ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างชาติ สะท้อน รัฐบาลอาเซียนเต็มไปด้วยช่องโหว่ในการบริหารจัดการประเทศ ไทยเจอศึกหนักโควิด-ม็อบ ย้ำ คนรุ่นใหม่ในภูมิภาคมีมุมมองต่ออนาคตคล้ายกันจนน่าประหลาดใจ

ดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) ชี้ วิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้นสะท้อนภาวะด้อยศักยภาพในการบริหารประเทศของรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเน้นการประท้วงและข้อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสถาบันสูงสุดของไทย 

ผู้เขียนชี้ว่า รัฐบาลทหารซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นผู้นำกำลังเจอปัญหาทั้งจากวิกฤตโควิด-19 และการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย จนการพาประเทศไปตาม “เนื้อเรื่องที่ถูกวางไว้” แทบเป็นไปไม่ได้ ตัวอย่างสำคัญ เห็นได้จากการประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่เมืองหลวงเมื่อ 15 ต.ค.เพื่อหวังขู่ให้ผู้ชุมนุมหวาดกลัวแต่กลับไร้ประโยชน์ ก่อนประกาศดังกล่าวถูกยกเลิกเมื่อ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา 

ดิ อิโคโนมิสต์ ชี้ว่า การเคลื่อนไหวซึ่งเต็มไปด้วยผู้ชุมนุมที่ยังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนครั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าได้รับชัยชนะบางส่วนแล้ว ผู้เขียนอธิบายว่า “เหล่าผู้เคลื่อนไหวเริ่มพูดถึงชัยชนะกันแล้ว ซึ่งในทางหนึ่ง พวกเขาพูดถูกเพราะเหล่าข้อห้ามที่ถูกสืบทอดมาเป็นระยะเวลานาน เช่น การวิจารณ์สถาบันสูงสุดได้ถูกทำลายไปแล้ว”

ม็อบ 29 ต.ค. สกายวอล์ค

เมื่อผนวกรวมวิกฤตความศรัทธาในรัฐบาลของประชาชนเข้ากับโรคระบาดจากโควิด-19 และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ดิ อิโคโนมิสต์ ชี้ว่า แม้รัฐบาลไทยมีศักยภาพด้านระบบสาธารณสุข จนมีคนไข้แค่ราว 3,700 รายเท่านั้น แต่การเติบโตของเศรษฐกิจกลับไปกันคนละทิศ ด้วยประมาณการที่อาจเห็นจีดีพีทั้งปีติดลบ 8% พร้อมตัวเลขนักศึกษาจบใหม่อีกราว 5 แสนคน ที่เสี่ยงไม่มีงานรองรับ 

ผู้เขียนยังรายงานว่าช่วงเวลาแห่งการปิดประเทศและกักตัวเพื่อป้องกันการระบาดที่รัฐบาลชูว่าเป็นความสำเร็จ กลายเป็นช่วงเวลาบ่มเพาะเหล่าผู้ประท้วงในโลกออนไลน์ให้ออกมาปะทุช่วงเดือน ก.ค.หลังรัฐบาลเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ออกไป 


‘โจราธิปไตย’ ในอาเซียน
ม็อบ16ตุลา สลายการชุมนุม ตำรวจ
  • ภาพเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณสยามสแควร์ เมื่อ 16 ต.ค.

ดิ อีโคโนมิสต์ รายงานว่า แม้รูปแบบสถาบันสูงสุดของไทยจะเป็นเรื่องเฉพาะประเทศ แต่ทัศนคติของคนรุ่นใหม่ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับมีความคล้ายคลึงกันจนน่าประหลาดใจ ยิ่งเมื่อพิจารณาความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในประเทศเหล่านี้ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับกับระบอบ ‘โจราธิปไตย’

อ้างอิงจาก สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญา ที่เขียนบทความลงเว็บไซต์ประชาไท ในหัวข้อ ‘ทำไมกูรูพุทธจึงร่วมงานกับโจราธิปไตย’ สะท้อนว่า หากผนวกรวมนิยามของคำว่า ‘โจราธิปไตย’ ของราชบัณฑิตยสภา เข้ากับหนังสือเรื่อง ‘ประชาธิปไตยหลากความหมาย หลายรูปแบบ’ ของประจักษ์ ก้องกีรติ (หน้า 25-27) จะหมายถึง การเมืองแบบอำนาจนิยมที่ไม่มีการแบ่งระหว่างทรัพย์สินและทรัพยากรสาธารณะและของผู้ปกครอง หรือกล่าวโดยง่ายว่าเป็นระบบการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบบเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) 

ดิ อีโคโนมิสต์ กลับมายกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กรณีของ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ที่ขึ้นมาคุมศาลราวกับกษัตริย์ในยุคกลางของประเทศ ขณะที่มาเลเซียซึ่งเคยมีความหวังในการปฏิรูปต้องวนกลับมาเจอกับระบบพวกพ้อง ซื้อสิทธิขายเสียงเช่นเดิม 

ด้านอินโดนีเซียกำลังมีประเด็นการฉ้อโกงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่สะท้อนชัดในระดับการตรวจการติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศที่อยู่ในกลุ่มต่ำที่สุดในโลก ขณะที่เหตุการณ์ในฟิลิปปินส์ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดี โรดริโก ดูแตร์เต ไม่ได้ดีไปกว่ากันสักเท่าไหร่ ล่าสุด ผู้ตรวจการแผ่นดินของฟิลิปปินส์ประกาศว่าการเปิดเผยสินทรัพย์สาธารณะไม่ใช่เรื่องที่สาธารณะชนต้องรู้

ม็อบ 29 ต.ค. สกายวอล์ค

ผู้เขียนชี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการประท้วงในภูมิภาคจากคนรุ่นใหม่ ทั้งในไทย กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ทว่าอาจเป็นเรื่องเร็วเกินไปที่จะกล่าวโดยสรุปว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ในภูมิภาคนี้ประสบความสำเร็จในการต่อกรกับเหล่าผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศแล้ว

ในมิติด้านเศรษฐกิจ ธนาคารโลกประเมินว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเห็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคหดตัวติดลบ 4% ตลอดทั้งปี 2563 อีกทั้งวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งมีผลร้ายกว่าวิกฤตการเงินเอเชียช่วงปี 2540-2541 ยังจะส่งผลร้ายยาวนานต่อการเติบโต ทั้งฝั่งการลงทุน ทุนมนษย์ และผลิตภาพ 

ธนาคารโลกยังประเมินว่าตัวเลขผู้ยากจนในเอเชียแปซิฟิคจะทะลุขึ้นมาเป็น 38 ล้านคน ตัวเลขจำนวนมากกระจุกตัวอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย 

อ้างอิง; The Economist