ไม่พบผลการค้นหา
เจฟ เบซอส สูญเงิน 8.4 แสนล้าน ก่อนได้คืนมา 2.5 ล้านล้าน ขณะเศรษฐีทั่วโลกเผชิญเหตุการณ์ไม่ต่างกัน ด้านคนทั่วไปเสี่ยงตกไปอยู่ใต้เส้นความยากจนสูงถึง 132 ล้านคนทั่วโลก

ต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่ทั่วโลกเพิ่งเริ่มทำความรู้จักกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 ในเวลานั้น ตามข้อมูลจากดัชนีมหาเศรษฐีของบลูมเบิร์กพบว่า มูลค่าความมั่งคั่งของ เจฟ เบซอส​ ซีอีโอหนึ่งในบริษัทค้าปลีกออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างแอมะซอน หายไปถึง 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (8.4 แสนล้านบาท)

ทว่าเมื่อการจับจ่ายออนไลน์กลายเป็นช่องทางเดียวที่เหลืออยู่ท่ามกลางมาตรการปิดเมือง สินทรัพย์ของเบซอสพุ่งขึ้นมากว่า 8.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2.5 ล้านล้านบาท) จากจุดต่ำสุดปลายไตรมาสแรก มูลค่าเทียบเท่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของศรีลังกาทั้งประเทศ 

เจฟฟ์ เบซอส
  • เจฟ เบซอส​ ซีอีโอแอมะซอน

รายงานความมั่งคั่งโลกของเครดิตสวิสที่ตีพิมพ์ ต.ค.ที่ผ่านมา ชี้ว่า ไตรมาสแรกของปีนี้ ครัวเรือนของผู้มั่งคั่งทั่วโลกสูญเสียเงินราว 17.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (540 ล้านล้านบาท) ทว่าเงินที่สลายไปแทบทั้งหมดคืนกลับเข้าสู่กระเป๋าเงินพวกเขาแทบทั้งหมดแล้วโดยใช้ระยะเวลาไม่ถึงปีด้วยซ้ำ

ขณะที่ในปี 2562 กลุ่มมหาเศรษฐีและอภิมหาเศรษฐีสามารถทำเงินได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 36.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,100 ล้านล้านบาท)

เออร์ โรห์เนอร์ ประธานคณะกรรมการบริหาร กลุ่ม เครดิตสวิส เอจี ชี้ว่า ก่อนมีวิกฤตโรคระบาด ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ความมั่งคั่งต่อหัวของกลุ่มวัยทำงานจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 7.8 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ (2.4 ล้านบาท) ช่วงปลายเดือน มิ.ย.ทว่า ตัวเลขดังกล่าวหลังการรับรู้ผลกระทบของโควิด-19 ตกลงมาอยู่ที่ 7.6 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ (2.3 ล้านบาท)

แนนเน็ต เฮชเลอร์ ประธานภาคการลงทุนของเครดิตสวิส ชี้ว่า เมื่อนำข้อมูลของเหล่าอภิมหาเศรษฐีของโลก ทั้งจากรายงานของมหาเศรษฐีพันล้าน 1,000 คน จากฟอร์บส, ดัชนีความมั่งคั่งตั้งแต่ 18 มี.ค. วันที่หุ้นร่วงต่ำสุดในรอบปี มาจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. ประกอบกับดัชนีเอสแอนด์พี 500 พบว่า เหล่าอภิมหาเศรษฐีในวงการเทคโนโลยี อาทิ เจฟ เบซอส และ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊ก มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นกว่า 50% 

มากกว่าครึ่งหนึ่งของอภิมหาเศรษฐี 13 รายทั่วโลก ที่ได้รับประโยชน์มหาศาลจากวิกฤตโรคระบาดกระจุกตัวอยู่ในวงการเทคโนโลยีทั้งสิ้น ขณะที่หนึ่งในผู้ชนะของวิกฤตครั้งนี้คือ ควน คัม ฮอน ผู้ก่อตั้งและประธานฮาร์ทาเลกา โฮลดิงส์ บริษัทผู้ผลิตถุงเมืองยางรายใหญ่ของมาเลเซีย 

