ไพโรจน์ เทพา หนึ่งในเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนส่วนกลาง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า “เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า” เล่าให้ฟังถึงการตัดสินใจเข้ามาสมัครทำงานว่า ก่อนหน้านี้ทำงานโรงงานแห่งหนึ่ง แต่เมื่อเห็นว่ามีรับสมัครเจ้าหน้าที่อาสาลาดตระเวนในเขตอุทยานฯ จึงไม่ลังเลที่จะทิ้งอาชีพมาสมัครทันที แม้รู้ว่าค่าตอบแทนจะน้อย แต่เหมือนกับในใจโหยหาธรรมชาติ เพราะในวัยเด็กมีความฝังใจกับสิ่งที่กระทำผิด คือ รังแกสัตว์หลายชนิด เมื่อโตขึ้นมาแล้วบาดแผลนี้คงอยู่ในใจ จึงรีบสมัครทันทีที่เห็นว่าประกาศรับ จากวันนั้นถึงปัจจุบันทำงานมาประมาณ 5 ปีแล้ว
ความแตกต่างจากงานโรงงานกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า
หลายคนถามผมว่ามาทำงานที่นี่ทำไม ค่าตอบแทนน้อย เหนื่อยก็เหนื่อย ผมรู้ว่ารายได้แตกต่างจากที่เคยได้รับแน่นอน แต่ผมคิดว่าอยากเข้ามาสัมผัสธรรมชาติจริงๆ เป็นธรรมชาติที่คนภายนอกไม่ค่อยได้เข้ามา แม้กระทั้งการทำงานก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิง แต่มาที่นี่เราได้ความภาคภูมิใจ ที่คนข้างนอกมองไม่เห็นเรา แต่ได้ทำตรงนี้ เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในการรักษาป่า รักษาธรรมชาติ เป็นภารกิจที่เข้ามาแล้วไม่สามารถถอนตัวได้
ไพโรจน์ เทพา เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนส่วนกลาง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ครอบครัวเคยบอกให้เลิกทำอาชีพหนี้หรือไม่
มีหลายครั้งที่บอกให้เลิก เพราะเมื่อมีข่าวออกมาทีไรว่าเจ้าหน้าที่ถูกยิง จะคอยเป็นห่วง แต่เราบอกไปแล้วว่า งานแบบนี้มันเป็นเรื่องของความรู้สึกลึกๆ มันยากที่จะได้เข้ามาอยู่ จึงอยากอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ทำงานนี้เพราะความรัก ถ้าไม่รักจริงอยู่ยาก
เคยรู้สึกท้อกับการทำงานหรือไม่
ยอมรับว่าเคย เพราะบางทีเหนื่อยมาก ในการลงพื้นที่ พบอุปสรรคความยากลำบาก เคยนั่งคิดเหมือนกัน แต่คิดได้แป็ปเดียวนั่งพักหายเหนื่อยก็หายท้อแล้ว เพราะเราได้สัมผัสธรรมชาติจริงๆ มันซึมซับเข้าไป ทำให้เราเลิกไม่ได้
เตรียมตัวการออกลาดตระเวนแต่ละครั้งอย่างไร
การออกลาดตระเวนแต่ละครั้ง มีระยะเวลาไม่แน่นอน ปกติจะออกครั้งละ 3-4 วัน แต่ถ้ามีภารกิจติดพันอาจจะยาวไปเป็นสัปดาห์ โดยหัวหน้าชุดจะวางแผนไว้ก่อนว่าเราจะไปจุดใดบ้างและเราต้องเก็บของใส่เป้ ซึ่งเป้ที่เราแบกเหมือนแบกบ้านหลังหนึ่ง มีทุกอย่างที่จำเป็นต้องใช้ ทั้งที่นอน ของกิน ไฟฉาย เสื้อผ้า หนักประมาณ 20-30 กิโลกรัม ด้วยความที่แบกของหนักมาก ทำให้เจ้าหน้าที่บางคนถึงกับมีอาการเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เจ็บป่วยไปหลายคน
ที่ผ่านมามีเหตุการณ์เฉียดตายหรือไม่
เป็นภารกิจจับคนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูงตอนกลางคืน ผู้ก่อเหตุมีประมาณ 20 คน ฝั่งเจ้าหน้าที่มีน้อยกว่า และไม่รู้ว่าผู้ก่อเหตุมีอาวุธอะไรบ้าง เพราะเรามีกฎว่าจะพยายามไม่ยิงปืน เมื่อถึงเวลาจู่โจมเจ้าหน้าที่รุ่นน้องที่ยืนอยู่ข้างเราโดนแทง ซึ่งเฉียดเราไปนิดเดียว จากนั้นใช้สติรวบตัวผู้ก่อเหตุ และรีบกลับไปช่วยปฐมพยาบาลเจ้าหน้าที่รุ่นน้อง
อะไรถือว่าลำบากที่สุดในการอยู่ในป่า
จริงๆ แล้ว เมื่อเรามีความพร้อมแล้ว ใจสู้ ไม่คิดว่ามีอะไรลำบาก แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งระหว่างลาดตระเวน พบกลุ่มผู้ก่อเหตุกำลังวิ่งหนี ในขณะที่เรากำลังจะพักกินข้าว แต่ด้วยความที่ต้องตามจับกุมตัวให้ทัน จึงต้องควักหอมหัวแดงออกมาจิ้มกับกะปิ กินเข้าไปเฉยๆ ปะทังความหิวไปก่อน เพื่อเดินตามให้ทันผู้ก่อเหตุ
มีอะไรอยากฝากถึงคนทั่วไป
งานของเจ้าหน้าที่คือการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสะท้อนให้คนข้างนอกรู้ว่าในป่ามีปัญหาอะไรบ้าง เพราะคนส่วนใหญ่มาเที่ยวขับขี่รถยนต์ตามเส้นทางท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ ได้ชื่นชมความสวยงามของธรรมชาติ ซึ่งในป่าลึกอยากให้คิดว่ามีคนอย่างพวกเราแบกเป้ ถือปืนอยู่ในป่า คอยรักษาธรรมชาติไม่ให้ใครมาทำลาย
ภาคเอกชนร่วมจิตอาสาเห็นความสำคัญมอบสิ่งของจำเป็นเพื่อสนับสนุนภารกิจ
น.ส.กานดา วัฒนายิ่งสมสุข ที่ปรึกษา บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนของอุทยานแห่งชาติ ทุกคนมีความสำคัญกับการดูแลผืนป่า ซึ่งแต่ละครั้งในการทำงานมีความเสี่ยงภัยอย่างมาก ดังนั้นสิ่งที่เราเล็งเห็นคือ สิ่งที่ช่วยเอื้ออำนวยในการทำงาน เพราะต้องเข้าใจว่าแต่ละคนต้องเตรียมสิ่งของสำหรับการดำรงชีพในป่าหลายวัน ต่อการออกพื้นที่แต่ละครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาพบอาสาสมัครหลายคน มีอาการบาดเจ็บที่หลัง
“บมจ.วิริยะประกันภัย เห็นความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมากจึงประสานกับชมรมคนรักเขาใหญ่ ซึ่งเป็นจิตอาสา สอบถามว่าเจ้าหน้าที่มีความต้องการอย่างไรบ้าง จึงได้จัดสรรงบประมาณจัดหากระเป๋าเป้ แบบมีโครงเหล็กดามด้านหลัง ซึ่งจะช่วยในการกระจายน้ำหนัก นอกจากนี้ยังจัดหาปลากระป๋อง กางเกงในแบบระบายอากาศ รองเท้าเดินป่า พลัวแบบพิเศษ หม้อหุงข้าวสนาม ให้กับอาสาสมัคร รวมเป็นเงินประมาณ 1 ล้านบาท พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนประกันอุบัติเหตุคนละ 100,000 บาท กรณีเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ สำหรับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั้งสิ้น 449 คน รวมมูลค่า 44.9 ล้านบาท ใน 4 อุทยาน ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติตาพญา อุทยานแห่งชาติทับลาน และอุทยานแห่งชาติปางสีดา” น.ส.กานดา กล่าว