ไม่พบผลการค้นหา
‘เลขาฯ กฤษฎีกา’ ยันหากรัฐบาลทำตามเงื่อนไข ก็สามารถออก พ.ร.บ.เงินกู้ได้ ชี้ไม่ย้อนแย้ง หากอ้างวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ออกเป็น พ.ร.บ. เชื่อรัฐบาลทำตามกฎหมาย แจงไม่ได้ใช้คำว่าไฟเขียว

วันที่ 9 ม.ค. 67 ที่ทำเนียบ หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนกรณี ครม. ได้ส่งความเห็นได้ส่งความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงการออกพระราชบัญญัติเงินกู้ 500,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า คณะกรรมการได้ส่งความเห็นไปให้ ครม. แล้ว แต่จะต้องเข้าคณะกรรมการชุดใหญ่ก่อน และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด แต่ยังไม่มีคำว่าไฟเขียว เนื่องจากกฤษฎีกาตอบได้เพียงข้อกฎหมาย ซึ่งต้องดูว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา 53 มีอะไรบ้าง เงื่อนไขจะต้องเป็นเรื่องที่แก้ไขอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่

ปกรณ์ ย้ำว่า ผมตอบได้เพียงแค่นี้ เพราะเป็นนักกฎหมาย แต่มาตรา 53 สามารถออกเป็นกฎหมายได้ ส่วนจะเป็นพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดก็แล้วแต่ เพราะเป็นกฎหมายทั้งคู่

ส่วนข้อเสนอแนะที่ให้ไปมีอะไรบ้างนั้น ปกรณ์ กล่าวว่า ไม่ได้มีอะไร เป็นเพียงการอธิบายมาตรา 53 มีข้อมูลเชิงประจักษ์ และต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผมเป็นนักกฎหมายไม่สามารถชี้นำได้ ต้องใช้ข้อมูลตัวเลขที่เป็นตามหลักวิทยาศาสตร์

ส่วนความเห็นของกฤษฎีการับประกันได้หรือไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรที่ไม่ผิดกฎหมาย ปกรณ์ กล่าวว่า ผมไม่ทราบ แต่สามารถใช้อ้างอิงได้ เพราะเรายึดตามมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 รวมทั้ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ยืนยันว่า หากทำตามปลอดภัยแน่นอน

ส่วนหากเกิดปัญหา รัฐบาลสามารถอ้างคำของกฤษฎีกาเป็นเกราะได้หรือไม่ นายปกรณ์ ย้ำว่า ถ้าทำตามเงื่อนไขก็ไม่มีปัญหา

ส่วนการที่รัฐบาลอ้างว่า GDP โตไม่ทันนั้น ปกรณ์ ระบุว่า ตนเองเป็นนักกฎหมาย ไม่สามารถให้ความเห็นเรื่องเศรษฐกิจได้

ส่วนในภาวะวิกฤต แต่รัฐบาลตราเป็นพระราชบัญญัติ จะย้อนแย้งหรือไม่ ปกรณ์ ระบุว่า ไม่เป็นไร เพราะกฎหมายวินัยการเงินการคลังบอกให้กู้ได้ ซึ่งกฎหมายก็จะมีพระราชบัญญัติพระราชกำหนด ก็ทำได้ ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ส่วนแบบไหนปลอดภัยมากกว่ากันนั้น ก็ปลอดภัยทั้งคู่ หากถูกเงื่อนไข

สำหรับกรณีที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาระบุว่ากฤษฎีกาไฟเขียว สามารถใช้คำนี้ได้หรือไม่ ปกรณ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเข้าใจว่าท่านไม่ได้ใช้คำว่าไฟเขียว เพราะผมที่ไม่ใช่ตำรวจจราจร ยืนยันว่า ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขก็สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ และไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะเวลารัฐบาลทำอะไรก็ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่ถูกต้อง เชื่อมั่นว่าทุกคนยืนอยู่บนข้อเท็จจริงเหมือนกัน

ทั้งนี้ ปกรณ์ ย้ำว่า รัฐบาลถามมาเพียงคำถามเดียว คือจะสามารถออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ได้หรือไม่ แต่ไม่มีถามเพิ่มเติมกรณีมองว่าวิกฤติหรือไม่