ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.พลังประชารัฐ เปิดฉากรุมจวก 'อนาคตใหม่' ปม ส.ส.แต่งกายไม่ให้เกียรติสภา ด้าน 'ปารีณา' ยกรากเหง้าสั่งสอนไม่เหมือนกัน ทำให้ 'ชวน' ชี้ 87 ปีรัฐสภาไม่เคยเถียงเรื่องการแต่งกายอย่างหนัก โดยที่ประชุมสภาฯ มีมติรับหลักการร่างข้อบังคับ 461 เสียง ก่อนประธานสภาฯ ตัดบทปิดประชุมไม่ให้โหวตตั้ง กมธ.เต็มสภา

เมื่อเวลา 16.30 ���. ที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถนนแจ้งวัฒนะ สถานที่ประชุมรัฐสภาชั่วคราว มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม ส.ส. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างพิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า ตามที่คณะกรรมาธิการฯพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯเสร็จแล้ว เนื้อหาโดยสรุป เช่น การบัญญัติข้อบังคับการประชุมให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และสอดคล้องกับยุคสมัยในปัจจุบันตามที่มีกระทรวงใหม่ ประเด็นในการกำหนดแนวทางการทำงานของสภาฯ เพื่อขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพ การกำหนดกระทู้ถามแยกเป็นการเฉพาะ และให้คณะกรรมาธิการสามัญ 35 คณะ คณะละ 15 เท่าเดิม แต่บางคณะมีการเปลี่ยนชื่อ และปรับอำนาจหน้าที่ให้สอดคล้องสถานการณ์และภารกิจของกระทรวงใหม่ รวมถึงเรื่องการรักษาระเบียบและความเรียบร้อยที่เกี่ยวกับครื่องแบบ ชุดสากลนิยม ชุดพระราชทาน หรือชุดที่ประธานสภาฯกำหนด ในข้อ 181 ซึ่งร่างข้อบังคับฯ มีทั้งสิ้น 11 หมวด 1 บทเฉพาะกาล รวม 192 ข้อ

จากนั้น นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ในหมวด 10 เรื่องการรักษาระเบียบ แต่การแต่งกายของสมาชิกบางคน ทำให้ตนไม่สบายใจตั้งแต่สัปดาห์แรกที่สภาเปิดประชุม สำหรับสมาชิกสุภาพสตรีตนไม่ขอก้าวล่วง เพราะแฟชั่น สุภาพสตรีกับสุภาพบุรุษเราคิดไม่เหมือนกัน สุภาพสตรีอาจจะมีแฟชั่นสีสัน ซึ่งเรื่องการแต่งกาย ตนเห็นว่าสมาชิกทุกคนโตแล้วสามารถคิดเองได้ว่าการแต่งกายควรเป็นอย่างไร ส่วนกลุ่มเพศทางเลือกหรือเพศสภาพ จากที่ตนได้เห็นกลุ่มนี้แต่งกายสุภาพเรียบร้อย แต่สิ่งที่ห่วงที่สุด คือกลุ่มสุภาพบุรุษ ขอเอ่ยนามพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งทุกสัปดาห์จะเห็นเพื่อนสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ แต่งกายไม่ให้เกียรติสถานที่ บางคนใส่เสื้อโปโลสวมเสื้อสูท หลายคนไม่ผูกเนคไท ซึ่งตนไม่สบายใจ เพราะการแต่งกายคือความให้ความเคารพสถานที่ 

"สภาคือบ้านของเราทุกคน การแต่งกายที่เรียบร้อยถือว่าเคารพเพื่อนสมาชิก บ่งบอกถึงความเคารพต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และเชื่อว่าการแต่งกายเป็นการให้เกียรติประชาชนที่เลือกให้เข้ามาทำงาน ตนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาในเรื่องนี้ ตนไม่ใช่คนหัวโบราณ แต่อยากให้กำหนดไปเลยว่าการแต่งกายแบบไหนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม" นายอรรถกร ระบุ

อรรถกร พลังประชารัฐ S__52265014.jpg

ขณะที่ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า สำหรับพรรคอนาคตใหม่ ต้องการให้เห็นว่าเกียรติภูมิของ ส.ส.อยู่ตรงไหน ประชาชนตั้งคำถามว่าผู้แทนของเขาอยู่ที่ไหนเมื่อเข้ามาสภาฯ เกียรติภูมิอยู่ที่เครื่องแต่งกายหรือการตั้งใจทำงานของพวกเรา เกียรติไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นเอง แต่เป็นสิ่งที่ประชาชนมอบให้ เราตอบแทนประชาชนด้วยการตั้งใจทำงาน ไม่ตระบัดสัตย์กับประชาชนตามที่หาเสียงไว้ เราให้เกียรติบุคลากรในสภา ซึ่งสภาต้องก้าวข้ามเรื่องการแต่งตัว


