ตั้งแต่เวลา 15.40 น. ที่หอประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานที่ประชุมพิจารณาวาระรับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ม.ค.-มี.ค.62) โดยมีนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการปฏิรูป 11 ด้านต่อที่ประชุม
จากนั้นที่ประชุมเปิดให้ ส.ส.อภิปราย โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ถึง สศช. มีหน้าที่รับผิดชอบแผนปฏิรูป แต่ ครม.ต้องรับผิดชอบด้วย โดยยึดตามมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญที่ ครม. มีอำนาจเต็มไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ สภาแห่งนี้ยินดีต้อนรับ ใน 11 ด้านการปฏิรูปนั้น ถามว่ามีผลสำเร็จคืบหน้าหรือไม่ ดูจากรายงานยังไม่มีตัวชี้วัดใดๆ อาจจะคืบหน้าว่าส่งแผนสำเร็จแต่ผลที่เกิดกับประชาชนดูไม่ได้จริงๆ ตนตรวจสอบในรายละเอียดมีแต่ส่ิงที่เราพบว่าล้มเหลว เช่น เรื่องประชาธิปไตยต้องมีธรรมาภิบาล การกระจายอำนาจ การทบทวนกฎหมายที่ล้าหลัง ซึ่งยังไม่ได้ทำอะไรเลย คือสิ่งที่ปรากฎอยู่ในรายงาน แต่มีการตั้งทีโออาร์เพื่อจ้างที่ปรึกษาในการดำเนินการ ทั้งที่มีบุคลากรหรือข้าราชการทำหน้าที่อยู่แล้ว เป็นความล้มเหลวของการปฏิรูปโดยเฉพาะปฏิรูปการเมือง ที่ทำให้ภาคการเมืองอ่อนแอ สภาและ ครม.เป็นเป็ดง่อย จะพัฒนาประเทศได้อย่างไร เพราะระบบการเมืองเราต้องการทำลายอำนาจที่มาจากประชาชนให้อ่อนแอ 254 กับ 246 ห่างกันเพียง 8 เสียงจะทำให้การปฏิรูปการเมืองล้มเหลว อีกทั้งยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่ยุทธศาสตร์ชาติแต่เป็นยุทธศาสตร์การสืบทอดอำนาจของคนบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น อย่างน้อย 5 ปี แต่เขาหวัง 20 ปี ซึ่งอันตรายมาก ที่สำคัญแผนการปฏิรูปยังทำให้เกิดรัฐราชการรวมศูนย์ ซึ่งยากต่อการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
‘อนาคตใหม่’ ฉะผลาญงบฯ กว่า 1.7 พันล้านให้คณะกรรมการปฏิรูปฯ
ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ในภาพรวมนั้นล้มเหลวยิบย่อยและซ้ำซ้อน เช่น โครงการทางการเมืองชื่อเลือกต้ังซื่อสัตย์และเป็นธรรมได้รับงบประมาณ 18 ล้านบาท แต่เราก็มี กกต.อยู่แล้วซึ่งงบฯ หลายพันล้านบาทที่จัดการเลือกตั้งก็ยังมีปัญหาด้านการกระจายอำนาจนั้นไม่มีความคืบหน้าเลยด้านสาธารณสุขมีโครงการโรงพยาบาลผักปลอดสารพิษใช้เงิน 60 ล้านบาท ซึ่งไม่เห็นผลโครงการโซลาร์รูฟไม่เป็นการส่งเสริมพลังงานทางเลือกส่วนทางสิ่งแวดล้อมมีโครงการปักไม้ไผ่ลดแรงคลื่นวงเงิน286 ล้านบาทภายใน6 ปีนอกจากนี้ยังมีโครงการยิบย่อยทับซ้อนกันจำนวนมากส่วนในทางการเมืองนั้นไม่มีอะไรเสร็จสิ้น
