พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์เรื่องคัดค้านการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฉบับที่ 53/2560 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 โดยพรรคเพื่อไทยกังวลถึงผลกระทบต่อพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองเดิม ซึ่งการกำหนดให้สมาชิกพรรคการเมือง ต้องยื่นหนังสือยืนยันไปยังหัวหน้าพรรค เพื่อแสดงคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม พร้อมชำระค่าบำรุงพรรค ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เท่ากับว่าการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการลบล้างสมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่ทั้งหมด และการให้พรรคการเมืองดำเนินการภายใน 90 เป็นความไม่แน่นอนของการยกเลิกคำสั่ง และอาจทำให้ไม่สามามรถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ ขณะเดียวกันการดำเนินการทุกอย่างต้องขออนุญาตคสช.ก่อนเท่ากับเป็นการล็อกการเมืองสองชั้น และเป็นการออกคำสั่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อปูทางการสืบทอดอำนาจของคสช.
โดยพรรคเพื่อไทยขอคัดค้านคำสั่งคสช. ฉบับที่ 53/2560 ที่ขัดต่อบทบัญญัติตามที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กำหนดไว้ในมาตรา 131 ที่ให้อำนาจรัฐสภาเป็นผู้แก้ไขกฎหมาย ขณะที่ คสช.เป็นเพียงองค์กรที่ได้อำนาจอีกทอดนึงจึงไม่อาจทำได้ นอกจากนี้การใช้อำนาจมาตรา 44 ถือเป็นการลบล้างกระบวนการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญ และเป็นคำสั่งที่่ละเมิดสิทธิเสรีภาพการดำเนินกิจการทางการเมือง อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองที่ต้องการสนับสนุนคสช. และเป็นการทำลายพรรคการเมืองเดิม
ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การออกคำสั่งทั้งหมดเป็นการกระทำที่ผิดหลักการ ผิดเจตนารมณ์ของประชาชน มีเจตนาที่ซ่อนเร้น เพื่อจะเลื่อนโรดแม็ปเลือกตั้งออกไป และสร้างเงื่อนไขต่อท่ออำนาจ โดยพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าทวงถามความยุติธรรมและความถูกต้องทุกช่องทาง
ด้านนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวในวรรค 3 เป็นเพียงการคาดเดาในการออกคำสั่ง โดยอ้างสถานการณ์ทางการเมือง จึงเป็นคำสั่งที่มิชอบ ซึ่งหลักในการออกกฎหมายต้องมีเหตุความจำเป็น ซึ่งมีผลกระทบต่อกำหนดการเลือกตั้งที่หัวหน้าคสช. เคยประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561
ในส่วนนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การออกคำสั่งสอดคล้องกับความพยายามตั้งพรรคการเมืองที่สนับสนุนคสช. และเสนอให้มีการรีเซ็ตสมาชิกพรรค ที่เกิดขึ้นมาอย่างเป็นระบบ เพื่อทำลายระบบพรรคการเมืองเดิมและเปิดโอกาสให้คสช.กลับเข้ามามีอำนาจต่อไป
เช่นเดียวกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาวิจารณ์การใช้อำนาจมาตรา 44 ขยายเวลาพรรคการเมืองดำเนินการทางการเมืองทางด้านธุรการ ว่าหากมีการใช้อำนาจเข้ามาเอื้อประโยชน์ในทางการเมืองคงไม่สามารถคาดหวังกับการปฏิรูปอะไรได้ และการออกคำสั่งดังกล่าวไม่ได้เข้าใจโรดแมปตัวเอง