อนาคตใหม่ ปดิพัทธ์  สันติภาดา ประชุมสภา

'ปารีณา' ชี้ปมแต่งกายในสภาเกิดจากรากเหง้าการสั่งสอนครอบครัว

ด้าน น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า สภาถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแต่งกายจนเกิดความเสียหาย ตั้งแต่มีรัฐสภามาไม่เคยถูกวิจารณ์เรื่องการแต่งกายมาประชุมมากขนาดนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากสำนึกถูกผิด เกิดจากรากเหง้า ต่างครอบครัว ต่างการอบรมสั่งสอนมาจากที่บ้าน ตนไม่ขัดเรื่องการแต่งกายชุดผ้าไทย เพราะเป็นการส่งเสริมชุดผ้าไทย เพียงแต่การแต่งกายเหล่านี้ควรแต่งกายให้ถูกสถานที่ถูกกาลเทศะ เพราะสภาไม่ใช่ที่มาหมุนตัวเล่นๆ

จากนั้น นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ใช้สิทธิประท้วงว่าไม่อยากให้เสียดสีไปถึงรากเหง้า จึงอยากให้ประธานสภาฯกำชับในเรื่องของคำพูด ทำให้นายชวน กล่าวว่า ตนได้กำชับแล้ว ซึ่งเรื่องของข้อบังคับการประชุมสภาฯ ทำไมเรื่องเครื่องแต่งกายถึงสำคัญที่สุด ทั้งที่เรื่องเครื่องแต่งกายนั้น รัฐสภาผ่านมา 87 ปี ไม่ค่อยมีปัญหา ใช้มาตรฐานทั่วไป แต่มีข้อบังคับข้อหนึ่งบอกว่านอกจากชุดสากล ยังอนุญาตให้ประธานสภาฯ กำหนดชุดอื่นได้ แต่ก็ไม่ต้องเคร่งครัดว่าต้องสากลทุกคน ถ้าส่งเสริมวัฒนธรรมได้ก็เป็นเรื่องที่ดี ก็จะพิจารณากันอีกทีเป็นการภายใน ดูว่าอะไรคือความเหมาะสม อะไรที่ล้าหลังก็ต้องช่วยกันดูตอนตั้งกรรมาธิการพิจารณา

พรรคครูไทยฯ ข้องใจพูดภาษาถิ่นกลางสภา

โดยระหว่างการอภิปราย นายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน อภิปรายตอนหนึ่งว่า อยากเสนอแนะในเรื่องการใช้ภาษาของสมาชิก เพราะมีการใช้ภาษาถิ่นในที่ประชุมแห่งนี้ จึงอยากจะรู้ว่าสภาแห่งนี้จะใช้ภาษากลางหรือภาษาท้องถิ่นกันแน่ เพราะพบว่ามีบางคนอภิปรายเป็นภาษาท้องถิ่น ไม่ใช่ภาษากลางที่ใช้กันทั่วไป

“ส่วนตัวผมเป็นคนอีสานชาวจังหวัดขอนแก่น แต่ถ้าผมใช้ภาษาอีสานในที่ประชุมแห่งนี้สมาชิกที่เป็นคนใต้และคนเหนืออาจเกิดความสับสน จึงอยากเรียนว่าประธานสภาควรกำหนดการใช้ภาษาในที่ประชุมแห่งนี้ด้วย เพราะที่นี่คือสภาไทยไม่ใช่สภาต่างประเทศ” นายปรีดา กล่าว

ชวน ประชุมสภา

ประธานสภาฯ กำชับ ส.ส.พูดภาษากลาง

ขณะที่นายชวน ชี้แจงว่า ทุกภาษามีความไพเราะ ไม่ว่าจะเหนือ อีสาน ใต้ แต่ในสภาได้พูดกับสมาชิกแล้วให้ใช้ภาษากลาง แต่ถ้าเป็นภาษาถิ่นขอให้เข้าใจกัน เพราะอาจเป็นปัญหาต่อเจ้าหน้าที่ที่จดบันทึกการประชุม ถ้าทุกคนใช้ภาษาถิ่นแท้จะไม่มีวันเข้าใจได้

'อนาคตใหม่' แย้งใช้ภาษาเดียวกดขี่เชิงอัตลักษณ์

ด้าน น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายเรื่องภาษาเป็นสิทธิพื้นฐานในการแสดงออกของประชาชนตามหลักประชาธิปไตย สำคัญที่สุดสภาแห่งนี้ควรเป็นสภาที่ปกป้องสิทธิและเสรีภาพนั้น ความเป็นสากลเรื่องของภาษาที่ใช้ในสภาไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เรื่องนี้ได้รับการถกเถียงมานานแล้วในสภาทั่วโลก สภาบางแห่งในต่างประเทศมีการถกเถียงและออกมาเป็นข้อบังคับของสภาเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น รัฐสภาแคนาดาใช้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส หรือแม้กระทั่งรัฐสภาเบลเยี่ยมก็ใช้ทั้งภาษาฝรั่งเศสและภาษาเฟลมิช รัฐสภาฟินแลนด์ใช้ภาษาสวีดิช และภาษาฟินนิช

"การใช้ภาษาเดียวเท่านั้นถือเป็นการกดขี่เชิงอัตลักษณ์ของความหลากหลายที่มีอยู่จริงในสังคมนี้ ประชาชนชาวไทยที่ได้เลือกแล้วเข้ามาอยู่ในสภาแห่งนี้มีความหลากหลาย และเราคือตัวแทนความหลากหลายนั้น จำเป็นเหลือเกินที่สังคมหนึ่งจะต้องสามารถแสดงออกถึงความหลากหลายของประชาชนของตัวเองผ่านพื้นที่อย่างสภาผู้แทนราษฎร สิ่งจำเป็นเหลือเกินที่เราจะต้องรักษาวัฒนธรรมในการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่ง เป็นหน้าที่หลักของ ส.ส.ในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้" น.ส.กุลธิดา ระบุ

ชาดา ภูมิใจไทย ประชุมสภา

461 เสียงเห็นชอบรับหลักการข้อบังคับฯ เถียงวุ่นปมตั้ง กมธ.เต็มสภา

โดยภายหลังเปิดให้ส.ส.อภิปรายอย่างกว้างขวางแล้ว นายชวน ได้สั่งให้ลงมติรับหลักการร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ โดยที่ประชุมมีมติรับหลักการร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ ด้วยมติเห็นชอบ 461 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียง จึงถือว่าที่ประชุมเห็นชอบรับหลักการร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ

จากนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติให้ตั้งกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในทันที แต่นายชวนเสนอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาเพราะมีหลายข้อจะต้องใช้เวลาพิจารณา

ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาฯ หารือในประเด็นการตั้งกรรมาธิการว่าจะพิจารณาเต็มสภาหรือตั้งกรรมาธิการวิสามัญ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ ทำให้นายชวน ระบุจะขอหารือกับประธานกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ และจะนำผลหารือมาแจ้งให้ที่ประชุมสภาฯ ในวันที่ 11 ก.ค.

วิรัช สภา สมพงษ์ 01804.jpg

'ชวน' ตัดบทปิดประชุม อ้างขอหารือประธานยกร่างฯ

ระหว่างที่ นายชวน พยายามชี้แจงกับฝ่ายค้านที่พยายามขอให้ลงมติในที่ประชุมว่าจะให้ตั้งกรรมาธิการเต็มสภาหรือไม่ ทำให้นายชวนระบุตอนหนึ่งว่า "เรื่องจ่านิว ผมเป็นคนแรกที่โทรศัพท์ถึงรัฐบาล วันที่เกิดเหตุผมโทรฯ หารองนายกฯ หน้าที่ตัวแทนประชาชนต้องรักษาความถูกต้องชอบธรรมให้กับประชาชน เพียงแต่ไม่ได้พูดเท่านั้น ถ้าจบได้โดยไม่ขัดแย้ง ที่นพ.ชลน่านเสนอมาก็เป็นทางออกที่ดี ให้พิจารณาโดยรอบคอบ หากจะให้ประชุมสภาฯสัปดาห์หน้าอีก ผมก็ยินดีจะเดินทางมาประชุมสภาฯ พวกผมไม่มีปัญหา"

แต่ส.ส.พรรคเพื่อไทยพยายามประท้วง พร้อมเสนอให้มีการลงมติภายในวันนี้ โดยนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประธานต้องการปิดประชุมสภา เพราะรู้ว่าฝ่ายรัฐบาลเสียงไม่พอใช่หรือไม่ ซึ่งประธานได้พยายามดึงเวลาตั้งแต่ช่วงหัวค่ำแล้ว

กระทั่งเวลา 20.53 น. เมื่อที่ประชุมไม่สามารถหาข้อยุติได้ ที่สุด นายชวน สั่งปิดประชุมสภาฯ เพื่อหารือกับประธานกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ และจะนำผลมาแจ้งให้ที่ประชุมฯทราบในวันที่ 11 ก.ค.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: