องค์กรไม่แสวงผลกำไร IREG Observatory จัดทำวิจัยและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษาและหลักสูตรอุดมศึกษาทั่วโลก เผยแพร่ผลสำรวจและจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาที่ร่ำรวยที่สุดประจำปี 2018 ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่า 'มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด' ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐอเมริกา เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ร่ำรวยและมีทรัพย์สินมากที่สุดในโลก โดยประเมินจากกองทุนเงินบริจาคจากศิษย์เก่าเมื่อปี 2016-2017 พบว่า มียอดรวมกว่า 34,500 ล้านดอลลาร์ รวมถึงรายได้จากการจัดการทรัพย์สินอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย
ส่วนสถาบันอุดมศึกษาที่ร่ำรวยเป็นอันดับ 2-10 เป็นมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เกือบทั้งหมด ได้แก่ (2) มหาวิทยาลัยเยล (3) มหาวิทยาลัยเท็กซัสซิสเตมส์ (4) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ (5) มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ยกเว้นอันดับ 6 คือ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคิงอับดุลเลาะห์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยซาอุดีอาระเบีย ส่วนอันดับ 7-10 ก็เป็นสถาบันอุดมศึกษาในสหรัฐฯ ได้แก่ (7) สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT (8) มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (9) มหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม และ (10) มหาวิทยาลัยมิชิแกน ส่วนสถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่ร่ำรวยติดกลุ่ม 100 อันดับโลกอยู่ที่ซาอุดีอาระเบีย อังกฤษ สิงคโปร์ แคนาดา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น
ในส่วนของประเทศไทย ไม่มีสถาบันใดติดใน 100 อันดับ แต่จากกรณี 'ปิดโรงภาพยนตร์ลิโด' ในย่านสยามสแควร์ของกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ทำให้มีการรายงานข่าวพาดพิงถึงสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเป็นผู้บริหารจัดการที่ดินบริเวณสยามสแควร์
โดยในเว็บไซต์ของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ระบุว่าธุรกิจของสำนักงานประกอบด้วย (1) กิจการตลาดสามย่าน (2) กิจการจัตุรัสจามจุรี (3) กิจการสยามกิตติ์ (4) กิจการศูนย์การค้าสยามสแควร์ (5) กิจการเขตพาณิชย์สวนหลวง-สามย่าน (6) กิจการอาคารพิเศษ (โครงการที่พักอาศัย หมอน 41) (7) กิจการสยามสแควร์วัน และ (8) กิจการสวนหลวงสแควร์ ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่ซึ่งราคาที่ดินต่อตารางวา 'แพง' ติดอันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ
มหาวิทยาลัยร่ำรวย-ใครได้ประโยชน์?
ในกรณีของฮาร์วาร์ด ซึ่งมีการจัดตั้งสำนักงานจัดการทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย และมีการว่าจ้างผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้โดยเฉพาะ ได้รับการเปิดเผยโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า รายได้ของอดีตผู้บริหารการลงทุนและอสังหาริมทรัพย์ของฮาร์วาร์ด ซึ่งรวมทั้งค่าตอบแทนและเงินโบนัส เป็นจำนวนที่สูงกว่าเงินเดือนอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเสียอีก โดยเมื่อปี 2559 แดน คัมมิงส์ อดีตผู้บริหารการลงทุน-อสังหาริมทรัพย์ของฮาร์วาร์ด มีรายได้รวมกว่า 23.8 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 785.4 ล้านบาท
เว็บไซต์ The Best School ระบุว่า การบริหารสถาบันการศึกษาให้มีกำไรทางธุรกิจและร่ำรวยมั่งคั่ง จะส่งผลดีต่อคุณภาพหลักสูตรการศึกษา ส่งเสริมความหลากหลายของงานวิจัย มีความพร้อมด้านอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และช่วยให้นักศึกษาที่เข้าเรียนในสถาบันเหล่านี้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนทักษะต่างๆ ได้ดีกว่ามหาวิทยาลัยที่มีทุนน้อย
อย่างไรก็ตาม สถาบันการศึกษาที่มีทรัพย์สินและผลกำไรจากการลงทุนด้านต่างๆ ในสหรัฐฯ เป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีฉบับใหม่ ซึ่งนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผลักดันให้มีผลบังคับใช้สำเร็จตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยกฎหมายภาษีฉบับใหม่ระบุว่า สถาบันอุดมศึกษาที่มีนักศึกษามากกว่า 500 คน และมีเงินอุดหนุนการศึกษา 500,000 ดอลลาร์ต่อนักศึกษา 1 คน จะต้องจ่ายภาษีถึงร้อยละ 1.4 ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งจะกระทบต่อสถาบันการศึกษาราว 27 แห่งในสหรัฐฯ
เจ้าของที่ดินรายใหญ่ = มหาวิทยาลัยเก่าแก่
แม้ว่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มเติม แต่ก็ไม่มีเสียงคัดค้านจากสื่อมวลชนหรือคนในสังคมอเมริกันมากนัก แต่กรณีมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของอังกฤษ ซึ่งติดอันดับสถาบันอุดมศึกษาที่ร่ำรวยติดอันดับ 17 และ 13 ของโลก กลายเป็นที่ถกเถียงล่าสุด เพราะเดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ เปิดเผยว่า ทั้งสองมหาวิทยาลัยเก่าแก่ ซึ่งถูกรียกรวมกันว่า 'อ็อกซ์บริดจ์' มีที่ดินและทรัพย์สินอื่นๆ รวมกันเป็นมูลค่ากว่า 21,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1 ล้านล้านบาท)
ประเด็นสำคัญที่สื่อตั้งคำถามมากที่สุด คือ การที่สถาบันอุดมศึกษาทั้งสองแห่งเป็นผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่จนแทบจะเรียกได้ว่าผูกขาด กินพื้นที่ 4 เท่าของเมืองแมนเชสเตอร์ของอังกฤษ เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะแต่ละสถาบันมีทั้งวิทยาลัยและวิทยาเขตในสังกัดอีกราว 70 แห่ง แต่ละแห่งมีการถือครองที่ดินและมีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพย์สินของตนเอง แต่ไม่ถูกตรวจสอบหรือต้องเผยข้อมูลต่อสาธารณชน ทั้งที่มหาวิทยาลัยได้รับมาตรการสนับสนุนหลายด้านจากรัฐ
สมาชิกพรรคแรงงาน ฝ่ายค้านของอังกฤษ วิพากษ์วิจารณ์ว่า 'อ็อกซ์บริดจ์' สั่งสมความร่ำรวยมานาน เพราะเป็นสถาบันเก่าแก่ที่ก่อตั้งในสมัย ค.ศ.1800 เป็นต้นมา แต่ไม่มีการปฏิรูปหรือกระจายการถือครองทรัพย์สิน ซึ่งจากการประเมินของเดอะการ์เดียน บ่งชี้ว่าทรัพย์สินรวมของทั้งสองสถาบันสามารถสนับสนุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาระดับต่างๆ ได้ทั่วประเทศ แต่ที่ผ่านมายังมีระบบคัดเลือกนักศึกษาที่เฉพาะเจาะจงแค่บางกลุ่ม ไม่มีความหลากหลาย และไม่ได้ช่วยกระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักศึกษากลุ่มอื่นๆ ที่ไม่มีโอกาสทางด้านเงินทุน
อย่างไรก็ตาม อ็อกซ์ฟอร์ดออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีดังกล่าว ว่า ทรัพย์สินที่ถือครองในนามมหาวิทยาลัย มีตั้งแต่ที่ดินไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์และวัตถุโบราณที่มีราคาประเมินสูง แต่หลายอย่างก็ไม่สามารถนำมาแปลงเป็นเงินทุนหรือนำไปประกอบธุรกิจได้ ขณะที่เคมบริดจ์ปฏิเสธที่จะชี้แจง
สถาบันการศึกษาต้องรับใช้สังคม?
เดอะการ์เดียนตั้งคำถามต่อ 'อ็อกซ์บริดจ์' ว่าสถาบันการศึกษาควรรับผิดชอบต่อการให้ความรู้และสร้างประโยชน์สาธารณะมากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะสถาบันที่มีทรัพย์สินมากมายทั้งสองแห่งของอังกฤษ ซึ่งต่างก็ประกาศตัวเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งรับใช้สังคมและสร้างบุคลากรที่มีคุณค่าต่อประเทศชาติและประชาคมโลก รวมถึงสนับสนุนการวิจัยและความก้าวหน้าทางวิชาการ
สื่ออังกฤษระบุว่า เฉพาะวิทยาลัยทรินิตี้ในสังกัดเคมบริดจ์ มีการถือครองทรัพย์สิน ที่ดิน และการบริหารจัดการการลงทุนในบริษัทและกองทุนต่างๆ เป็นจำนวนมาก และในบางกรณีก็ไปลงทุนในกิจการที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้คนในทางอ้อม เช่น บริษัทผู้ผลิตอาวุธและบริษัทพลังงานเชื้อเพลิงที่กำลังถูกต่อต้านในสหรัฐฯ เพราะวางท่อส่งเชื้อเพลิงกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
ย้อนกลับมาที่กรณีโรงภาพยนตร์ลิโด แม้จะถูกยกให้เป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของประเทศไทย และได้รับคำชมจากคนในหลายแวดวงว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะเชิงวัฒนธรรม แต่ก็ต้องปิดตัวลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา เพราะประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้มีการตั้งคำถามว่าพื้นที่ดังกล่าวจะถูกสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ นำไปพัฒนาในทิศทางใด
ทั้งนี้ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ว่าโรงภาพยนตร์ลิโด ในเครือเอเพ็กซ์ เป็นฝ่ายขอคืนสัญญาเช่าเอง เนื่องจากสภาพพื้นที่โดยรวมของร้านค้าใต้ลิโดที่แบ่งล็อกให้เช่าเป็นร้านค้ารายย่อยมีสภาพเก่าทรุดโทรมมาก ขาดการปรับปรุงและบำรุงรักษาที่ดี ทำให้มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ จึงจะขอกลับมาพัฒนาพื้นที่เองเมื่อสัญญาสิ้นสุด
ส่วนกรณีของโรงภาพยนตร์สกาลา ที่ยังมีสัญญาต่อไปอีก 2 ปี มีเสียงทักท้วงจากคนในแวดวงภาพยนตร์ว่าน่าจะนำพื้นที่ดังกล่าวไปจัดทำเป็น 'พิพิธภัณฑ์มีชีวิต' เพื่อรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรม แต่หากผู้มีอำนาจรับผิดชอบเห็นว่าต้องการพัฒนาพื้นที่ธุรกิจและหารายได้ก็คงไม่มีใครสามารถคัดค้านได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: