ไม่พบผลการค้นหา
พลิกปูม 'ปัญหาที่ดิน' ผลพวงจากนโยบายทวงคืนผืนป่า แผ่ความเดือดร้อนในภาคอีสาน ที่เสียงของ 'ชาวบ้าน' ถูกกดทับด้วยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

หลัง 23 องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกันล่า 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายยกเลิกคำสั่ง คสช.และคำสั่งหัวหน้า คสช. 35 ฉบับ ที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งหนึ่งในภาคีที่เข้าร่วมคือ 'เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน' หรือ คปอ. ที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องสิทธิร่วมกับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ภาคอีสาน นับตั้งแต่มีการออก 'นโยบายทวงคืนผืนป่า' จากคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 ที่กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่า ร้อยละ 40 % ภายใน 10 ปี 

'รื้อถอนที่อยู่' สู่ 'การบังคับให้สูญหาย'

นางอรนุช ผลภิญโญ กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ได้เล่าถึงปัญหาที่ดินระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่กับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่าได้ทำงานในพื้นที่ทับซ้อนกับป่าอนุรักษ์ ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย และ ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร และอีก 5 ชุมชน ที่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีกรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง 


31E8F667-A8DC-4CEC-80CB-D6D6D2AC1C95.jpg

โดยเจ้าหน้าที่รัฐจะใช้อำนาจจากคำสั่งทางปกครอง เพื่อรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่าเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการใ���หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการตัดฟันไม้ชาวบ้าน, การดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญา, บังคับให้ออกจากพื้นที่ และการบังคับให้สูญหาย เช่นกรณี เด่น คำแหล้ แกนนำการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินชุมชนโคกยาว หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2559 หลังเข้าไปเก็บหน่อไม้ในสวนป่าโคกยาว ส่วนการดำเนินคดีล่าสุด คปอ.พบว่ามีการดำเนินคดีแล้ว 14 ราย จาก 19 คดี 

จาก 'คนไร้ที่อยู่' กลายเป็น 'คนไร้สิทธิ'

นอกเหนือการจับกุมดำเนินคดีผลกระทบยังมีผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เมื่อชาวบ้านไร้ที่อยู่อาศัย ส่งผลต่อการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานรัฐไม่มีแผนการเยียวยาเมื่อเกิดมาตรการรุกไล่พื้นที่ โดยอ้างว่าชาวบ้านทำผิดกฎหมาย ก็ไม่มีสิทธิในการเรียกร้องความเป็นธรรม  

ขณะที่ช่องทางทวงคืนความเป็นธรรม ถูกริดรอนเสรีภาพของประชาชนที่จะต่อสู้เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไข ด้วยการตีกรอบจาก พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ รวมถึงประกาศ คสช. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองหรือมั่วสุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แม้กระทั่งการห้ามประชาชนรวมตัวกันพูดคุยปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะชุมชนที่ไม่เข้มแข็ง ที่ไม่มีสิทธิต่อรองก็เสี่ยงต่อการถูกข่มขู่และดำเนินคดี และไม่ปรากฎในหน้าสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อหลักหรือสื่อทางเลือก


1.jpg

กลไกการมีส่วนร่วมที่หายไป จากอำนาจ คสช.

แม้ว่ารัฐจะเปิดช่องทาง 'ศูนย์ดำรงธรรม' ให้ชาวบ้านร้องเรียนความเดือดร้อน แต่นางอรนุชกลับมองว่าเป็นความล้มเหลว เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ 'ทหาร' ซึ่งหลายกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ สะท้อนวิธีคิดการไม่มีส่วนร่วม โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าคิดแทนชาวบ้านแล้ว ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ตลก จนไปสู่การตั้งคำถามว่าทำไมไม่ใช้กระบวนการพูดคุยระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ 

จึงอยากเสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่เกิดผลกระทบกับชาวบ้าน และนำแนวทางกฎหมาย 4 ฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินก้าวหน้า, พ.ร.บ.กองทุนธนาคารที่ดิน, พ.ร.บ.สิทธิชุมชน และ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ที่ชาวบ้านนำเสนอ ไปสานต่อเพื่อแก้ปัญหา รวมถึงการจัดเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อให้ชาวบ้านเป็นอิสระมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ถูกวางระบบจากกลไกรัฐธรรมนูญก็ตาม

เมื่อเสียงของประชาชนถูกตีกรอบด้วยกฎหมายที่ทำให้พวกเขาไร้เสียงสะท้อน ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสาน จะเป็นอย่างไรหากว่าเสียงเหล่านั้นไม่ถูกรับฟัง...

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog