นายมัธยม ชายเต็ม ผู้ประสานงาน เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กล่าวว่า หลังจากมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเข้ามาคุยกับกลุ่มและลงนามในบันทึกข้อตกลงแล้ว ในวันนี้กลุ่มผู้ชุมนุมที่ปักหลักอยู่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนิน ที่มีชาวบ้านจากอ.เทพา จ.สงขลา ประมาณ 30 คน ชาวบ้านจากกระบี่ ประมาณ 100 คน ก็จะกลับบ้านในคืนนี้ (20 ก.พ. ) หลังจากได้รับฟังคำสั่งศาลแพ่งยกคำร้อง กรณีพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ยื่นคำร้องถึงศาลแพ่งเพื่อให้มีคำสั่งยุติการชุมนุม เรียบร้อยแล้ว
"วันนี้เราพอใจกับท่าทีของรัฐบาล และหลังจากนี้ พวกเราก็จะไปเฝ้าติดตามการดำเนินการตามข้อตกลงที่บ้าน" นายมัธยมกล่าว
ผู้ประสานงานเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ระบุว่า เหตุผลที่กลุ่มต้องการให้ถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เพราะรายงานฉบับนี้ให้ข้อมูลที่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง มีการประเมินผลกระทบต่ำมากกว่าความจริง เช่น การระบุว่าจะมีการโยกย้ายผู้คนไม่มาก ทั้งที่จะทำให้เขาสูญเสียแหล่งทำมาหากิจทางทะเล หรือการระบุว่า ในทะเลช่วงที่จะก่อสร้างโครงการไม่มีปะการัง ก็ไม่จริง เป็นต้น
"เราต้องการให้เขาถอนรายงาน EHIA แต่ให้ทำการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA เพราะเป็นการประเมินทางยุทธศาสตร์ แต่ผมก็ยังสงสัยว่า มีคนบอกว่า ปกติ SEA ทำกัน 3 ปี แต่ในข้อตกลงเราขอให้ทำ 9 เดือน ซึ่งก็หวังว่า ทางการจะเร่งรัดทำให้ ส่วนเรื่องนักวิชาการที่ต้องเป็นที่ยอมรับ ก็รอทางการส่งชื่อให้ดูก่อน" นายมัธยม กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงสายวันนี้ (20 ก.พ.) นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ พร้อมด้วยตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นตัวแทนรัฐบาลเข้าร่วมเจรจา และลงนามในบันทึกข้อตกลงกับแกนนำเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) พร้อมกับตัวแทนเครือข่ายคัดค้านก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา
โดยในบันทึกข้อตกลง ระบุไว้ 4 ข้อ คือ
1.ถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ (ฉบับใหม่) ออกจากสำนักงานนโยบายและแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายใน 3วัน นับตั้งแต่วันที่ลงนาม
2.กระทรวงพลังงานจะดำเนินการให้มีการจัดทำรายงาน การประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อศึกษาว่า จ.กระบี่ และอ.เทพา จ.สงขลา โดยให้มีนักวิชาการที่เป็นกลางที่สองฝ่ายยอมรับร่วมกัน ซึ่งหากศึกษาพบว่าไม่เหมาะสมต้องต้องยุติการดำเนินการโครงการทั้ง 2 พื้นที่ โดยให้เวลาการจัดทำรายงาน SEA เสร็จสิ้นภายใน 9 เดือน และให้ผลการศึกษา SEA มีผลผูกพันต่อการดำเนินโครงการทั้ง 2 พื้นที่ ภายใน 7 วันหลังการลงนาม
3.หากผลการศึกษา SEA ชี้ว่าพื้นที่มีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะต้องจัดทำรายงาน EHIA โดยคนกลางที่ยอมรับร่วมกัน
4.ให้คดีความระหว่าง กฝผ.และเครือข่ายเลิกแล้วต่อกัน
"ข้อตกลงในการลงนามทั้งหมดมีผลในทางปฏิบัติได้ เพราะอยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอยู่แล้ว ไม่ต้องรอผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเชื่อว่าจะสามารถหาคนกลางที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมาทำการศึกษาได้ เพราะรัฐบาลต้องการได้ผลการศึกษาที่เป็นข้อยุติเช่นกัน" รมว.พลังงานกล่าว
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ระบุว่า ขอบคุณกลุ่มผู้ชุมนุมไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-กระบี่ เพราะรัฐบาลไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหว ทำให้เสียเวลาทำมาหากินของประชาชน ซึ่งวันนี้รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามเอ็มโอยู 4 ข้อ ตามที่กลุ่มเรียกร้อง ดังนั้นอย่าให้มีการขยายผลจนเกิดความขัดแย้งอีก
พร้อมกับระบุว่า การประกาศยกเลิก EHIA ก็จะต้องมีการศึกษาใหม่ โดยนักวิชาการต้องได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ ว่าเป็นรายงานที่มีความเหมาะสมหรือไม่ และในช่วงนี้ต้องมอง ถึงอนาคตการเพิ่มไฟฟ้า เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน เพราะการส่งไฟตามสายส่งจะต้องหารค่าไฟกับคนทั้งประเทศ ซึ่งเป็นภาระกับประชาชน ส่วนเรื่องคดี ที่ต่างคนต่างฟ้อง ภาครัฐจะเข้าไปดูแลทั้งหมด
หลังจากการลงนามฯ แกนนำได้อ่านบันทึกข้อตกลงให้กลุ่มผู้ชุมนุมฟังอีกครั้ง และร่วมร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในการเรียกร้อง และเก็บข้าวของกลับบ้าน
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน เริ่มอดอาหารเพื่อแสดงลัญลักษณ์อารยะขัดขืนตั้งแต่วันนี้ 12 ก.พ. 2561 รวมเป็นเวลากว่า 8 วัน
อ่านเพิ่มเติม :
กลุ่มต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาปักหลักอดอาหารหน้ายูเอ็นวันที่ 6
ตร.ฟ้องศาลระงับชุมนุมต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ไม่สนผู้ชุมนุมอดข้าวประท้วงจนป่วย
ผู้ชุมนุมค้านถ่านหิน ประกาศอดอาหาร หน้าUN จี้รัฐยกเลิกโรงไฟฟ้า