อ.หญิงศิริจันทร์ ระบุว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ ผบ.ทบ. เห็นถึงความยากในการลบข้อความบนถนนหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงให้กรมวิทยาศาสตร์ ทบ. เตรียมและหาวิธีลบข้อความได้รวดเร็ว เพื่อการทำความสะอาดพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ 

ประยุทธ์ ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข 9152236000000.jpg

รวมทั้งมีรายงานว่า ‘บิ๊กเนม’ ในรัฐบาล และ ‘ผู้บังคับบัญชา’ ระดับสูงในกองทัพ ก็เป็นห่วงสื่อมวลชนที่ลงพื้นที่ทำข่าวการชุมนุมคืน 25พ.ย.ด้วย หลังมีสื่อโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กถูกการ์ดอาชีวะปลอกแขนสีแดงผลักตกจากแบริเออร์และเกือบมีเหตุวิวาทต่อกัน ด้วยเหตุผลการ์ดไม่ให้ถ่ายภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้น 

ทว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่สื่อบาดเจ็บหรือได้รับผลกระทบทางร่างกายในการมาทำข่าวการชุมนุม แต่ก่อนหน้านี้ก็ได้รับผลกระทบและบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานของ ตร. เช่น รถน้ำที่ฉีดโดนสื่อและการใช้แก๊สน้ำตา เช่น หน้ารัฐสภา 17พ.ย.ที่ผ่านมา

อาชีวะ ม็อบ25ตุลา

ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตา คือ ฝ่ายรัฐเองก็มี ‘แนวทาง’ ในการต่อสู้กับผู้ชุมนุมโดยไม่ต้องเผชิญหน้า แต่ใช้การเฝ้ามองเหตุการณ์ต่างๆ และใช้จังหวะนั้นในการ ‘เข้าผลิตซ้ำ’ ผ่านสื่อโซเชียลฯและปฏิบัติการข่าว โดยในเวลานี้ฝ่ายรัฐเองก็เห็น ‘รูรั่ว’ ของกลุ่มราษฎร หากมองผ่านทวิตเตอร์ ก็จะพบว่าเป้าถูกพุ่งไปที่ ‘อาชีวะ’ และเรื่องการใช้เงินในการจัดชุมนุม เป็นต้น

ดังนั้นการรับมือของฝ่ายความมั่นคงจึงทำอย่าง ‘หลากมิติ’ ในสภาวะที่ฝ่ายความมั่นคง ดูเหมือนกำลัง ‘ถูกแกง’ แต่ในอีกมุมก็กำลัง ‘แกงกลับ’ เช่นกัน หรือที่เรียกว่าปฏิบัติการ ‘แกงมาแกงกลับ’ นั่นเอง

อย่าประเมิน ‘มินเนี่ยน-บร็อคโคลี’ ต่ำเกินไป

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog