ไม่พบผลการค้นหา
คอลัมนิสต์ นิตยสารข่าว ตปท.ยกกรณีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงของไทยเข้าข่ายลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อ - โยงรัฐบาลอาเซียนนิยมหยิบประเด็น 'ปลุกปั่น' สังคม ปิดปากนักข่าว

บทความล่าสุดจาก 'เดวิด ฮัตต์' คอลัมนิสต์ของนิตยสารข่าวการเมือง สังคม และวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคอย่าง 'THE DIPLOMAT' สะท้อนความยากลำบากของนักข่าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับการโดนรัฐบาลแทรกแซงในการทำหน้าที่เสนอความจริง 

เดวิด ชี้ว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลอาเซียนหลายประเทศหยิบกฎหมายที่มีไว้เพื่อต่อกรกับ 'ข่าวปลอม' (fake news) มาเป็นเครื่องมือปิดปากนักข่าว รัฐบาลเหล่านั้นไม่ได้มุ่งเน้นตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่หันไปพุ่งประเด็น 'การยุยงปลุกปั่น' แทน


กัมพูชา : นักข่าวโดนจับเพราะวิจารณ์ 'ฮุน เซ็น'

รายงานจาก VOA ระบุว่า กฎหมายยุยงปลุกปั่นในกัมพูชา ส่งให้นักข่าวอย่างน้อย 3 คน ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซ้ำร้าย เมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา 'โซวาน รึตือ' (Sovann Rithy) นักข่าวกัมพูชาอีก 1 ราย ถูกศาลตัดสินจำคุก 18 เดือน หลังออกมาวิจารณ์ประสิทธิภาพการบริหารประเทศของ 'ฮุน เซน' นายกรัฐมนตรีกัมพูชาคนปัจจุบัน บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ทว่า หลังมีคำตัดสิน ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัว โซวาน ที่ถูกคุมขังตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา 


ไทย - เมียนมา ไม่ต่างกัน

นอกจากกรณีของกัมพูชา เดวิด ยังอ้างถึง ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงของไทยในช่วงก่อนหน้าที่สามารถเอาผิดถึงขั้นปิดสำนักข่าวลงได้ เช่นเดียวกับสถานการณ์ในเมียนมา ที่รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายยุยงปลุกปั่นเพื่อเอาผิดนักข่าวจำนวนมาก

คอลัมนิสต์ผู้เชี่ยวชาญประเด็นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย้ำว่า ทั้งหมดที่เกิดขึ้นคือการพยายามสร้างความหวาดกลัวให้กับสำนักข่าวและสาธารณชน 

เดวิด ชี้ว่า หากนักข่าวอิสระต้องมานั่งคำนวณว่าทุกชิ้นงานที่ตนเขียนไป ประชาชนจะตีความออกไปเป็นแบบใด จะสุ่มเสี่ยงต่อการยุยงปลุกปั่นหรือไม่ รูปแบบและกระบวนการทำงานตามธรรมชาติของวิชาชีพสื่อจะถูกบั่นทอน

"ความจริงไม่ได้สำคัญอีกต่อไป แต่คือความจริงนั้นถูกตีความอย่างไร"

ในทำนองที่สอดคล้องกัน ช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ. การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน เเละการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร) ซึ่งเป็นประธานการประชุมวาระพิจารณาศึกษากรณีการสั่งให้ตรวจสอบเเละให้ระงับการออกอากาศรายการเเละสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ วอยซ์ทีวี (Voice TV ) ประชาไท ( Prachathai ) The Reporters และ THE STANDARD ชี้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลมีความต้องการปิดกั้น สิทธิเเละเสรีภาพของสื่อมวลชน ในการเเสดงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ชุมนุมเเละส่งผลให้เห็นว่ารัฐเเละผู้มีอำนาจได้ลิดรอนสิทธิเเละเสรีภาพสื่อมวลชน

ขณะที่ พล.ต.ท จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้เเทนจากสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ เเละผู้แทนสื่อมวลชน เผยว่า มีรายงานจากหน่วยข่าวกรองรายงานว่า สื่อ 5 สำนักเสนอข่าวในแนวทางที่สร้างความแตกแยก ปั่นป่วน 4 กรณี คือ ชักจูง วุ่นวาย เเตกเเยก เเละเป็นข่าวลวง

อ้างอิง; THE DIPLOMAT, VOA

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;