ไม่พบผลการค้นหา
งานวิจัยพบว่า เด็กยากจนในประเทศร่ำรวย มีโอกาสทำคะแนนสอบได้สูงกว่าเด็กที่มีครอบครัวมีฐานะแต่อาศัยอยู่ในประเทศยากจนหรือมีรายได้ปานกลาง

เมื่อพิจาณาคะแนน 'PISA' หรือผลสอบจาก 'โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล' ในปี 2561 ของนักเรียนไทยอายุ 15 ปี ทั่วประเทศ สาธารณชนจะประจักษ์ชัดว่าระบบการศึกษามีปัญหาและต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ไม่เพียงไทยถูกกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (OECD) ทำคะแนนเฉลี่ยทิ้งห่างทั้ง 3 วิชาที่มีการทดสอบ ได้แก่ การอ่าน, คณิศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แบบไม่เห็นฝุ่นด้วยผลลัพธ์ 487 ต่อ 393, 489 ต่อ 419 และ 489 ต่อ 426 ตามลำดับ

คะแนนสอบ

ไทยยังทำคะแนนแย่ลงในวิชาการอ่านและแทบไม่พัฒนาขึ้นสำหรับคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ 3 ปีก่อนหน้าของตัวเอง ทั้งยังตกต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อย้อนกลับไปเทียบกับคะแนนในปี 2555 

ข้อมูลข้างต้นนำมาสู่การคำถามฐานว่า หรือแท้จริงแล้วเด็กจะมีพัฒนาการและศักยภาพในการเรียนรู้ดีกว่าเมื่ออาศัยอยู่ในประเทศที่มีเศรษฐกิจพัฒนาแล้วหรือรู้จักกันโดยทั่วไปในฐานะ 'ประเทศร่ำรวย'


แค่ครอบครัว 'รวย' ไม่เพียงพอ

งานวิจัยจากต่างประเทศ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ก.ย.ที่ผ่านมา สะท้อนความจริงในระบบการศึกษาโลกว่า ท้ายสุดแล้ว เด็กที่เกิดมาในครอบครัวยากจนอาจจะยังมีความโชคดีอยู่บ้าง ถ้าพวกเขาบังเอิญไปเกิดในประเทศร่ำรวย กลับกัน เด็กที่เกิดในครอบครัวร่ำรวยแต่อาศัยในประเทศยากจนอาจไม่ได้โชคดีอย่างที่เราคิด

การศึกษา-unsplash

ในงานศึกษาที่พัฒนาระบบประเมินศักยภาพนักเรียนทั่วโลกจากข้อสอบมาตรฐานที่แตกต่างกัน ผ่านรูปแบบการคำนวณใหม่ที่เรียกว่า 'Rosetta Stone' เดฟ เพเทล และ จัสติน แซนเดอเฟอร์ พบความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญระหว่างผลสอบของเด็กนักเรียนกับระดับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจประเทศและครอบครัว

เมื่อวัดศักยภาพจาก 'เกณฑ์แนวโน้มการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สากล' หรือ TIMSS ของเด็กราว 80 ประเทศทั่วโลก ผู้วิจัยพบว่า ความมั่งคั่งของประเทศที่เด็กอาศัยอยู่รวมไปถึงความมั่งคั่งของครอบครัวเด็กนั้นมีผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกันเมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับระบบคะแนนของเด็ก

ประโยคข้างต้น สามารถอธิบายผ่านตัวอย่างได้ว่า เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวยากจนตามมาตรฐานของประเทศที่ร่ำรวย หรือครอบครัวที่มีรายได้ราว 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี (วัดจากมูลค่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนในปีนั้นอยู่ที่ราว 40 บาท / 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือประมาณ หรือประมาณ 2 แสนบาท/ปี ถูกประเมินว่าจะทำข้อสอบ TIMSS ได้คะแนนราว 500 จากคะแนนเต็ม 1,000 คะแนน สำหรับเด็กจากครอบครัวในสหรัฐฯ ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวขยับขึ้นมาเป็น 560 สำหรับเด็กจากญี่ปุ่น 

ในทางตรงกันข้าม เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่มีรายได้ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี หรือประมาณ 4 แสนบาท/ปี แต่อาศัยในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง อาทิ คอสตาริกา ถูกประเมินว่าจะทำข้อสอบได้คะแนนเพียง 475 เท่านั้น 

งานวิจัยยังพบว่า ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง คะแนนของเด็กที่เกิดในครอบครัวร่ำรวยแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับเด็กที่เกิดในครอบครัวยากจน ซึ่งเป็นผลมาจากการกระจุกตัวของกลุ่มครัวเรือนร่ำรวยที่แยกตัวเองออกมาจากสังคม

ขณะประเทศซึ่งมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจต่ำนั้น พบว่าระดับผลการทดสอบของเด็กที่เกิดในครอบครัวร่ำรวยกับยากจนไม่ได้แตกต่างกันมาก เนื่องจากโดยทั่วไปศึกษาอยู่ในโรงเรียนที่มีเด็กมาจากหลายชนชั้น ไม่ใช่เป็นการแบ่งชนชั้นโรงเรียนตั้งแต่แรก

จากสมมติฐานข้างต้น งานวิจัยชิ้นนี้ประกอบรวมกับผลการทดสอบ PISA สะท้อนชัดว่า สภาพเศรษฐกิจของประเทศส่งผลโดยตรงต่อระดับความสามารถของเด็กนักเรียน ทั้งยังเป็นสัดส่วนที่ส่งผลมากกว่าความมั่งคั่งรายครัวเรือนด้วยซ้ำ

ด้วยเหตุนี้ การแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทย จึงต้องมองให้มากกว่าโครงสร้างระบบการศึกษา เม็ดเงินลงทุนแต่ละปี หรือคุณภาพบุคลากร แต่ต้องวิเคราะห์ให้เห็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเช่นเดียวกัน เพราะการร่ำรวยในประเทศยากจนหรือมีรายได้ปานกลางไม่เพียงพอให้เด็กไทยไปสู้กับสังคมโลก

อ้างอิง; World Bank, The Economist, IMF