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า โครงการส่วนใหญ่ที่สำเร็จคือการออกกฎหมาย สนช.ใช้เวลา 1 เดือนออกไปทั้งสิ้น26 ฉบับ สนช.ใช้เวลา 1 เดือนเท่านั้นรวมทั้งหมด 5 ปี สนช.ออกกฎหมายทั้งสิ้น456 ฉบับทั้งที่ต้องการจะชำระกฎหมายที่เกินความจำเป็นออกไปมีการออกกฎหมายแปลงร่างจากมาตรา44 เช่นอีอีซีแต่ก็มีการละเว้นการรับฟังผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอสิ่งที่ทำเร็วจึงอาจไม่ใช่เรื่องดีเสมอไปยิ่งทำแผนปฏิรูปยิ่งทำให้รัฐเทอะทะมากขึ้นเรื่อยๆตั้งหน่วยงานเพิ่ม3 หน่วยงานในรอบ3 เดือนมีแผนระยะ5 ปีจะตั้ง52 หน่วยงานจนต้องมีการเบรกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
”ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นวงจรการปฏิรูปคือตั้งคณะกรรมการออกกฎหมายและตั้งหน่วยงานใหม่ยิ่งปฏิรูปยิ่งล้มลุกคุกคลานการปฏิรูปมักเป็นเพียงข้ออ้างของการทำรัฐประหารเมื่อปี2549 ก็มีการปฏิรูปมี4 คณะใช้งบประมาณ1.3 พันล้านบาทมี 1,000 ข้อเสนอ เมื่อปี 2557 รัฐประหารด้วยการอ้างว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้งมี 2 สภาปฏิรูปใช้เงิน1.7 พันล้านบาทกรรมการปฏิรูป 11 คณะเบิกเบี้ยประชุม 300 ล้านบาท มี 1,300 ข้อเสนอเสียดายแทนความพยายามอย่างยิ่งที่จะปฏิรูปวางกลไกเงื่อนไขไว้มากทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแผนปฏิรูป 5 ปีแผนสภาพัฒน์อีก 5 ปีหวังว่าคราวหน้าจะเห็นความก้าวหน้าที่มากกว่านี้คุ้มค่ากับทรัพยากรที่เสียไป" น.ส.ศิริกัญญากล่าว
’วันนอร์’ จวกไม่เห็นผลงานปฏิรูป เน้นตั้งสภาปฏิรูปแต่เลือกตั้งซื้อเสียงมโหฬาร
ด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า เห็นรายงานแล้วไม่เชื่อว่าจะเป็นการปฏิรูปประเทศได้เลยแม้แต่น้อยเห็นสภาเป็นเพียงตรายางให้รับทราบเฉยๆ ซึ่งไม่ใช่ตนและประชาชนทั้งประเทศไม่เห็นการปฏิรูปที่เป็นชิ้นเป็นอันมีเพียงตั้งสภาปฏิรูป และคณะกรรมการ 11 ชุดคอยเบิกเงินเท่านั้น ต้องถามว่ามีการประเมินบ้างหรือไม่ว่าก้าวหน้าหรือมีความสำเร็จอย่างไรบ้างเช่นในทางการเมืองกำหนดให้จัดให้มีการเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรมเป็นวาระแห่งชาติเพื่อปฏิรูปประเทศ แต่การเลือกตั้ง 24 มี.ค.นั้นมีการซื้อเสียงมโหฬารมากกว่าทุกครั้งมีการใช้อำนาจรัฐโดยไม่อายชาวบ้านนำเงินพรรคการเมืองไปให้กำนันผู้ใหญ่บ้านบนศาลากลางบางแห่ง วาระแห่งชาตินั้นชาติไหนเลือกตั้งผ่านไป 4 เดือนยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ต่างจากเดิมไม่เกินหนึ่งเดือนก็เสร็จแล้วนี่มันการปฏิรูปประสาอะไร
ด้านนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปรายด้วยว่าตนเห็นด้วยหมวดปฏิรูปสามารถปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับการแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ ทั้งนี้ในแนวทางของการปฏิรูปกำหนดให้มีคณะกรรมการรายละเอียดงานอาทิแผนปฏิรูปเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีผลผูกพันทุกหน่วยงานราชการรวมถึงติดตามและลงโทษหากพบว่าไม่มีการดำเนินงานปฏิรูปในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนอกจากนั้นยังกำหนดให้รายงานความคืบหน้าของการทำงานด้วยขณะที่ปัญหาของการดำเนินงานปฏิรูปคือการตั้งกรรมการที่มาจากภาครัฐมากกว่าภาคประชาชนรวมถึงขาดความหลากหลายรวมถึงจัดทำแผนภายใน 60 วันที่ขาดความชัดเจนและนำเป้าหมายไปสู่ประชาชน
“กรรมการปฏิรูปลาออกจำนวนมากทำให้ทั้ง 11 ด้านมีปัญหาบางคณะมีเพียง 2 คนจากทั้งหมด 12 คนหรือบางคณะหายจนทำงานไม่ได้นอกจากนั้นงานปฏิรูปมีระบบเสนองบประมาณและฐานการเสนอของบประมาณที่ลักลั่นและมีปัญหาเกือบทุกคณะผมขอเสนอแนะว่าครม.ชุดใหม่ต้องตั้งกรรมการปฏิรูปที่มีความหลากหลายรวมถึงรื้อแผนปฏิรูปและให้ประชาชนแสดงความเห็นเพื่อเกิดการมีส่วนร่วมและยอมรับ” นายนิกร ระบ
วิปสองฝ่ายหนุนพักประชุมถกต่อ 27 มิ.ย.
เวลา 19.40 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ เสนอให้พักการประชุม เพราะยังมีพรรคเพื่อไทยที่จะต้องอภิปรายต่ออีก 20 คนโดยขอให้อภิปรายต่อในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ ทำให้นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ซึ่งเป็นประธานการประชุม ขอให้วิปทั้งสองฝ่ายไปหารือว่าจะอภิปรายต่อให้จบในวันนี้หรือไม่ ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เห็นด้วยกับการพักประชุมโดยจะให้อภิปรายต่อจนถึงเวลา 21.00 น. และจะพักประชุมและมาอภิปรายต่อในวันที่ 27 มิ.ย.
’เสรีพิศุทธ์’ จวกสภาฯ กั๊กรายงานประชุมรัฐสภาเลือกนายกฯ
เวลา 20.30 น. พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายว่า วาระประชุมรัฐสภาพิจารณาเลือกนายกฯ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ตนถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพให้ได้รับความเสียหาย เพราะได้คนที่เป็นยามมาเป็นนายกฯ การเสนอชื่อนายกฯ และการพิจารณาคุณสมบัตินายกฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะตนต้องเตรียมรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่รายงานการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ตนจะขอสำเนาการประชุมวันดังกล่าวมาประกอบคำร้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ โดยติดต่อมาเกือบ 1 เดือนแล้วแต่เจ้าหน้าที่สภาฯ บอกยังให้ไม่ได้เพราะต้องให้กรรมาธิการรับรองก่อน โดยต้องรอตั้งกรรมาธิการก่อน จนมีการเสนอชื่อนายกฯให้รัฐสภารับรองแล้ว ตนขอให้การจัดทำรายงานการประชุมสภาฯ ขอให้พิจารณารวดเร็ว เพราะตนจะต้องทำคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์
ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ในฐานะประธานการประชุมทักท้วง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ที่อภิปรายไม่เกี่ยวกับแผนปฏิรูปประเทศ แต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยืนยันการอภิปรายเกี่ยวกับแผนปฏิรูปประเทศเพราะเป็นการปฏิรูปสภาฯ โดยนายชวนพยายามเบรก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์และขอให้พูดเข้าประเด็น
‘เพื่อไทย’ เย้ยยุทธศาสตร์ชาติเป็นนอสตราดามุส - เผด็จการเบ็ดเสร็จ
ขณะที่ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประชาชนไม่เข้าใจ แต่ประเทศชาติถ้าจะเดินไป 20 ปีข้างหน้าแสดงว่าคนเขียนยุทธศาสตร์ชาติเป็นนอสตราดามุส ทั้งที่เป็นเรื่องหลอกลวง ต้องการสืบทอดอำนาจ
“ผมฟันธงยุทธศาสตร์ชาติที่เขียนมาต้องรายงานทุก 3 เดือนต่อสภาฯ ทำให้ สศช. ต้องเหนื่อย มาเลเซียเคยมียุทธศาสตร์ชาติ แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดเยอะแบบบ้านเรา แต่ของ สศช. เป็นเรื่องการปฏิบัติงานทั้งสิ้น วันนี้ประชาชนมาสภาแต่ยังตั้งรัฐมนตรีไม่ได้ ทั้งที่ควรไปร้องรัฐบาลแต่ประชาชนกลับมาร้องฝ่ายค้าน อีกทั้งแผนปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องโกหกหลอกลวงประชาชน ผมไม่เห็นด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติที่มีความคลุมเครือ และเคยถามประชาชนไหมว่าประเทศจะเดินไปทางไหน ทั้งนี้ยังเขียนรายงานเป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จที่เขียนเสร็จก็เข้า สนช. ผมขออย่าให้ประชาชนอย่าไปเคลิ้มกับยุทธศาสตร์ชาติ และขอให้ยกเลิกแผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ” นายจิรายุ ระบุ
ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายถึงแผนการปฏิรูปสื่อว่า การปฏิรูปสื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยเข้มแข็งแต่แผนการปฏิรูปสื่อแบบประชารัฐไม่รู้ความหมายว่าอย่างไร โดยแนวทางปฏิรูปสื่อมีหลักเกณฑ์เป้าหมาย 2 แนวทาง คือ 1.รณรงค์การรู้เท่าทันสื่อ และ 2.การกำหนดกฎเกณฑ์มาตฐานจริยธรรมสื่อ แต่การทำทั้งสองอย่างตามแนวทางประชารัฐนั้น ดูแล้วไม่ได้เป็นแนวทางส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน แต่จะกลับเป็นการลิดรอนและคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชนโดยรัฐเอง เพราะตัวกลไกสำคัญการปฏิรูปสื่อ คือ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อ ซึ่งตั้งเป้าออกเป็นกฎหมายได้ 2561 แต่ตอนนี้ยันติดอยู่ในชั้นกฤษฎีกา ไม่สามารถออกได้ เพราะถูกค้านอย่างหนักจากสื่อ และภาคประชาสังคมต่างๆ เนื่องจากในแผนปฏิรูปสื่อฉบับนี้ กลับไม่ได้ส่งเสริมหลักสื่อควบคุมกำกับควบคุมกันเอง
น.ส.พรรณิการ์ ระบุว่า ในยุค คสช. สื่อมวลชนถูกควบคุม มีการปล่อยให้สื่อที่สนับสนุน คสช. โจมตีฝั่งตรงข้ามโดยข้อมูลเท็จ บิดเบือน เกิดขึ้นเป็นประจำ ไม่มีการลงโทษ เป็นสิ่งที่เกิดในยุคที่เป็นเผด็จการไม่มีสภาผู้แทนราษฎร แต่วันนี้เราในฐานะสภาผู้แทนราษฎร จะไม่ให้การลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อ ปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนแบบที่เกิดขึ้นในรัฐบาล คสช. เกิดขึ้นอีก แผนการปฏิรูปสื่อแบบประชารัฐที่อาจหมายถึงปิดหูประชาชนจะเกิดขึ้นอีกไม่ได้ในยุคที่มีสภาผู้แทนราษฎร เราต้องปกป้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้อภิปรายมาถึงเวลา 22.00 น. ที่สุดนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นประธานการประชุมได้สั่งพักการประชุม และนัดประชุมต่อในวันที่ 27 มิ.ย. เวลา 09.30 น.