หลังการยึดอำนาจรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เมื่อปี 2557 ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ที่ครบรอบ 4 ปี การทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา
แน่นอนว่าทุกพื้นที่ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าการออกมาต่อสู้ข้างถนน หรือการจัดเวทีเสวนาทางวิชาการ ได้ถูกตรึงด้วยคำสั่งคสช.
กลายเป็นข้อจำกัดและเจ้าหน้าที่รัฐมักอ้างอำนาจดังกล่าว ในการ 'สั่งห้าม' หรือ 'ขอความร่วมมือ' และนำไปสู่การดำเนินคดี ดังปรากฎล่าสุดคือการดำเนินคดีกับนักวิชาการในคดี 'เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร'
จนนำไปสู่การตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วการใช้คำสั่ง คสช. กดทับพื้นที่แสดงความคิดเห็น เป็นการรักษา 'ความมั่นคง' ของ 'ประชาชน' หรือ 'คสช.'
'วอยซ์ ออนไลน์' พูดคุยกับ 'ดร.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว' หรือ 'อ.เบญ' จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งใน 'นักวิชาการ' ที่ออกมาเรียกร้องและวิพากษ์การใช้อำนาจของ คสช.ในการดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามประชาชนหรือนักวิชาการ ดังปรากฎในหน้าสื่อทั้งในกระแสและนอกกระแส
Voice Online : คิดเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์การคุกคามนักวิชาการและนิสิต-นักศึกษา ?
อ.เบญจรัตน์ : ที่จริงเราต้องมองว่าไม่ใช่เรื่อง 'เสรีภาพทางวิชาการ' ที่เรามักจะพูดกัน ถึงแม้คนที่ถูกคุกคามคืออาจารย์หรือนักศึกษา แต่สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในยุคคสช.ตอนนี้ คือเรื่องการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของการมีส่วนร่วมทางการเมือง
เผอิญว่าคนที่โดนแล้วเป็นข่าวมักจะเป็นนักศึกษาและนักวิชาการ แต่จริงๆแล้วการจำกัดเสรีภาพตอนนี้มันไปทั่ว ไม่ใช่นักศึกษาและนักวิชาการ เพราะฉะนั้นมันเป็นตัวสะท้อนถึงสถานการณ์โดยรวมในการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากกว่า
Voice Online : การอ้างคำสั่งของคสช. ห้ามจัดเสวนาและกิจกรรมทางการเมือง สะท้อนต่อเสรีภาพในสังคมไทยอย่างไร ?
อ.เบญจรัตน์ : การห้ามจัดเสวนาหรือการพูดคุยที่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง หรือการวิพากษ์วิจารย์กันตอนนี้ มันสะท้อนให้เห็นว่าเราไม่สามารถจะมีส่วนร่วมในทางการเมืองได้เลย ส่วนพื้นที่ของมหาวิทยาลัยน่าจะเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้าง 'ปลอดภัย' ในการจะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องเหล่านี้ ตอนนี้ก็ 'ไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัย' อีกแล้ว เพราะว่าถูกคำสั่งของคสช. มาห้ามจัดหรือเขามักจะอ้างว่าขอความร่วมมือ บางมหาวิทยาลัยก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ก็ทำให้พื้นที่ที่ประชาชนใช้ในการพูดคุยเรื่องเหล่านี้ ซึ่งที่จริงแล้วก็ไม่ได้มีมาก ก็ยิ่งถูกจำกัดมากขึ้น
Voice Online: ภายใต้การกดทับด้วยคำสั่ง คสช. มีผลอย่างไรในการทำงานทางวิชาการในมหาวิทยาลัย ?
อ.เบญจรัตน์ : ถ้าเป็นเรื่องการเรียนการสอนไม่ได้มีผลกระทบเท่ากับกิจกรรมอื่นๆ ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนของนักศึกษา อาทิ งานสัมนาทางวิชาการหรืองานเสวนา ตอนนี้ก็ถูกจำกัดมากขึ้น อาจจะเพราะมีคำสั่งมาเอง หรือทางมหาวิทยาลัยก็มีความหวาดกลัว 'ไม่อยากที่จะมีปัญหากับทางทหาร' หรือบางทีคนจัดเองก็ต้องระมัดระวังในการนำเสนอ ทำให้เราแทนที่จะมีพื้นที่ที่จะมาคุยแลกเปลี่ยนกันแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ก็ยิ่งหดแคบลง
Voice online : กรณีเจ้าหน้าที่เข้าไปบันทึกภาพงานเสวนา ถือเป็นสิทธิหรือการละเมิด ?
อ.เบญจรัตน์ : การที่เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ โดยเฉพาะในเครื่องแบบ 'ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนยุค คสช.' ที่จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารมานั่งฟังงานเสวนาหรืองานสัมนาเวทีวิชาการ มันก็คือการข่มขู่คุกคามอีกรูปแบบหนึ่ง ถึงแม้ว่าเขาจะแค่มาถ่ายรูปหรืออาจจะมาบันทึกเหตุการณ์ แต่การที่ 'บุคคล' ที่ไม่ควรจะอยู่ตรงนั้น มันทำให้ทั้งคนร่วมและคนพูดในงาน อยู่ในบรรยากาศความหวาดกลัว และนี่คือรูปแบบของการคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแบบนี้
Voice Online : บทบาทนักวิชาการต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ?
อ.เบญจรัตน์ : ตอนนี้ก็มีกลุ่มนักวิชาการรวมตัวกันผลักดัน เคลื่อนไหวออกมาพูดและทำงานวิจัยศึกษาเรื่องผลกระทบของคสช. แต่ก็ถือว่าเป็นจำนวนน้อยถ้าเทียบกับประชาชนที่เริ่มตื่นตัวในการเรียกร้องประชาธิปไตย จริงๆแล้วนักวิชาการก็มีบทบาทสำคัญอย่างมากเลย ถ้าออกมาแสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบจากคำสั่งการจำกัดเสรีภาพต่างๆ จริงๆก็อยากให้นักวิชาการออกมาเคลื่อนไหวกันตรงนี้มากขึ้น ตอนนี้บทบาทถูกจำกัดไว้แค่ช่วยสนับสนุนในการเคลื่อนไหว หรือการพูดตามเวทีวิชาการ รวมถึงช่วยประกันคนที่ถูกดำเนินคดี แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าน่าจะทำอะไรได้มากกว่านั้น
"อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าบทบาทหนึ่งของนักวิชาการคือประชาชน จึงควรช่วยกันเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของสังคมไทยโดยรวมด้วย ถึงแม้จะไม่ใช่นักวิชาการแต่คุณยังมีอีกบทบาทหนึ่งที่เป็นประชาชน"
Voice Online : ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล คสช. ?
อ.เบญจรัตน์ : (หัวเราะ) จริงๆก็คือมันนานเกินไปแล้ว 4 ปี กว่าที่ คสช.มาอ้างจะปฏิรูปประเทศ ต้องการจะทำให้สงบเรียบร้อย จริงๆมันไม่ควรเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ แต่มันก็เกิดขึ้นและก็นานเกินไปแล้ว ถ้าจะให้ประเทศนี้มีความสุข เราก็ต้องคืนสู่ประชาธิปไตย และก็มีสิทธิเสรีภาพได้อย่างเต็มที่ ไม่อย่างนั้นมันก็จะเป็นความสุขหรอความสงบที่แค่ผิวหน้า คนไม่ออกมาแสดงความคิดเห็น คนไม่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะความกลัวแต่มันไม่ได้เป็นความสงบสุขที่เกิดจากประชาชนไม่ได้รับความเคารพให้เป็นพลเมืองของประเทศจริงๆ
"ถ้าจะต้องเรียกร้องก็ต้องเรียกร้องว่า พอได้แล้วคืนอำนาจให้กลับประชาชนได้ซะที"
อ่านเพิ่มเติม