ตลาดหุ้น- มือถือ-unsplash

เมื่อจำแนกรายประเทศ รายงานพบว่า ในสหราชอาณาจักรที่ปัจจุบันมียอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากกวา 4.4 หมื่นราย มหาเศรษฐีในประเทศสูญความมั่งคั่งราวหนึ่งในสี่ระหว่างเดือน ก.พ.-มิ.ย. ขณะที่มาผู้มั่งคั่งในอิตาลี ประเทศในทวีปยุโรปแรกๆ ที่เผชิญกับการระบาดใหญ่ สูญเงินไปแล้วกว่าหนึ่งในสามจากที่เคยถือครอง

ด้านเกาหลีใต้ที่ควบคุมสถานการณ์ได้อย่างฉับไวเห็นตัวเลขความร่ำรวยของมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้นถึง 10% ในช่วงไตรมาสที่ 2/2563 ขณะที่มหาเศรษฐีในจีนซึ่งเป็นประเทศแรกที่พบเชื้อไวรัสดังกล่าวรวยขึ้นอย่างต่ำ 3% 


โลกคู่ขนาน

ในโลกคู่ขนานของมหาเศรษฐีเหล่านั้น คือที่อยู่อาศัยของประชากรส่วนใหญ่ของโลกที่พยายามเอาตัวให้รอดจากการตกไปอยู่ใต้เส้นความยากจนและไม่กลายเป็นคนตกงานอันเป็นผลพวงจากวิกฤตในปัจจุบัน 

ตามข้อมูลจาก worldpoverty.io ปัจจุบันมีตัวเลขประชากรผู้มีชีวิตอยู่ภายใต้ภาวะยากจนแร้นแค้นหรือผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ/วัน (60 บาท) สูงถึง 7.1 แสนล้านราย 

เศรษฐกิจ-คนจน-แจกข้าวกล่อง-เยียวยา-สวัสดิการ-ชาวบ้าน

ก่อนหน้านี้ ข้อมูลจากธนาคารโลกชี้ว่าในปี 2560 สัดส่วนประชากรผู้อยู่ภายใต้ภาวะดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ 9.2% ของจำนวนประชากรทั้งหมด จากเดิมที่เคยอยู่ในระดับ 10.1% ในปี 2558 ทว่า วิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบัน กำลังผลักให้ผู้คนราว 68 - 132 ล้านคนทั่วโลก ต้องเผชิญหน้ากับความยากจนภายในปี 2573 

ทั้งยังส่งผลให้ความหวังในการลดจำนวนประชากรที่ต้องตกไปอยู่ในสภาวะยากจนแร้นแค้นอยู่ในระดับ 3% ของจำนวนประชากรทั่วโลก เป็นเรื่องที่เอื้อมไม่ถึง 

ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (โออีซีดี) มีการประเมินว่าสัดส่วนการว่างงานจะเพิ่มขึ้นถึง 10% ในปี 2563 คิดเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากระดับ 5.3% ในปี 2562 ซ้ำร้าย กรณีที่มีการระบาดระลอกที่ 2 สัดส่วนการว่างงานอาจทะลุไปถึง 12% และแนวโน้มการฟื้นตัวจะไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งปี 2564 

เมื่อเปรียบเทียบทั้ง 2 โลกเข้าด้วยกัน จะพบว่า ขณะที่มหาเศรษฐีสูญเสียเงินจำนวนมาก พวกเขากลับเรียกคืนสิ่งเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังรวยขึ้นในหลายกรณี ขณะที่เรื่องเหล่านี้เสมอืนหนังคนละม้วนกับคนทั่วไปที่อาจตกไปอยู่ใต้เส้นความยากจน และต้องใช้เวลาแทบทั้งชีวิตเพื่อจะขึ้นมาจากสภาวะดังกล่าว

อ้างอิง; The Economist, Credit Suisse