ไม่พบผลการค้นหา
ชาวสโลวักรวมตัวประท้วงกรณีนักข่าวถูกสังหาร หลังเปิดโปงคดีคอร์รัปชันของคนในรัฐบาลและสมาชิกอียู ด้านนายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะยุบสภาตามข้อเสนอของประธานาธิบดี

ชาวสโลวาเกียนับหมื่นคนรวมตัวกันเดินขบวนใน 25 เมืองทั่วประเทศท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น เพื่อเรียกร้องให้มีการปราบปรามคอร์รัปชันและอำนาจของแก๊งมาเฟีย หลังเกิดเหตุฆาตกรรมนายยาน คูเซียก ผู้สื่อข่าวสืบสวนวัย 27 ปี และมาร์ตินา คุสนิโรวา คู่หมั้นของนายคูเซียก ซึ่งถือเป็นการสังหารผู้สื่อข่าวรายแรกในประวัติศาสตร์สโลวาเกีย โดยผู้ประท้วงได้ถือป้ายที่เขียนว่า "การทำร้ายผู้สื่อข่าวคือการทำร้ายพวกเราทุกคน"

นายคริสตอฟ เดอลัวร์ ผู้อำนวยการองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนได้ขึ้นปราศรัยว่า ผู้สื่อข่าวในยุโรปกำลังอยู่ในอันตราย นี่เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย จึงต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับประชาธิปไตยในยุโรป

ยาน คูเชียก

นายคูเซียกและคู่หมั้นถูกยิงเสียชีวิตในบ้านที่กรุงบราติสลาวาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากที่เขาสืบสวนเกี่ยวกับเครือข่ายมาเฟียในกลุ่มนักธุรกิจอิตาเลียนในสโลวาเกีย แต่ถูกสังหารก่อนจะเขียนข่าวชิ้นนี้เสร็จ อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวได้นำข่าวชิ้นนี้มาตีพิมพ์ในภายหลัง โดยรายงานนี้ระบุว่า ดรังเกตา กลุ่มอาชญากรรมจากเมืองกาลาเบรียนของอิตาลีได้ก่อตั้งเครือข่ายในพื้นที่ทาง ตะวันออกของสโลวาเกีย และได้ยักยอกงบประมาณจากสหภาพยุโรปที่ส่งมาให้พื้นที่ยากจนติดชายแดนยูเครน

เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมครั้งนี้แล้ว 7 คน โดยหนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมเป็นชาวอิตาลีที่ทำข้อตกลงทางธุรกิจกับเจ้าหน้าที่ที่ใกล้ชิดกับนายโรแบร์ต ฟิโช นายกรัฐมนตรีสโลวาเกีย ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากไม่ไว้ใจรัฐบาล และเรียกร้องให้นายฟิโชลาออกจากตำแหน่งและยุบสภา

ด้านนายฟิโชเปิดเผยว่าจะเรียกพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคมาหารือเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชันและมาเฟียภายในประเทศ เพื่อเรียกความมั่นใจของประชาชนคืนมา รวมถึงสั่งให้มีการสอบสวนคดีฆาตกรรมนายคูเชียกอย่างเป็นธรรม แต่ยืนยันว่าเขาจะไม่ยุบสภาตามที่นายอันเดร คิสคา ประธานาธิบดีสโลวาเกียเสนอ เพราะจะฝืนมติของประชาชนในไปเลือกตั้งในปี 2016 ที่ผ่านมา พร้อมตอบโต้ว่าประธานาธิบดีไม่มีอำนาจในการกดดันให้รัฐบาลลาออก